xs
xsm
sm
md
lg

ศปภ.บ้อท่า!ย้ายไป"ปตท." ตัดคลอง9ให้น้ำผ่าน ล้มแผนเจาะถนนได้ไม่คุ้มเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- “ยิ่งลักษณ์” สั่งตัดคลอง 9 และ10 ระบายน้ำคลองรังสิต ลงแม่น้ำบางประกง ยกเลิกตัดถนน 5 สายระบายน้ำตะวันออก ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย “ปู”บ้อท่า ย้ายศปภ. ไป “ปตท.สำนักงานใหญ่” หนีน้ำท่วม พร้อมกลับประชุมครม.ทำเนียบ 1 พ.ย.นี้ รับอาจจะดูวันหยุดราชการเพิ่มอีก กปน.เตือนสำรองน้ำประปา

วานนี้ (28 ต.ค.) นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการตัดคันคลองชลประทานระหว่างคลอง9-10 (รังสิต) เสร็จแล้ว ภายหลังดำเนินการเจรจากับประชาชนในพื้นที่มากว่า 2 วัน ซึ่งผลการจากตัดคันคลองดังกล่าวจะสามารถลดปริมาณน้ำในคลองรังสิตเพื่อรักษาประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์

ก่อนหน้านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่รังสิตบริเวณคลอง9-10 และจากนั้นจะนั่งเฮลิคอร์ปเตอร์ไปวนตรวจระดับน้ำที่แม่น้ำน้อย จ.ลพบุรี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบการระบายน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของ กทม. รวมทั้งพื้นที่คลอง 9 และ คลอง 10 ว่า หลังจากทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ชุมชนเลียบคลองแล้ว ประชาชนยอมให้ความร่วมมือและเต็มใจเสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำ โดยยอมให้ทำการขุดถนนเลียบคลอง 9และ10 ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในคืนวันที่ 28 ต.ค.นี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณประชาชนเนื่องจากว่า หากไม่มีการระบายน้ำในจุดนี้ จะทำให้ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์รับไม่ไหว อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในคลองระพีพัตน์ที่มีระดับน้ำค่อนข้างสูง ซึ่งหากน้ำทะเลหนุนสูงจะทำให้น้ำในคลองเต็ม ทั้งนี้จะเร่งระบายน้ำไปยังคลองต่างๆและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ตนไม่มีกำหนดการเดินทางไปทอดกฐินที่ประเทศอินเดีย ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เพราะตนเองจะขอทำงานช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะช่วงวันนี้ถึงวันที่ 31ตุลาคมนี้ที่น้ำทะเลจะหนุนสูงสุด

มีรายงานข่าวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปร่วมงานกฐินครั้งนี้ด้วย

**ยกเลิกเจาะถนน 5 สายได้ไม่คุ้มเสีย

อีกด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุภายหลังการสำรวจเส้นทางน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครว่า หลังจากสำรวจคลองระบายน้ำต่างๆ แล้วน้ำยังคงไหลผ่านไปได้ด้วยดี มีบางช่วงเท่านั้น ที่ต้องขุดลอกคูคลองเพิ่มเติม และยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องขุดเจาะถนน และหลังจากนี้ จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พิจารณา ทั้งนี้เห็นว่า หากกระแสน้ำบริเวณคลองต่างๆ ไหลเข้ามาเพิ่มเติมตามแผนที่ได้วางไว้ เครื่องสูบน้ำที่มีไว้บริเวณชายทะเล ก็จะสามารถรองรับได้

ทั้งนี้ มีรายงานจากที่ประชุม ศปภ. ว่าจะไม่ดำเนินการเจาะถนน 5 สาย ตามที่นักวิชาการเสนอก่อนหน้านี้ หลังประเมินแล้วว่า ผลที่จะได้รับไม่คุ้มค่า กับผลกระทบที่ตามมา แต่ที่ชัดเจน คือการที่นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจากชาวรังสิตคลอง 9 เพื่อเจาะถนนเลียบคลอง ใช้ระบายน้ำได้เป็นผลสำเร็จ
ก่อนหน้า มีแนวการเจาะถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง คือ ถนนสุวินทวงศ์ หากรัฐบาลจะให้เจาะถนน ได้เตรียมเจาะท่อขนาด 1.5 เมตร จำนวน 3 ท่อ

