xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์หลังน้ำท่วม : ความจนและการเป็นหนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า จึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมก่อหนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนกู้หนี้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนที่เสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็จะถูกเขาทวง แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนถูกทวงไม่ให้เขาก็ถูกตามตัว แม้การถูกตามตัวก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขาก็ถูกจองจำ แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้” นี่คือพุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย

จากพุทธพจน์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความจนเป็นเหตุให้มีการก่อหนี้ และการก่อหนี้เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์หลายๆ ประการตามมา เริ่มตั้งแต่เสียดอกเบี้ยไปจนถึงถูกจองจำ ดังนั้นคนจนกับการก่อหนี้จึงเป็นเหตุเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันชนิดที่เรียกได้ว่าแยกออกจากกันได้ยากในโลกแห่งยุควัตถุนิยม และบริโภคนิยม เฉกเช่นในปัจจุบันที่มนุษย์วิ่งไล่ล่าหาสิ่งที่ตนเองอยากมี และอยากเป็น หรือที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นโลกของผู้บริโภคกามนั่นเอง

วันนี้และเวลานี้ คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งปกติก็ยากจนและเป็นหนี้อยู่แล้วคงจะหนีไม่พ้นหรือตกอยู่ในภาวะจำยอมต้องเป็นหนี้เพิ่ม และเมื่อมีหนี้เพิ่มก็เท่ากับมีความทุกข์เพิ่ม ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับภาวะยากจน และความต้องการก่อหนี้ ถ้ายากจนมากและต้องกู้หนี้มาก แน่นอนว่าความทุกข์ก็มากเป็นเงาตามตัว

เมื่อผู้ประสบภัยต้องเป็นหนี้จะมีแนวทางใดบรรเทาทุกข์ได้ และใช้เวลานานเท่าใด ใครจะบอกเขาได้?

ในขณะที่ปัญหาน้ำท่วมยังแก้ไม่ได้ หรือได้บ้างแต่ก็มีความเสียหายเกิดแล้ว เพราะจะต้องไม่ลืมว่าปัญหาน้ำท่วมก็ทำนองเดียวกับปัญหาไฟไหม้ คือถ้าป้องกันได้ความเสียหายไม่เกิด ความทุกข์ ความเดือดร้อนไม่มี แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วถึงจะแก้ได้ก็เพียงแต่ช่วยให้ความเสียหายไม่เพิ่มในส่วนที่ยังไม่ท่วม ส่วนที่ท่วมแล้วความเสียหายเกิดแล้ว ความเดือดร้อนเกิดแล้ว ถึงแม้จะมีมาตรการบรรเทาก็ไม่เกิดประโยชน์มากนักแก่ผู้ประสบเคราะห์กรรม ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. เงินช่วยเหลือจากภาครัฐในรูปแบบของเงินชดเชยค่าเสียหาย เช่น จ่ายค่าเสียหายแก่ชาวนาไร่ละ 200 บาท และจ่ายค่าน้ำท่วมบ้านหลังละ 5,000 บาท เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงถือได้ว่าน้อยกว่า ดังนั้นในส่วนที่ขาดไปผู้ประสบภัยจะต้องแบกรับเอง และถ้าบังเอิญว่าผู้ประสบภัยยากจนไม่มีเงินเก็บ แน่นอนว่าจะต้องเป็นหนี้ และการเป็นหนี้ในภาวะที่ไม่อยู่ในฐานะจะจ่ายคืนได้เช่นนี้ สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐเตรียมรับปัญหาหนี้เสียไว้ล่วงหน้าได้เลย ถ้าข้อสันนิษฐานที่ว่านี้ถูกต้อง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นและตามมามองดูแล้วจะยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น และก่อความเดือดร้อนไปแล้วแน่นอน

2. จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น และวิธีการแก้ปัญหาที่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำเนินการไปแล้ว พูดได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบไม่ถูกที่ไม่ถูกทาง แบบลองผิดลองถูกตามแนวคิด และข้อเสนอแนะของ ศปภ.ที่ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับน้ำท่วม และแถมยังขาดเอกภาพทางความคิดในการทำงาน จึงทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลชุดนี้บังเอิญอยู่ไปถึงฤดูฝนปีหน้า และปริมาณน้ำเท่ากับปีนี้หรือมากกว่าปีนี้ ใครจะรับประกันได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมเท่ากับปีนี้

แต่ก็อาจมีคนบางคนค้านว่า หลังจากนี้อาจมีการปรับ ครม.และคนที่เข้ามาใหม่อาจมีศักยภาพในการทำงานดีกว่า ครม.ชุดนี้ ข้อนี้ถ้ามองในแง่ตรรกะมีความเป็นไปได้ แต่ถ้ามองในแง่ของการเมือง และเทียบกับหลักแห่งตรรกศาสตร์เรียกได้ว่าเป็นไปได้ในความเป็นไปไม่ได้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การปรับ ครม.สามารถกระทำได้เพราะเป็นอำนาจของนายกฯ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ด้วยความเกื้อหนุนทางอำนาจของเงิน และบวกด้วยบารมีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปรับ ครม.ทำได้ง่ายมาก แต่ปรับแล้วจะได้คนดีมีฝีมือมากกว่า ครม.ชุดแรกเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องปกติในการจัดตั้งรัฐบาลของทุกพรรคการเมือง จะต้องเลือกคนที่ดีมีฝีมือเป็นอันดับแรก ดังนั้นถ้ามีการเลือกครั้งที่สอง ก็จะได้คนที่มีคุณภาพรองลงมา เมื่อเป็นเช่นนี้จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าชุดแรกได้อย่างไร

และในแนวคิดนี้อาจมีคนโต้แย้งว่า ก็หาจากคนนอกมา ข้อนี้บอกได้เลยว่ายิ่งเป็นไปได้ยากยิ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีรัฐบาลไหน และนำโดยใคร ถ้าเกิดภาวะวิกฤตศรัทธาเช่นรัฐบาลชุดนี้ จะมีคนนอกที่เป็นคนดีและมีฝีมือคนไหนอยากเข้ามาให้เสียชื่อเสียงตนเอง และวงศ์ตระกูลเพียงเพื่อแลกกับความเป็นรัฐมนตรี

ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังกล่าวข้างต้น คนจนภายใต้การแก้ไขของรัฐบาลชุดนี้คงหนีไม่พ้นเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นเพราะการมีหนี้เพิ่มแน่นอน ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนหนี้ที่ก่อ และความสามารถในการจ่ายคืน

ส่วนผู้ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งมีฐานะร่ำรวย เช่น ผู้ประกอบการ คงไม่เดือดร้อนเท่ากับคนยากจน

จริงอยู่อาจต้องกู้หนี้เพื่อปรับปรุงแก้ไขกิจการ แต่ก็กู้ในนามของนิติบุคคล และได้รับเงื่อนไขผ่อนปรนจากผู้ปล่อยกู้ และแถมยังได้รับการอุ้มชูจากรัฐเป็นพิเศษ คงเดือดร้อนน้อยกว่าคนจนที่เป็นหนี้เพื่อนำเงินมากินมาใช้ หรือจะเป็นการลงทุนก็เป็นการลงทุนที่หวังกำไรได้ยาก เนื่องจากไม่อยู่ในฐานะที่กำหนดราคาขายได้เอง เช่น ชาวนาที่ต้องขายข้าวภายใต้การกำหนดราคาของโรงสี และเมื่อต้องซื้อข้าวสารก็ต้องยอมรับราคาขายที่โรงสีกำหนด ทั้งๆ ที่เป็นข้าวของตนเอง เป็นต้น

ด้วยเหตุที่กล่าวมา การเป็นหนี้เพื่อการลงทุนของคนรวยไม่เข้าข่ายเป็นทุกข์ในโลก แต่คนจนแน่นอนว่าอยู่ในข่ายเป็นทุกข์ในโลก ตามพุทธพจน์ที่ได้ยกมาเป็นบทนำแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น