ยังไม่ทันจะขยับแค่คิดดังๆ ก็โดนพวกลิ่วล้อลูกสมุนยิ่งลักษณ์ ชินวัตรดิสเครดิตกันแล้ว
ในเรื่องที่จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งนำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนและกลุ่มนักวิชาการนำโดย ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังดูความเป็นไปได้ในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง รวมถึงเอาความผิดทั้งอาญาและแพ่ง
กรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหาร และตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องการป้องกันน้ำท่วม จนสร้างความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนหลายล้านคน
แค่คิดและกำลังเตรียมการขยับ พรรคเพื่อไทยก็ส่ง พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ออกมาตีกันว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนายศรีสุวรรณและอาจารย์ณรงค์หวังผลทางการเมือง
มิหนำซ้ำ “เด็จพี่”ยังดำน้ำขุ่นๆ ว่าทำไมตอนสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 52-53 และเกิดแผ่นดินถล่มในภาคใต้ มีคนเสียชีวิตและเดือดร้อน แต่กลับไม่มีการฟ้องร้องแทนประชาชน มาครั้งนี้จะฟ้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งที่เป็นเรื่องน้ำท่วมเหมือนกัน
โฆษกหน้าพลาสติกเลยบอกว่า เป็นการกระทำแบบสองมาตรฐาน
หลายคนรับรู้การตอบโต้ของโฆษกพรรคเพื่อไทยแล้ว จากเดิมที่อาจเฉยๆกับเรื่องการฟ้องร้องดังกล่าว พอได้ยินแบบนี้เลยของขึ้น จากที่ไม่เคยคิดจะเอาเรื่อง ก็คิดอยากขอร่วมเป็นโจทก์และผู้ร้องร่วมต่อศาลเอาด้วยซ้ำ
เพราะแม้กรณีน้ำท่วมภาคใต้ปี 53 กับน้ำท่วมปี 54 จะเป็นอุทกภัยเหมือนกัน แต่ความสูญเสียและข้อเท็จจริงต่างๆที่นำมาสู่เหตุอุทกภัยแตกต่างกันอยู่มาก
ซึ่งในอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในไทยครั้งนี้ เป็นผลจากการกระทำของคนที่อยู่ในอำนาจรัฐทั้งข้าราชการและนักการเมือง ร่วมกันกระหน่ำซ้ำเติมให้เกิดภับพิบัติรุนแรงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแจ้งเตือนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยถึงปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตต์ต่อกรมชลประทานในช่วงรอยต่อที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังเข้าบริหารประเทศ โดยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วสามารถตัดสินใจในเรื่องการระบายน้ำได้ทันทีเพื่อไม่ให้น้ำท่วม หรืออาจท่วมแต่ก็ไม่รุนแรงเท่านี้ เมื่อน้ำไหลบ่าผ่านทางมาจากภาคเหนือสู่ภาคกลาง น้ำท่วมรุนแรงมาตลอดทางก็ไม่เคยเตรียมการใดที่จะป้องกันปัญหาจากหนักให้เป็นเบา แต่กลับละเลยเพิกเฉยไม่เอาเรื่อง แต่พอน้ำจ่อกรุงเทพก็บอกว่า “เอาอยู่” แล้วก็เกิดสภาพอย่างที่เห็นน้ำท่วมทั่วทั้งเมืองหลวง ยกเว้นไม่กี่เขตพื้นที่
เกิดความสูญเสียต่างๆทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ของประชาชนและภาคธุรกิจมากมายมหาศาลเกินกว่าจะนับคำนวณได้แน่ชัดในเวลานี้ เพราะทุกอย่างยังไม่จบ ก้อนน้ำมวลใหญ่ระลอกใหม่กำลังจะโถมเข้ามา ถ้าบิ๊กแบ็กเอาไม่อยู่ด้วยประการใดๆไม่ว่าจะคนเหนือคันกั้นเข้ามารื้อ หรือแนวบิ๊กแบ็กพ่ายต่อพลังน้ำ สถานการณ์น้ำท่วมก็จะรุนแรงแซงโค้งที่เป็นอยู่ในวันนี้ที่ว่าหนักแล้วก็จะหนักกว่านี้หลายเท่า
ดังนั้นเมื่อเทียบแล้ว สมัยน้ำท่วมปี 53 ก็ไม่รุนแรงเท่านี้ ความพินาศที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้
หลายคนก็เห็นแล้วว่า หากได้รัฐบาลและผู้นำประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดีแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติและเหตุสุดวิสัยในการรับมือจำเป็นต้องปล่อยน้ำให้เข้าพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเพื่อระบายน้ำลงทะเลและแม่น้ำเจ้าพระยา แต่รัฐบาลย่อมมีวิธีซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้ ถ้าประชาชนมีรัฐบาลที่มีวุฒิภาวะสติปัญญาในการแก้ปัญหา ตัดสินใจและวางแผน
ยิ่งหากรัฐบาลเพื่อไทย มั่นใจว่าต้นตอของเรื่องนี้ เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารระบบการจัดเก็บและระบายน้ำในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เหมือนอย่างที่ส.ส.เพื่อไทยทั้งจตุพร พรหมพันธุ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-วรชัย เหมมะ -สถาพร มณีรัตน์พากันลุกขึ้นอภิปรายปกป้องยิ่งลักษณ์
