xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หยุดน้ำท่วมชั่วกัลปาวสาน ทางออก“มี” แต่ “กล้าทำ” มั้ย!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณีคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรภายใต้การบัญชาการของ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” มีคำสั่งแต่งตั้ง “ดร.โกร่งกางเกงแดง-นายวีรพงษ์ รามางกูร” นั่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศหรือ กยอ. พร้อมทั้งดึง “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนานั่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการวางระบบการบริหารจัดการน้ำหรือ กยน.นั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคือ การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายเพื่อกู้ซากศพ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ให้ยังคงมีลมหายใจต่อไป

แต่ขณะที่หลายคนกำลังเคลิบเคลิ้มไปอยู่กับแผนการขายฝันและหลงลืมความทุกข์จากมหาอุทกภัย สิ่งที่สังคมไทยยังไม่ได้ยินจากปากของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งนายวีรพงษ์สักแอะเดียวก็คือ จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากมหาอุทกภัยน้ำท่วมไปชั่วกัลปาวสานตามที่ประกาศเอาไว้ด้วยวิธีใด

เพราะเอาแค่การระบายน้ำที่กำลังท่วมขังพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในขณะนี้การแก้ปัญหาก็ยังคงพายเรือวนอยู่ในอ่างและยังไม่เห็นทางออกว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า ไม่มีทางออกสำหรับการแก้ปัญหา แต่คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ “กล้าที่จะทำ” หรือไม่เท่านั้น เพราะสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน และกระทบกับกลุ่มผลประโยชน์ในทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองที่ทำตัวเป็น “จระเข้ขวางคลอง” เพื่อพิทักษ์ทรัพย์สมบัติตนเองและพวกพ้อง

**ยุทธศาสตร์ชาติซังกะบ๊วย ต้นเหตุแห่งมหาอุทกภัย

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ผลพวงจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้คือบทเรียนที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและแนวทางการพัฒนากระแสหลักของสังคมไทยที่มีความผิดพลาดอย่างมหันต์ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่บันยะบันยังและไม่ลืมหูลืมตา กระทั่งทำให้ลำคลองที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนจำนวนมากถูกแปรสภาพเป็นคูคลองในการระบายน้ำเสียจากโรงงาน บางแห่งก็ถูกถมทำเป็นถนน ขณะที่ที่ลุ่มชุ่มน้ำอันเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมในภาคกลางหลายจังหวัดถูกแปลงให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่สำหรับรองรับน้ำตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและสนามบิน

“ทรัพยากรของสังคมไทยถูกจัดสรรเพื่อไปส่งเสริมและเอื้ออำนวยต่อกลุ่มทุนและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านถนน ไฟฟ้า ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม โทรคมนาคมและการสื่อสาร และการพลังงาน อีกทั้งยังมีการกำหนดโครงสร้างทางกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการครอบครองกรรมสิทธิ์และการสะสมความมั่งคั่งส่วนบุคคลของกลุ่มทุนโดยการกำหนดโครงสร้างภาษีที่พิกลพิการ เช่น การยกเว้นภาษีแก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การไม่เก็บภาษีมรดก เป็นต้น รวมทั้งการไม่จำกัดปริมาณการถือครองที่ดินซึ่งทำให้กลุ่มทุนสามารถครอบครองที่ดินมากเท่าไรก็ได้ตามความต้องการ” ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ให้ความเห็น(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “วิกฤติการณ์กับกลไกอำนาจแบบใหม่” หน้า 35)

กรณีนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งคือตัวอย่างที่ชัดเจน

กรณีสนามบินสุวรรณภูมิที่ยืนจังก้าขวางแนวฟลัดเวย์ซึ่งคนไทยหลายคนภาคภูมิใจนักหนาคือตัวอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธความจริงได้

ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริงแล้ว ต้องบอกว่า ระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยถูกออกแบบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมารัฐบาลทุกรัฐบาล นักการเมืองแต่ละยุคแต่ละสมัยมิได้สนใจใยดี เพราะคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตาม “ก้นฝรั่ง” อย่างไม่ลืมหูลืมตา ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเกษตรกรรมเป็นฐาน แต่กลับมีโรงงานอุตสาหกรรมโผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ดด้วยการส่งเสริมของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย แถมยังไม่ได้สนใจจะจัดระบบให้ถูกต้อง

