xs
xsm
sm
md
lg

ซึมเศร้าเสี่ยงฆ่าตัวตายพุ่ง สธ.เร่งจัดทีมบำบัดทางจิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ประสบอุทกภัยในขณะนี้ว่า ทางกระทรวงสาธสรณสุขได้จัดทีมนำคณะทำงานด้านสุขภาพจิตเข้าไปติดตามผล และดำเนินการตามศูนย์พักพิงต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 17 ทีมๆ ละ 10 คน ประกอบด้วย นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่องสุขภาพสำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยจะเน้นในเรื่องของกิจกรรมที่จะเข้ามาเยียวยา
ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์พักพิงที่รัฐบาลได้จัดเตรีมไว้มีจำนวนมาก ดังนั้นเราจำเป็นต้องเลือกเข้าไปยังศูนย์ที่ร้องขอมาก่อน เพื่อให้เราเข้าไปบำบัด เยียวยา และหากว่าศูนย์ใดพบว่ามีผู้อยู่ในภาวะตึงเครียก เราก็จะเข้าไปเยียวยาอย่างเร่งด่วน และในส่วนของนักวิชาการ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมไปถึงศิลปิน ดารา และ พระสงฆ์ ก็สามารถบูรณาการร่วมกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะปัญหาอุทกภัยในขณะนี้
เมื่อถามว่า จำนวนตัวเลขผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย มีเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ต่อสถานกาณณ์น้ำใน กทม. ที่กำลังวิกฤติ นายต่อพงษ์ กล่าวว่า เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่หากคิดเป็นร้อยละ ถือว่าเพิ่มไม่มาก โดยขณะนี้มีผู้ป่วยแล้วกว่า 1.7 แสนคน แบ่งเป็นผู้มีความเครียดสูง 5,200 คน ภาวะซึมเศร้า 6,200 คน กลุ่มที่ต้องติดตามดำเนินการอย่างใกล้ชิด 1,356 คน และผู้อยู่ในภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย 878 คน เพิ่มจากเดือนที่ผ่านมา ที่มีอยู่ 500 คนเล็กน้อย ในส่วนนี้ถือว่ายังไม่ทวีคูณ โดยต้องเข้าใจว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ขยายออกเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อรัฐบาลนำคนอพยพออกจากบ้าน หรือพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแล้ว ก็ต้องช่วยกันในการจัดกิจกรรมเพื่อเยียวยา รวมทั้งต้องส่งนักสุขภาพจิต เข้าไปให้คำแนะนำกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เครียดสูง และเสี่ยงฆ่าตัวตาย
" ขอวิงวอนประชาชนที่ยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพที่ทางรัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้ เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ทั้งอุปโภคและบริโภค จะมีความพร้อมมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยลดความตึงเครียดให้กับประชาชนได้ส่วนหนึ่ง และขอให้ประชาชนเลือกติดตามข่าวสารอย่างไม่วิตกกังวล รวมทั้งอย่าพยายามอยู่ตามลำพังเพียงคนเดียว ควรจับกลุ่ม มีเพื่อพูดคุย เพราะจะช่วยลดภาวะความตึงเครียดได้ส่วนหนึ่ง" นายต่อพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการในการดูแลด้านสุขอนามัยของผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิง นายต่อพงษ์ กล่าวว่า สำหรับกระทรวงสาธารณุขโดยกรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต จะใช้วิธีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยกรมอนามัย จะใช้ยุทธศาสตร์ “อนามัยคลายทุกข์” เพื่อดูแลในเรื่องสุขอนามัย และสุขาภิบาล รวมทั้งการตัดตอนการแพร่กระจายของโรคระบาดต่างๆ โดยล่าสุดยังไม่ได้รับรายงานการแพร่กระจายของโรคระบาด ส่วนกรมสุขภาพจิต จะขับเคลื่อนด้วยการใช้ยุทธศาสตร์ “ อึด ฮึด สู้ เดี๋ยวก็ผ่านไป ”
เมื่อถามว่า ได้มีการเตรียมมาตรการสำรองยารักษาโรคไว้อย่างไรบ้าง นายต่อพงษ์ กล่าวว่า ในเรื่องยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ ยังเชื่อว่ามีปริมาณเพียงพอภายใน 2 เดือนนี้ แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้สิ่งที่ยังขาดอยู่ ทางกระทรวงก็ได้เร่งดำเนินการ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เช่น ในส่วนของยารักษาน้ำกัดเท้า ที่ต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มถึง 100 เปอร์เซนต์ ภายใน 6 สัปดาห์นี้ จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแผ่ขยายออกเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยหากผลิตได้ครบ 100 เปอร์เซนต์ จะลำเลียงออกมาใช้ทีละ 20 เปอร์เซนต์ เพื่อดูแลให้ทั่วถึง แต่ยังมีความเป็นห่วงประชาชนที่ยังไม่อพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วมเท่านั้น
ส่วนกรณีการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะน้ำท่วมนั้น นายต่อพงษ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ปัญหาอุทกภัยมีจำนวนมาก แต่หากถามว่าเพียงพอหรือไม่ คงต้องบอกว่าไม่เพียงพอ แต่ถ้าจัดความถี่ และเขาถึงผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้มากที่สุด ก็จะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ กระทรวงของความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น