**สั่งตำรวจปรับเส้นทางจราจรใหม่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงเช้าว่า จริงๆ แผนทุกอย่างวันนี้ที่มีการเตรียมไว้ที่ให้น้ำระบายไปทางขวา คือฝั่งตะวันออกด้านคลองระพีพัฒน์ กับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ อันนี้ทำอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องของพื้นที่ว่าจะทำอย่างไร เราได้มีการไล่ดูทุกจุด เพราะว่าเวลาไล่น้ำบางทีที่เราพูดหลักการเราตรงกัน แต่เวลาไปทำจะเห็นว่า บางพื้นที่มีปัญหา เช่น ผักตบชวา เราจึงต้องไปเคลียร์ คลองตื้นไปต้องไปเปิดคลอง จะต้องไล่น้ำไปเป็นส่วนๆ เบื้องต้นวันนี้น้ำได้ออกไปทางคลองระพีพัฒน์เยอะพอสมควร และเยอะขึ้น วันนี้จะเริ่มไล่ไปทางคลองแสนแสบ และพบว่าคลองแสนแสบมีพื้นที่ที่ต้องไล่น้ำอยู่ จึงให้ทีมของนายวีระประสานกับทางกทม.ตลอด จุดไหนที่เจอก็คุยทำงานร่วมกัน ตอนนี้ก็มีทั้งศูนย์ของกทม.และของศปภ. ทำงานบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลานี้แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนที่จะพยายามระบายลง ซึ่งเต็มและสูงเกินพิกัด ตงนี้จะทำให้น้ำขังพื้นที่ที่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำทั้งสองโดยรอบหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า บริเวณที่ติดกับทางด้านแม่น้ำท่าจีนในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ตรงนี้ยอมรับว่า จะระบายค่อยข้างยาก แต่จะมีทางในส่วนของคลองอื่นๆ ที่ยังไม่ไปเต็มศักยภาพ เราก็พยายามที่จะไล่น้ำลงคลองส่วนนี้ให้เต็ม อย่างวันนี้คลองแสนแสบก็ยังรับน้ำได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่หมด ก็คงต้องช่วยกันไล่น้ำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้น้ำได้เข้าท่วมกรุงเทพฯค่อนข้างเยอะ ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของการจราจร ได้มีการวางแผนไว้อย่างไรเพื่อไม่ให้การจราจรเป็นอัมพาต และส่งผลกระทบกับประชาชน นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนที่ยังใช้งานได้ เรามีการวางแผนอย่างในจุดศูนย์ดอนเมืองเราก็มีการปรับเส้นทางไปพึ่งพิงในส่วนของโทลล์เวย์มากขึ้น ได้มีการสั่งการไปแล้วกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้มีการปรับเส้นทางจราจรขณะนี้กำลังไล่ทำอยู่ อย่างศูนย์ในดอนเมืองเมื่อมีการปรับใช้โทลล์เวย์ก็ทำให้การทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ในส่วนของพื้นที่ที่เป็นถนนแล้วน้ำท่วมแล้วตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่จะทำการปรับเส้นทางจราจร เพราะพื้นที่ที่รับน้ำหากเส้นไหนที่มีเส้นทางด่วนก็สามารถทำได้ เส้นทางอื่นก็มาใช้ในการสัญจรโดยทางเรือ

**เล็งแผนฟื้นฟู“นครสวรรค์”ไว้แล้ว

นายกฯ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นวันนี้เราได้มีการประชุมอย่างเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 26 จังหวัดที่มีน้ำท่วมขังอยู่ จังหวัดนครสวรรค์เริ่มเข้าโหมดการฟื้นฟูแล้ว น้ำลดลงวันนี้จะเป็นวันแรกที่จังหวัดนครสวรรค์เริ่มบูรณะแล้วก็ระดมเครื่องสูบน้ำ ซึ่งเราได้มีการทำแผนลักษณะของคู่แฝด โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่มีผลกระทบเรื่องน้ำท่วมมาทำงานควบคู่กับผู้ว่าฯที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยที่เราทำ 2 อย่างคือ มาช่วยบริหารจัดการดูแลพี่น้องประชาชนให้ทั่วถึง และอีกส่วนหนึ่งเราได้ระดมจังหวัดใกล้เคียงทั้งหมดเข้ามาเป็นครัวต่างจังหวัดสู่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่เราจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนกรุงเทพฯ ในเรื่องของอาหารและน้ำดื่มต่างๆ เราจะนำมาจากต่างจังหวัด และจะมาทำครัวในจุดของมหาดไทย และส่งให้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง นี้จะเป็นอีกหนึ่งของการรวมพลังน้ำใจของจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศที่จะมาช่วยกันในยามวิกฤตอย่างนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ล่าสุด จุดเปราะบางที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือจุดไหนบ้าง นายกฯ กล่าวว่า จุดเปราะบางในส่วนของถนนพหลโยธิน และคลองหกวา ซึ่งบางส่วนเริ่มมีการชำรุดคงต้องให้มีการซ่อมแซม และในส่วนของสายไหมคงต้องประสานกับทางกทม. เพราะพื้นที่แนวกั้นของสายไหมค่อยข้างอ่อนแอมีน้ำรั่วซึมอยู่

