xs
xsm
sm
md
lg

ทุนจีนทุ่ม 5 พันล้านตั้งรง.แปรรูปยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย - กลุ่มทุนใหญ่จีน ชิงปักธงก่อน AEC เกิด นำแผนตั้งบริษัทเครือข่ายในไทย ยกทีมพบผู้ว่าฯ-พาณิชย์จังหวัดฯ เล็งทุ่มทุน 5 พันล้านตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา เชื่อมเครือข่ายใน สปป.ลาว - จีนตอนใต้ ผลิตสินค้าส่งกลับขายจีน และทั่วโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศาลากลาง จ.เชียงราย สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือทางการค้าอาเซียน-จีน นำโดยนายลี โหยง เซ็ง ประธานบริษัทในเครือหยุนซิน กรุ๊ป ได้นำคณะนักธุรกิจจีนเข้าพบนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และนายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเข้าไปลงทุนด้านกิจการแปรรูปยางพาราในพื้นที่ จ.เชียงราย และขอความช่วยเหลือด้านต่างๆ หลังจากที่เครือหยุนซิน กรุ๊ป ได้มีการจดทะเบียนประกอบการชื่อบริษัทซินซิง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อให้บริษัทไปตั้งกิจการแปรรูปผลผลิตยางพาราเชื่อมโยงกับบริษัทในเครือที่ดำเนินการอยู่ใน สปป.ลาว เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา และที่เมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้

นายลี โหยง เซ็ง กล่าวว่า หลังจากจดทะเบียนแล้วบริษัทได้วางแผนจะจัดหาที่ดินใน จ.เชียงราย เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ เพื่อลงทุนด้วยเม็ดเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านหยวนหรือกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราครบวงจร ทั้งการรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรไทย การแปรรูป การกระจายสินค้า ฯลฯ โดยระยะหรือเฟสแรกจะลงทุนก่อนประมาณ 350 ล้านบาท จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายกิจการ เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนปีละประมาณ 12,000 ล้านบาท

เขาบอกว่า เหตุที่เข้ามาลงทุนที่เชียงราย เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพด้านพื้นที่ปลูกยางพารา และยังมีเส้นทางคมนาคมที่อยู่ใกล้กับมณฑลหยุนหนัน อันเป็นแหล่งแปรรูปและตั้งกิจการกระจายสินค้าของบริษัท ที่มีอยู่หลายแห่งทั้งที่มณฑลหยุนหนันและจีนตอนใต้ ซึ่งจะทำให้การขนส่งเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทในเครือมีความสะดวก

นายหลี โหยง เซ็ง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ปัจจุบันถนน R3a เชื่อม อ.เชียงของ-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ก็แล้วเสร็จจนสามารถใช้งานได้แล้ว และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมถนน R3a ก็กำลังจะแล้วเสร็จในปี 2556 รวมทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC (ASEAN Economic Community) ซึ่งจะทำให้ได้รับประโยชน์ด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC ด้วย ดังนั้น บริษัทจึงถือโอกาสชิงเข้ามาลงทุนเอาไว้ก่อนตั้งแต่ช่วงต้น เพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจ

ส่วนสินค้าที่ผลิตมีหลากหลายโดยจะเน้นการเชื่อมโยงไปยังโรงงานต่างๆ ทั้งใน สปป.ลาว และมณฑลหยุนหนัน ทั้งยางรถยนต์และอื่นๆ เพื่อนำผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่สมบูรณ์และกระจายไปยังตลาดจีนและทั่วโลกผ่านศูนย์กลางเครือข่ายที่มณฑลหยุนหนันต่อไป

ด้านนายสมชัย กล่าวว่า บริษัทในเครือหยุนซิน มีเครือข่ายธุรกิจแปรรูปยางพารารายใหญ่ที่จีนตอนใต้โดยเฉพาะการแปรรูปยางรถยนต์ ซึ่งส่งกระจายไปใช้ในประเทศจีน การให้ความสนใจเข้ามาเปิดกิจการในเชียงรายของกลุ่มนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะจะทำให้เกิดจุดกระจายสินค้าสำหรับยางพาราที่มีการปลูกกันมากในภาคเหนือ และยังช่วยสร้างงานให้คนไทยด้วย จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย ช่วยจัดหาเรื่องที่ดินและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายการลงทุนต่างๆ แก่บริษัท

อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้การลงทุนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากบริษัทเป็นอย่างดี
“คาดว่าหากไม่มีสิ่งใดผิดพลาดก็คาดหวังให้มีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานได้ในปี 2555 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเมืองเชียงราย 750 ปีไปพร้อมๆ กันด้วย”

ขณะที่นายเฉลิมพล กล่าวว่า พื้นที่ที่บริษัทต้องการมีอยู่หลายจุด โดยที่เหมาะสมมีทั้งในพื้นที่ อ.เชียงของ อ.พญาเม็งราย ฯลฯ ซึ่งได้มีการกำหนดโซนพื้นที่เอาไว้คร่าวๆ เพื่อให้บริษัทได้เลือกดูตามความเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตามการคัดจุดลงทุนของเอกชนจีนมักจะเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องทั้งความเหมาะสมด้านการลงทุน และฮวงจุ้ยด้วย จึงจะมีการลงพื้นที่สำรวจร่วมกับเอกชนจีนรายนี้ต่อไป

ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกยางพาราในพื้นที่ จ.เชียงราย รวมกันทั้งหมดประมาณ 350,000 ไร่ มีสวนยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางตั้งแต่ปี 2553 แล้วประมาณ 20,000 ไร่แต่ที่ผ่านมามักจะจำหน่ายทั้งยางแผ่น และน้ำยางได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคากลางที่ จ.สงขลา ประมาณ 7-10 บาท ด้วยปัญหาเรื่องต้นทุนค่าขนส่งและการไม่มีโรงงานรมควันในพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็ยังถือว่าทำกำไรได้ดีกว่าพืชอื่นๆ และทำให้เกษตรกรทำการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมีผู้สนใจจะเข้าใจเข้าไปลงทุนในพื้นที่มานานหลายปีแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น