ใครคิดจะสร้างที่ไหน สร้างโรงงานขึ้นที่ใดก็สามารถทำได้ตามอำเภอใจ

ด้วยเหตุดังกล่าว พื้นที่รับน้ำหรือ Flood way จึงกลายเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องเพราะเป็นที่ดินราคาถูกและสามารถตอบสนองเป้าหมายสูงสุดคือ “กำไร” ตามลัทธิทุนนิยมสามานย์เป็นอย่างดี

“การสร้างนิคมอุตสาหกรรม ที่ดินยิ่งถูก ยิ่งกำไรมากใช่ไหม เพราะฉะนั้นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมก็เลยไปหาที่ที่มีราคาถูก ถามว่า ทำไมที่ราคาถูกล่ะ เพราะมันที่ลุ่ม คนขายเขารู้ว่าเป็นที่รับน้ำ เมื่อเป็นที่รับน้ำก็ขายถูก นิคมอุตสาหกรรมโรจนะเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบที่สุด อุตสาหกรรมไม่ควรอยู่ในอยุธยา คุณจะอยู่อยุธยาได้อย่างไร นิคมฯ บางชันก็อยู่ลาดกระบังไม่ได้ เพราะลาดกระบังคือฟลัดเวย์ เป็นที่ที่น้ำจะต้องผ่าน แต่ความโลภของคนทำให้คิดว่าที่มันถูก น้ำท่วมไม่เป็นไร ก็ทำทางกั้นน้ำ ท่วม 2-3 วันมันก็ไป แล้วก็ไม่ได้นึกว่า ในที่สุดเมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงและหนักหน่วงเช่นนี้ แล้วยิ่งมาเจอความโง่เขลา ไม่มีสติปัญญาของผู้บริหารชาติที่เป็นนักการเมือง ก็เลยทำให้เขาพังพินาศฉิบหายไป ฉะนั้นแล้วอุตสาหกรรมตรงนี้ต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ นิคมอุตสาหกรรมมีได้ไหม มีได้ แต่ควรจะมีในที่สูงๆ ไม่ใช่พื้นที่ลุ่ม พื้นที่รับน้ำ”สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือเอเอสทีวี-ผู้จัดการให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

**กลุ่มธุรกิจการเมืองดิ้นฮุบที่ดินฟลัดเวย์

นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ฟลัดเวย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สงวนไว้เป็นทางระบายน้ำลงทะเลกว่า 50,000 ไร่จึงร่อยหรอลงไปทุกวัน จนปัจจุบันเหลือไม่ถึง 3,000 ไร่

“ปัจจุบันที่ดินเหล่านั้น เท่าที่ทราบกลายเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิหมดแล้ว ซึ่งผู้ซื้ออาจจะเป็นมือที่ 3 หรือมือที่ 4 ไปแล้ว เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่จะตอบว่าที่ดินแนวฟลัดเวย์ธรรมชาติ 3-4 หมื่นไร่ จะยังเหลือเป็นของหลวงอีกประมาณเท่าไหร่” ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ให้ข้อมูล

ขณะที่ระบบคูคลองต่างๆ ที่สำหรับใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองแสนแสบ ฯลฯ ก็ถูกออกแบบเอาไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็มิได้สนใจที่จะสานต่อหรือพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ตลอดรวมถึงดูแลและบำรุงรักษาเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

จากประเด็นข้างต้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ด้วยเหตุไฉนที่ดินพระราชทานในฝั่งตะวันออกกว่า 50,000 ไร่ซึ่งสงวนไว้เป็นพื้นที่ฟลัดเวย์จึงเปลี่ยนสภาพกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมากไปได้

แน่นอน ปริศนาของเรื่องนี้เห็นจะอยู่ที่บรรดากลุ่มทุนการเมืองที่พยายามเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการแก้ไขกฎหมายผังเมืองของกรุงเทพมหานคร เนื่องเพราะจากการสำรวจพบว่า มีกลุ่มนักการเมืองและบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่มีที่ดินอยู่พื้นที่แนวฟลัดเวย์เป็นจำนวนมาก