**รับอาจจะดูวันหยุดราชการเพิ่มอีก

เมื่อถามว่า เรื่องของวันหยุดมีผลดี ผลเสียอย่างไรและจะมีวันหยุดเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องดูอีกที แต่ในส่วนของวันหยุดเรียนว่า มีผลดีขึ้น เพราะพี่น้องประชาชนบางคนได้มีการเดินทางไปต่างจังหวัด จะเห็นว่าทางไปจังหวัดชลบุรี รถจะติดค่อนข้างมากมีกระจายไปในจังหวัดที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งชลบุรีก็มีแผนรองรับไว้ เอกชนบางแห่งก็ยังทำงานตรงนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจ เพราะบางครั้งหยุดทั้งหมดจริงๆ แล้วต้องบอกว่า อยากขอเป็นดุลพินิจของส่วนราชการและเอกชนที่จะไปดู แต่เรื่องความเห็นใจต้องขอความเห็นใจ สำหรับประชาชนที่มีปัญหาอุทกภัยต้องให้เขาลา โดยเฉพาะภาคเอกชนถ้าลานานก็จะมีผลกระทบต่อการทำงาน เราเองในส่วนของภาครัฐก็คงไปก้าวก่ายไม่ได้ คงต้องไปขอความร่วมมือ และความเห็นใจกับพี่น้องประชาชนที่ประสบในเรื่องของน้ำท่วมมากกว่า

**เตรียมย้าย ศปภ. ไป "ปตท.สำนักงานใหญ่"

อีกด้าน หลังจากสถานการณ์น้ำได้ทะลักเข้าในพื้นที่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง ส่งผลทำให้การเดินทางและการขนส่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงทำให้ทางศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย (ศปภ.) ได้ทบทวนแนวคิดที่จะมีการย้ายศูนย์ศปภ. ไปยังที่ต่างๆ โดยที่ผ่านมาเคยมองไว้ที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี เป็นต้น

มีรายงานข่าวล่าสุดจากศปภ.แจ้งว่า หนึ่งในคณะทำงานระดับสูงของศปภ. ได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณ 5 แยกลาดพร้าว ซึ่งคาดว่าจะใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ศปภ.แห่งใหม่

**สั่งกลับประชุม ครม.ทำเนียบ 1 พ.ย.

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ สั่งให้เปลี่ยนสถานที่การประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 1 พ.ย.นี้ กลับไปประชุมกันที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนสถานที่การประชุมครม.นั้น เนื่องจากอาคารวีไอพีระหว่างประเทศนั้นมีน้ำล้นมาจากถนนวิภาวดีรังสิตเข้ามา ภายในถนนหน้าอาคารวีไอพีระหว่างประเทศ จึงทำให้การสัญจรบริเวณนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากอีกทั้งสถานที่จอดรถมีไม่ เพียงพอ

นายบัณฑูร สุภัควาณิชย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จริงๆแล้วเราได้เตรียมแผน 1 และแผน 2 รับ มือไว้บ้างแล้ว แต่ต้องดูสถานการณ์ ทั้งนี้รัฐบาลไม่สามารถใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่ตั้งของ ศปภ.ได้ เนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอ เพราะ ศปภ. มีหน่วยงานเป็นจำนวนมาก

ขณะที่เวลาประมาณ 15.00 น. น้ำที่ท่วมอยู่บน ถ.วิภาวดี-รังสิต ได้เอ่อล้นคั้นกันน้ำเข้ามาในพื้นที่สนามบิน โดยผุดออกมาจากท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำได้ไหลเข้ามาถึงบริเวณด้านนอกอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งแจ้งให้ผู้ที่นำรถมาจอดบริเวณใต้อาคาร เคลื่อนย้ายรถยนต์ออกจากพื้นที่โดยด่วน เนื่องจากเกรงว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก

**กปน.เตือนสำรองน้ำประปา

การประปานครหลวง (กปน.) แจ้งว่าจำเป็นต้องลดปริมาณการผลิตน้ำประปาลงบ้าง เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบให้เหมาะสมกับการผลิตน้ำประปา และได้ปรับแผนการสูบจ่ายน้ำให้มีแรงดันน้ำสูงขึ้นในช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 06.00-09.00 น. เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในอาคารสูงตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไปได้มีน้ำใช้ จึงขอให้สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ กปน.อาจลดปริมาณการสูบจ่ายลงในช่วงเวลากลางวันถึงเย็น อย่างไรก็ตาม กปน.ยังคงผลิตจ่ายน้ำประปาเป็นปกติตลอด 24 ชม. ขอให้ประชาชนอย่ากังวลใจ

**ในหลวง-ราชินี ทรงห่วงประชาชน

ที่อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พร้อมด้วยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และคณะนายทหารระดับสูง เดินทางไปยังศูนย์บรรเทาสาธารณ์ภัยหน่วยบัญชาการ ป้องกันภัยทางอากาศ (ศบภ.นปอ.)ส่วนหน้า ที่บางใหญ่พลาซ่า

พล.อ.ประยุทธ์ จั กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีความเป็นห่วงประชาชนที่ประสบอุทกภัย แม้พระองค์ท่านจะไม่ค่อยแข็งแรงก็ตาม ทรงกำชับทหารให้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่และทั่วถึง ขณะที่ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้กำลังใจว่า ขอให้อดทน และไม่ยอมแพ้ ซึ่งคนไม่เคยทิ้งกัน ขออย่าเครียด โดยกองทัพจะพยายามทำทุกวิถีทาง ดูแลช่วยเหลือประชาชน หากพื้นที่ใดไม่สามารถใช้รถอพยพคนได้แล้ว จะใช้เรือในการอพยพแทน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ใช้กำลังทหารร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ในการอพยพ แม้น้ำจะมีปริมาณมาก แต่คาดว่า สถานการณ์จะดีขึ้น

พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ตนอยากให้ประชาชนทำใจ และรับสภาพ ซึ่งคงต้องอยู่อย่างนี้ต่อไปอีก 2 เดือน เพราะน้ำมาก รวมถึงน้ำที่จะมาเพิ่มเติมอีก เราต้องเตรียมการแก้ปัญหากันต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.54 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก (ศบภ.ทบ.) ได้จัดกำลังพลจำนวน 50,010นาย พร้อมรถยนต์บรรทุก 1,178 คัน รถโกยตัก 18 คัน รถพ่วงชานต่ำ12คัน บรองโก้2คัน เรือทุ่น 3 ลำ รถครัวสนาม 5 คัน รถน้ำ 20 คัน เรือตรวจการณ์พลังลม 2 ลำ เรือยนต์บรรทุกขนาด 90 ฟุต (ผลักดันน้ำ)10 ลำ และเรือท้องแบน 2,510 ลำ เรืออลูมิเนียมโลหะผสมติดเครื่องยนต์ขนาด 55 แรงม้า 11 ลำ ชุดประปาสนาม 6ชุด ชุดแพทย์เคลื่อนที่ 8 ชุด ชุดฟื้นฟูสภาพจิตใจ 8 ชุด อากาศยาน 3 ลำ (6เที่ยวบิน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ

**ผบ.ทร.ย้ำต้องป้องศิริราช

พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวภายหลังเดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลศิริราช ว่า กองทัพเรือเตรียมพร้อมรับผิดชอบและดูแลวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งถุงทราย อิฐชนิดพิเศษ เพื่อกั้นพื้นที่ชั้นในโรงพยาบาลศิริราช ส่วนชั้นนอกจะใช้กระสอบทรายเสริมความมั่นคงและเสริมฐานไว้ตลอด โดยบริเวณชั้นในซึ่งเป็นสถานที่สำคัญ เช่น อาคารเฉลิมพระเกียรติได้มีการเตรียมไฟฟ้าฉุกเฉินไว้ ส่วนตึกอื่นๆ ทางการไฟฟ้านครหลวงได้เดินสายไฟทางอากาศ เข้าเชื่อมต่อทั้ง11 ตึกของโรงพยาบาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น