และถึงขั้นบอกว่าเป็นแผนของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในช่วงการเป็นรัฐบาลรักษาการที่เก็บน้ำเอาไว้ในเขื่อนจำนวนมาก เพื่อไว้รอสร้างปัญหาในช่วงรัฐบาลเพื่อไทย คนจะได้เดือดร้อน ประชาชนลำบากจนอยู่ไม่ได้ จะออกมาขับไล่รัฐบาลเพื่อไทยตอนเดือนธันวาคม ตามจินตนาการสร้างเรื่องเพ้อฝันของส.ส.เพื่อไทย ที่ยิ่งกว่าปั้นน้ำเป็นตัว
หากมั่นใจในข้อมูลเรื่องรัฐบาลประชาธิปัตย์วางยาเพื่อไทยเก็บกักน้ำเอาไว้ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ก็ยิ่งที่เพื่อไทยและนายกรัฐมนตรี ต้องแสดงท่าทีสนับสนุนการฟ้องร้องของประชาชนเอาผิดฐานทำละเมิดกับหน่วยงานรัฐด้วยซ้ำ
จะได้เคลียร์กันไปให้เห็นดำเห็นแดง เพราะการพูดไปมาในสภาฯ มันไม่มีน้ำหนักอะไร ก็แค่เกมการเมือง ฝ่ายค้านก็อัดรัฐบาล รัฐบาลก็ปกป้องนายกรัฐมนตรีแล้วก็โยนขี้ฝ่ายค้าน อภิปรายกัน 4-5 วัน ปิดสภาฯ ก็แล้วกันไป กลับบ้านใครบ้านมัน ประชาชนก็ไม่รู้ความจริง ว่า ใครกันแน่ เป็นต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้
เพราะไอ้ที่ส.ส.ทั้งรัฐบาล -ฝ่ายค้าน ยืนอภิปรายแล้วทำเป็นถือเอกสารบอกว่ามีหลักฐานสำคัญเรื่องน้ำท่วมทำหน้าตาขึงขัง หวังสร้างความน่าเชื่อถือแล้วอ่านไปเรื่อย ก็ไม่รู้เป็นเอกสารเปล่าหรือข่าวหนังสือพิมพ์เอามาอ่าน ไม่ได้มีเอกสารข้อมูลอะไรทั้งสิ้น
หากต้องการให้ความจริงถูกชำระล้าง จะได้รู้กันว่าใครหน้าไหน ทำความวิบัติให้แผ่นดินครั้งใหญ่ ก็ควรต้องไปสู้กันในศาลพิสูจน์ความจริงกันไปเลยดีกว่า
จะได้เอาความจริงทั้งหมดทั้งจากฝ่ายรัฐบาล-ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย(ศปภ.)-กรมชลประทาน-การไฟฟ้าฝายผลิตแห่งประเทศไทย -ฝายประชาธิปัตย์-ส.ส.เพื่อไทย รวมถึงข้อมูลจากภาคประชาชนและผู้ประสบภัย ไปต่อสู้คดีกันในชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล ก็จะเป็นการเปิดเวทีให้พิสูจน์ความจริง ถ้าเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลอภิสิทธิ์จริง แม้อภิสิทธิ์จะไม่ใช่ผู้ถูกร้อง แต่ข้อมูลต่างๆ ก็ต้องมีการเปิดเผยและสู้กันในศาล ที่อาจมีหลายเรื่องที่ประชาชนไม่เคยรับรู้ก็จะได้รู้กันไปเลย ส่วนนายอภิสิทธิ์ก็ต้องนำข้อมูลมายันกันในศาลให้ถึงที่สุด
หลายเรื่องความจริงจะได้กระจ่างเช่นวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งแต่วันแรกที่มีอุทกภัยจนถึงวันที่กรุงเทพมหานครจมบาดาล รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำงานอย่างไร ล่าช้าและตัดสินใจผิดพลาดจริงหรือไม่ หรือข้อมูลการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำของกรมชลประทาน มีเรื่องการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ก็น่าจะได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันในชั้นศาล
ซึ่งดีกว่าที่จะมานั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอะไรให้ยุ่งยากเสียเวลา เพราะหากรัฐบาลใช้วิธีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สังคมก็ต้องกังขาอีกว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ จะทำงานเป็นกลางหรือไม่ จะสอบสวนนานแค่ไหนและจะหาแพะรับบาปแทนพวกนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงหรือไม่อย่างไร
ก็ควรให้ ศาล เป็นที่พึ่งของประชาชนในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดีกว่า เพื่อจะได้ให้เรื่องนี้เป็นคดีตัวอย่างคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นที่สนใจของประชาชนและศาลปกครองทั่วโลกแน่นอน
เพราะหากผลการพิจารณาคดีออกมา ไม่ว่าจะออกมาแบบไหน มันก็จะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยต่อไป
ว่าการเป็นรัฐบาลและคัดเลือกคนเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่สักแต่อ้างว่าได้รับเลือกตั้งมา พรรคส่งมาเป็นรัฐมนตรี เสียงข้างมากโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็จบ
จะเอาหมูหมากาไก่ที่ไหนมาเป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถและความเหมาะสมในการทำงาน
ครั้นพอมีเรื่องใหญ่ประเทศเกิดปัญหา รัฐมนตรีที่ไม่ได้มีความรู้ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะมาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่ตัวเองนั่ง แต่ได้เป็นรัฐมนตรีเพราะจ่ายเงินให้พรรคหรือได้ตามโควต้า ทำงานถูกใจผู้มีอำนาจในพรรค ก็ทำงานแก้ไขปัญหาไม่ได้ วางแผนรับมือกับปัญหาผิดพลาด
ผลก็คือ ประชาชนต้องรับกรรมจากการทำงานของนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี และรัฐบาลเฮงซวยเหล่านี้
จึงควรอย่างยิ่งที่หากประชาชน ผู้ประสบภัย ที่ต้องประสบเคราะห์กรรมจากน้ำท่วมครั้งนี้ จะเคลื่อนไหวทำเรื่องนี้แบบจริงจัง ไม่ว่าสุดท้ายยื่นฟ้องไปแล้ว กระบวนการจะจบลงแบบไหนก็ตาม