สำหรับกลุ่มการเมืองในพื้นที่ที่พยายามวิ่งเต้นขอแก้ไขกฎหมายผังเมืองรวม กทม.ในช่วงปี 2547 นั้น มีหลักฐานยืนยันชัดเจนจากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม 2547 ซึ่งรายงานเหตุการณ์ในช่วงนั้นเอาไว้อย่างละเอียดว่า “กรณีที่มีการประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ล่าช้าออกไป แหล่งข่าวกล่าวยืนยันว่า เพราะมีกลุ่มนักการเมืองหลายกลุ่มในพื้นที่ อย่างกรณีของนายวิชาญ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี พรรคไทยรักไทยและพวกพ้องเป็นการนำในการวิ่งล็อบบี้รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อขอปรับสีผังบริเวณแนวฟลัดเวย์หรือพื้นที่สีขาวแทยงเขียวทั้งหมดที่กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม โซนตะวันออกบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิจำนวนกว่าแสนไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณเขตมีนบุรี เขตหนองจอกบางส่วน เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวา ที่ร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่กำหนดให้ใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น หากต้องการจัดสรรที่ดินเชิงพาณิชย์จะต้องมีขนาดแปลงที่ดินขนาด 1,000 ตารางวาหรือ 2.5 ไร่ขึ้นไป จากผังเดิมกำหนดให้พัฒนาตั้งแต่ 100 ตารางวาขึ้นไปได้ โดยเสนอให้ปรับจากสีขาวแทยงเขียวหรือเขียวลาย เป็นพื้นที่สีเหลือง หรือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เพื่อสามารถพัฒนาได้ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวเฮาส์ ทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวเป็นแนวพระราชดำริกำหนดให้เป็นแนวฟลัดเวย์หรือพื้นที่รับน้ำมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากทางตอนเหนือของกทม.ระบายลงสู่อ่าวไทยเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม”

นอกจากนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ยังรายงานต่อไปด้วยว่า “นอกจากนี้แล้วช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุน นักการเมืองได้พยายามยืมมือประชาชนเจ้าของพื้นที่ โดยร่วมกับกลุ่มพัฒนาที่ดินส่งเรื่องร้องเรียนมายัง กทม.และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดเสียงร้องเรียนจำนวนมากๆ เพื่อต้องการผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง”

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเข้าไปครอบครองพื้นที่ฟลัดเวย์ก็คือคำให้สัมภาษณ์ของ “นายอภิสิทธิ์ งามอัจฉริยกุล” ประธานกรรมการบริษัท เค.ซี.กรุ๊ปที่บอกว่า “มีที่ดินอยู่ประมาณพันไร่ ขณะนี้เหลือ 200-300 ไร่บริเวณเขตคลองสามวา ที่ผ่านมาได้เคยยื่นขอจัดสรรไว้ก่อนเมื่อปี 42 ช่วงผังเมืองฉบับเก่า ส่วนพื้นที่ที่เหลือต้องรอต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วขอปรับสีผังเป็นสีเหลือง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวควรยกเลิกแนวฟลัดเวย์ เพราะไม่เคยปรากฏว่า มีน้ำท่วม นอกจากนี้ ในหลวงท่านให้ก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ จ.สระบุรีและแก้มลิง ซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบเกี่ยวกับน้ำท่วมอีกต่อไปในทำเลนี้”

และไม่นับรวมถึงแนวความคิดของนักการเมืองตัวพ่อของคนเสื้อแดงที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เคยคิดจะสร้าง “นครสุวรรณภูมิ” ขึ้นในพื้นที่ฟลัดเวย์

เฉกเช่นเดียวกับกรณีการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพราะหลงเชื่อฝรั่ง ประกอบกับนักการเมืองชั่วๆ ที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากการถมทรายและธุรกิจก่อสร้าง

นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนที่ตอบคำถามว่า ทำไมพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่ฟลัดเวย์ทุกวันนี้จึงแปรสภาพจากหน้ามือเป็นหลังมือ กระทั่งทำให้น้ำที่ท่วม กทม.อยู่ในขณะนี้ไม่สามารถไหลออกไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน ไขปริศนา ใครขวาง Flood way หน้า 7)

**ยกเครื่องประเทศไทย ”โกร่ง” กล้าทำไหม?

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เห็นว่า นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ คณะกรรมการชุด “ดร.วีรพงษ์และดร.สุเมธ” จะต้องขบให้แตกและตัดสินใจลงมือยกเครื่องทั้งระบบ โดยแก้ไขความผิดพลาดทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในฉับพลันทันที โดยไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม นักธุรกิจหรือนักการเมืองที่ยืนทะมึนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กขวางอยู่ข้างหน้า

