xs
xsm
sm
md
lg

การก่อหนี้หลังน้ำลด : ทุกข์โดยภาวะจำยอม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะที่ความทุกข์ ความเดือดร้อนจากน้ำท่วมยังไม่จางหายไป ความทุกข์ใหม่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ก็คือ หลังน้ำลด ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจะมีทุกข์ตามมาอีกประการหนึ่งโดยไม่มีทางเลี่ยง ยกเว้นผู้ที่ร่ำรวยและมีเงินเหลือเฟือ ไม่เดือดร้อนเพราะความสูญเสียจากน้ำท่วม

ทุกข์ที่ว่านี้ก็คือ ทุกข์จากการเป็นหนี้ จะเป็นหนี้โดยตนเองก่อขึ้นหรือเป็นหนี้โดยผ่านทางองค์กรนิติบุคคลที่ตนเองเป็นหุ้นส่วน หรือแม้กระทั่งมีส่วนในการเป็นหนี้สาธารณะของรัฐบาล และประชาชนทุกคนมีส่วนในการจ่ายหนี้ผ่านทางการเสียภาษี ล้วนแล้วแต่ได้ชื่อว่าเป็น จะต่างกันก็เพียงโดยตรง หรือโดยอ้อมเท่านั้น

จริงอยู่ ถ้าพิจารณาตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า การเป็นหนี้เป็นทุกข์ แต่ในยามนี้คนไทยทุกคนถึงแม้จะรู้ธรรมข้อนี้ดี ก็ตกอยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องเป็นหนี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้มีทั้งที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม คือ ทำไร่ ทำนา หรือแม้กระทั่งทำสวน ในพื้นที่ซึ่งน้ำท่วมขังนาน พืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวเสียหายร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน และพืชไร่ก็ทำนองเดียวกัน ส่วนพืชสวนถ้าน้ำไม่ท่วมขังนานก็พอจะเหลือบ้าง แต่ต้นก็โทรมไม่ออกดอกออกผล หรือจะให้ผลบ้างก็ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน จึงทำให้หนี้เก่าที่กู้มาก็ใช้คืนไม่ได้ แถมยังจะต้องเป็นหนี้ใหม่เพิ่มอีก จึงพูดได้ว่าเดือดร้อนซ้ำสองแม้น้ำแห้งแล้ว

2. ส่วนผู้ประสบภัยในภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้จะเสียหายมากเมื่อเทียบเป็นตัวเงินกับภาคเกษตรกรรม แต่ในแง่ของปัจเจกบุคคลเดือดร้อนน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยปกติแล้วเป็นชนชั้นระดับนายทุน มีฐานะการเงินดี ทั้งกิจการส่วนใหญ่มีการประกันภัยจึงได้เงินคืนจากการเอาประกัน ถึงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็มากพอที่จะเป็นทุนมาเป็นเงินเริ่มต้นได้ และเมื่อบวกกับการช่วยเหลือจากภาครัฐโดยการปล่อยเงินกู้ให้ก็ไม่เดือดร้อนมากนัก

3. ผู้ประสบภัยน้ำท่วมประเภทผู้ขายแรงงาน หรือลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรม เมื่อโรงงานปิดกิจการจะตกงาน และเดือดร้อนมากเมื่อเทียบกับ 2 ประเภทแรก ทั้งนี้ด้วยเหตุว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นประเภททำมาหากินไม่เหลือเก็บจึงเดือดร้อนมากเมื่อไม่มีงานทำ ทั้งจะไปเป็นหนี้ก็ไม่มีเหตุอ้างใดๆ ในการก่อหนี้ให้เจ้าหนี้ปล่อยกู้เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะได้คืน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ตกอยู่ในภาวะจำยอมในการเป็นหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทที่ 1 และแน่นอนว่าการเป็นหนี้ของคนกลุ่มนี้ ผู้ปล่อยกู้อยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยงที่มีหนี้สูญเพิ่มขึ้นจากการมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลเพิ่มจากของเดิมที่มีอยู่แล้วจากพืชผลเสียหาย

ถ้ามองจากการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นแล้ว พูดได้ว่าชีวิตคนไทยในอนาคตต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร และเป็นหนี้นานเท่าไหร่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พอจะอนุมานได้ไม่ยากแต่จะต้องแยกส่วนให้ชัดเจน เริ่มด้วยภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนที่ประชากรมากที่สุด และส่วนใหญ่ยากจนด้วย ดังนั้นการเป็นหนี้อันเนื่องมาจากน้ำท่วมผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรจะเดือดร้อนมากที่สุด และเชื่อได้ว่าต่อจากนี้ไปเกษตรกรหลายคนจะถูกยึดที่ทำกินเพราะไม่มีเงินจ่ายหนี้ และที่สำคัญผู้คนจากภาคเกษตรจะหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่เป็นผู้ขายแรงงานเพิ่มขึ้น

ยิ่งกว่านี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นคนต่างชาติอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่เห็นว่าปลอดภัยกว่า และมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่า และถ้าเป็นเช่นนี้แรงงานที่ว่างงานก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีผู้ขายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมเข้ามามากขึ้น

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เป็นหนี้ เงินออมในประเทศจากคนในภาคส่วนนี้ไม่มี การเงินของประเทศก็ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวคือนายทุนผูกขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผูกขาดทางธุรกิจที่มีการเมืองหนุนหลัง และที่เห็นได้ชัดเจนก็คือธุรกิจสร้างบ้านขายจะมีผู้ประกอบการหลายรายที่ซื้อที่เก็งกำไรไว้ในพื้นที่น้ำท่วม เช่นฝั่งตะวันตกจะประสบปัญหาบ้านขายไม่ออก และใช้หนี้ไม่ได้ คงได้เห็นผู้คนล้มละลายอีกมาก

ในขณะเดียวกันจะมีผู้ร่ำรวยในธุรกิจนี้ถ้าบังเอิญพื้นที่ประกอบการอยู่ในส่วนที่น้ำไม่ท่วม เช่น พื้นที่รอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเดิมเป็นที่น้ำท่วม และมีการเทขายในราคาถูกๆ แต่เมื่อถึงวันนี้น้ำไม่ท่วมราคาก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เรียกได้ว่าเหมือนถูกหวย แต่จะโดยบังเอิญหรือเป็นหวยล็อกยากที่จะบอกได้ แต่ถ้าใครอยากรู้ก็ลองไปดูรายชื่อเจ้าของที่ดินแถบนี้ว่าเป็นใครบ้าง และมีอำนาจในการล็อกน้ำไม่ให้ท่วมแถบนี้ด้วยหรือเปล่า ก็พอจะบอกได้ว่ารวยเพราะเป็นหวยล็อกหรือโดยบังเอิญ

แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ปัญหาน้ำท่วมถ้าป้องกันไม่ได้เช่นปีนี้ ถึงแก้ได้ก็เสียชื่อและเสียทรัพย์ไปแล้วโดยสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น