มิใช่ขายฝันลมๆ แล้งๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจอย่างที่ ดร.วีรพงษ์บอกว่า “กยอ.จะเร่งประสานกับ กยน.เพื่อวางแผนและจัดทำโครงการลงทุนระบบน้ำทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 5-6 ปี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จากนี้ไปชั่วกัลปาวสานจะไม่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย ดังนั้น จะต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเท่าใดก็ต้องยอม เพราะเหตุการณ์หนักหนาสาหัสมาก”

ทั้งนี้ ถ้าหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์และคณะกรรมการชุด ดร.วีรพงษ์-ดร.สุเมธต้องการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนจริง สิ่งที่จะต้องทำประการแรกและประการสำคัญคือการยกเครื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และความเป็นจริงของประเทศไทย

ถามว่า ดร.วีรพงษ์-ดร.สุเมธจะทำอย่างไรกับบรรดานิคมอุตสาหกรรมทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับน้ำและพื้นที่ระบายน้ำ

แล้วถามว่า ดร.วีรพงษ์-ดร.สุเมธจะทำอย่างไรกับสนามบินหนองงูเห่าที่สร้างอยู่ในแนวฟลัดเวย์ขวางทางน้ำอยู่ในขณะนี้

แล้วก็ถามว่า ดร.วีรพงษ์-ดร.สุเมธจะเสนอแนวคิดต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างไรกับความวิปริตในการระบายน้ำที่ทำให้พื้นที่ฝั่งตะวันตกจมน้ำนานนับเดือน ขณะที่พื้นที่ฝั่งตะวันออกที่เป็นพื้นที่รับน้ำและพื้นที่ระบายน้ำยังอยู่รอดปลอดภัยดี

สิ่งแรกที่ ดร.วีรพงษ์และดร.สุเมธจะต้องทำให้ได้ก็คือ ไม่ใช่การใช้ “บิ๊กแบ็ก” ที่โฆษณาโอ้อวดเลอเลิศถึงสรรพคุณการแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งๆ ที่มีคุณสมบัติเพียงแค่การชะลอการไหลของน้ำเท่านั้น(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน “บิ๊กแบ็ก” ระเบิดเวลาทำน้ำบ่าท่วมเมือง หน้า 6) หากแต่คือการทวงคืนที่ดินทำฟลัดเวย์ที่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สงวนไว้เพื่อเป็นทางระบายน้ำลงทะเลกว่า 50,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 3,000 ไร่ นอกนั้นกลายเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิหมดแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินไม่มากนัก เพราะขณะนี้สังคมรับรู้แล้วว่า เป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงน้ำท่วม ทำให้ราคาน่าจะไม่สูงมากนัก

จากนั้นก็สำรวจตรวจตราดูว่า ผังเมืองรวม กทม. ตลอดรวมถึงปริมณฑลที่ใช้อยู่ในขณะนี้มีปัญหาที่ตรงไหน และจำเป็นที่จะต้องแก้ไขอะไรหรือไม่ หรือถ้าดีอยู่แล้ว แต่มีผู้ฝ่าฝืนก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดโดยไม่สนใจว่า จะเป็นพวกพ้องหรือวงศ์วานว่านเครือของตนเองหรือไม่

เช่นเดียวกับปริมาณน้ำที่ยังคงค้างอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนมหาศาลนั้น ก็ต้องเร่งระบายลงสู่ทะเลเร็วที่สุดที่จะทำได้ ซึ่งแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเสียทองจ้างฝรั่งมังค่าให้สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ เพราะแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางและคำแนะนำเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หากแต่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

12 ตุลาคม 2554 เวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ ห้องประชุม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นการส่วนพระองค์

เวลา 19.55 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “พระองค์ทรงรับสั่งเรื่องของน้ำครั้งนี้ก็มากจริงๆ และกระทบความเสียหายเป็นจำนวนมาก และพระองค์ทรงเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์นี้ พระองค์ท่านก็ได้ให้ความสำคัญในการเร่งระบายในด้านตะวันออก อย่างที่เราได้เร่งระบายน้ำและมีการขุดคลอง ซึ่งต้องเร่งรัดการขุดคลองเพื่อให้เกิดการระบายน้ำให้เต็มที่ ส่วนด้านตะวันตกต้องดูการหาพื้นที่หรือคลองในการระบายน้ำ”

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานต่อพสกนิกรชาวไทยในการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่กระทั่งทุกวันนี้ การระบายน้ำไปทางด้านตะวันออกก็ยังไม่สามารถกระทำได้

หรือถ้าจะให้ชัดเจนและสมบูรณ์แบบที่สุดคงต้องย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านี้ในปี 2538

วันที่ 18 กันยายน 2538 วันนั้นเกิดฝนตกอย่างหนักอันเป็นผลมาจากพายุดีเปรสชั่น Ryan และมีสัญญาณชัดเจนว่า น้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาจะเข้าท่วม

ถัดมาในวันที่ 19 กันยายน 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำแนะนำในการแก้ปัญหาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องว่า “การแก้ปัญหาอุทกภัยควรจะมีการระบายน้ำทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ คือ ทางน้ำผ่านหรือเรียกว่า ฟลัดเวย์ เพื่อไม่ให้กรุงเทพฯ ฝั่งพระนครรับภาระหนักจนเกินไป แต่ฟลัดเวย์ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ นี้ จะต้องมีเครื่องเร่งน้ำใกล้คันกั้นน้ำด้วย เพราะคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศ คลองบางนา คลองสำโรง ไม่สามารถรับน้ำเหนือที่มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ ต้องเร่งระบายน้ำให้ไวที่สุด ไม่เหมือนกับเขตพระนครที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถรับมือได้ เนื่องจากฝนตก (วันที่ 18 กันยายน 2538) แล้วแห้งเร็ว

  “ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มีพื้นที่สาธารณะร่วม 5 หมื่นไร่ แต่ขณะนี้ดูแล้วเหลือเพียง 3 พันไร่เท่านั้น ดังนั้นก็ต้องกล้าที่จะแก้ปัญหาโดยการเวนคืนที่ดินฟลัดเวย์ ถ้าไม่ทำเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำเท่ากับหายนะแน่

  “อีกปัญหาหนึ่งคือ การช่วยเหลือประชาชนจากน้ำท่วมโดยการให้เงินเพื่อฟื้นตัว จะทำให้ประชาชนขวัญเสีย เพราะคิดว่าท่วมแน่ ๆ อีกทั้งการช่วยของระบบราชการคงใช้เวลาร่วมปีถึงจะเสร็จ ดังนั้นการสร้างฟลัดเวย์จะเป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิด และควรจะทำกรีนเบลต์ แปลว่า แนวเขียว ในสมัย 15 ปีก่อน ทว่าตอนนี้คงทำได้ลำบากแล้ว เพราะโรงงานสร้างขวางช่องทางน้ำหมด แต่ว่าถ้าสร้างแบบมีทางน้ำแคบ ๆ แล้วใส่เครื่องเร่งน้ำลงไป ก็น่าจะทำได้อยู่”

นี่คือแนวทางตามพระราชดำริที่รัฐบาลจะต้องใช้เป็นแม่แบบในการแก้ปัญหามหาอุทกภัยในครั้งนี้

ดังนั้น ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ขวางทางน้ำ ที่ขวางฟลัดเวย์ตั้งแต่เหนือจรดใต้ รัฐบาลจะต้องกล้าตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นถนนก็ต้องตัดสินใจทุบทิ้ง ถ้าเป็นหมู่บ้านจัดสรรก็ต้องตัดสินใจซื้อทั้งหมู่บ้านเพื่อรื้อและสร้างทดแทนให้ใหม่ หรือติดนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานใดก็ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด

ที่สำคัญคือต้องระดมสรรพกำลังในทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อดำเนินการทันที มิใช่ยื้อเวลาจนทำให้ประชาชนต้องทุกข์ทรมานอย่างมิรู้จักจบสิ้น

กล้าหรือไม่ที่จะประกาศหยุดงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกครั้ง เพื่อระดมสรรพกำลังในการทำให้น้ำที่มีอยู่ลงทะเลไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

และถึงเวลาแล้วที่จะต้องกำจัดภาคอุตสาหกรรมให้เล็กลงแล้วก็พัฒนาเมืองไทยให้สัดส่วนของภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมอยู่ในสัดส่วนที่สมดุลกัน ไม่ใช่อุตสาหกรรม 70% เกษตร 30% แต่อย่างน้อยที่สุดภาคเกษตรจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 60% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องลดลงให้เหลือ 40%

นี่คือทางออกและทางรอดของประเทศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด

แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลและนักการเมืองซึ่งอยู่ในวังวนของผลประโยชน์ “กล้า” ที่จะทำหรือไม่เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น