ปชป.อัด “ปู” ปากว่าขยิบ วอน ปชช.ร่วมมือ แต่ปล่อยลิ่วล้อเล่นการเมืองคอยฟัดคู่แข่งแถมฟัดกันเองอุตลุต จี้เร่งโชว์ศักยภาพผู้นำเรียกกำลังใจ ปชช.ด่วน อัด ศปภ.ทำงานเหมือนพายเรือในอ่าง เรียกร้อง 7 ข้อเร่งแก้ไขด่วน “มัลลิกา” แนะญาติ 8 ศพไฟดูดฟ้องศาลปกครองเรียกค่าเสียหายจากรัฐ แฉ ศปภ.กั๊กของช่วย ถลุงงบฯ แล้ว 1,700 ล้าน ไม่คุ้มค่า ส.ส.ขาใหญ่ตัวขวางของบริจาค
วันที่ 23 ต.ค.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือให้ผ่านสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมไปด้วยดี ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมให้การช่วยเหลืออยู่ แต่รู้สึกเหมือนนายกฯ ปากว่าตาขยิบ เรียกร้องทุกฝ่ายให้ร่วมมือแต่คนของตัวเองกลับนำการเมืองมาปะปน นายกฯ ไม่รู้หรืออย่างไรว่าแกนนำพรรคภาค กทม.ได้มีการประชุม ส.ส.ในเขตที่ประสบภัยพิบัติ คือมีนบุรี หนองจอก คลองสามวา และลาดกระบัง โดยมีลักษณะให้ทำการขัดแข้งขัดขาผู้ว่าฯ กทม. เช่น ให้ทีมงานใช้เสียงหอกระจายข่าวสาร พูดตำหนิการทำงาน ให้ข้อมูลบิดเบือน สร้างความเกลียดชัง กรณีน้ำเอ่อล้นคลองประปา ก็ระบุว่าเป็นฝีมือผู้ว่าฯ กทม. ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. จึงเรียกร้องให้รู้กาลเทศะบ้าง ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อย่าเล่นการเมืองมากไป ไม่ใช่สถานการณ์ให้ใครมาเล่นบทวีรสตรีเพื่อหวังลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในปีหน้า
นายสกลธีกล่าวว่า ตลอดช่อง 3 สัปดาห์ที่มีการแต่งตั้ง ศปภ. การทำงานยังเหมือนพายเรือในอ่าง มีปัญหามากมายกัดกิน โดยเฉพาะปัญหาความน่าเชื่อถือการให้ข่าวสร้างความแตกตื่นมากมาย และมีความขัดแย้งภายใน ศปภ. ทั้งรัฐมนตรีในแถวสาม สี่ ห้า กับคนไม่มีอำนาจในในบ้านเลขที่ 111 ที่เตรียมจะกลับมาปีหน้า มีการแย่งซีนกันทำให้การทำงานของ ศปภ.ไม่ลื่นไหล รวมถึง ส.ส.เพื่อไทยขัดแย้งกันเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้นายกฯ ต้องเข้ามาจัดการ เพราะประชาชนอยากเห็นมากสุดคือภาวะผู้นำของนายกฯ ซึ่งที่ผ่านมายังได้ไม่แสดงภาวะผู้นำอย่างเพียงพอ และจากการลงพื้นที่ของพรรคพบว่าประชาชนอยากเห็นรัฐบาลพูดความจริง แถลงอย่างตรงไปมา ไม่ใช่พอถามนายกฯ ถึงสถานการณ์น้ำว่าเป็นอย่างไร ตอบอย่างเดียวว่ายังไม่ทราบให้ไปถามผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งคนระดับนายกฯ ไม่รู้แล้วจะไปถามใคร
“ตอนนี้ประชาชนเลิกกลัวน้ำท่วม กลับกลัวการแถลงของ ศปภ.มากกว่า ว่าจะบิดเบือนความจริง ถ้าพูดความจริงคน กทม.รับได้ เพราะมีการเตรียมรับสถานการณ์ เพียงแต่อยากรู้ว่าจะท่วมตรงไหนบ้าง ท่วมเท่าไหร่ ถ้านายกฯ ไม่สามารถให้คำตอบได้ ทั้งมีข้อมูลที่จะประมาณการได้อยู่แล้ว”
นายสกลธีกล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องต่อนายกฯ 7 ข้อ คือ 1.นายกฯ ต้องเร่งทำให้ประชาชนเบาใจ ด้วยการแสดงภาวะผู้นำจริงจัง แถลงความจริงอย่าง รวดเร็วเพื่อรับต่อสถานการณ์ และปรับปรุงรูปแบบการแถลงของ ศปภ. หาโฆษกที่พูดจารู้เรื่องกว่านี้ 2.ต้องเตือนลูกหาบและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่าเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นตัวประกันเพื่อเพื่อหาเสียงเก็บคะแนน หรือเตรียมตัวสมัครผู้ว่าฯ กทม.สมัยหน้า 3.ตักเตือน ส.ส.ที่ไม่เกี่ยวข้อง มือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำ ออกมามาบริภาษผู้เกี่ยวข้องทั้งที่คนเหล่านี้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ 4.บอกลูกพรรคให้หยุดสร้างความแตกแยกแบ่งพวกแบ่งสี เช่นบังคับให้อาสาสมัครใส่เสื้อสีแดง หรือส่งของให้กับพวกตัวเอง หรือเช่นที่เขตดอนเมือง บางแห่งน้ำท่วมครึ่งแข้งก็รีบเอาของไปแจกให้ทันที ทั้งที่พื้นที่อื่นที่ประสบความเดือดร้อนก่อนหน้านี้ยังไมได้รับการช่วยเหลือ 5.ให้ตักเตือนเรื่องการขาดตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ต้องจัดการผู้ที่กักตุนสินค้า และขึ้นราคาสินค้าอย่างเด็ดขาด 6.ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษากฏหมายดูแลทำงานให้เต้มที่ โดยเฉพาะการแต่งตั้งญาติขึ้นมาเป็น ผบ.ตร.แล้วก็ควรจะเร่งทำงาน เพราะเริ่มมีการซ้ำเติมประชาชน เช่น การโจรกรรม และกรณีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างเมืองนนท์กับดอนเมือง ซึ่งตัวคนทำผิดชัดเจน อยากให้แสดงฝีมืองเป็นงานแรกหลังจากรับตำแหน่ง และ 7.ขอให้นายกฯ เลิกดื้อดึง และฟังความเห็นทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง และหยุดเล่นการเมืองสักพัก อย่ากีดกันคนที่ไม่ใช่พวกตนเองออกไป
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเรียกประชุมสภาในวันที่ 26-27 ต.ค.ว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นต้องการความเห็นจากทุกภาคส่วน แต่อย่าอาศัยช่วงชุลมุนหมกเม็ดนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าในระเบียวาระ โดยเฉพาะร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม แม้ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ในวาระ แต่ประธานสภาก็มีสิทธิ์เลือกวาระเข้ามาประชุมในสภาได้
ด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 31 เพื่อรวบอำนาจสั่งการไว้ที่นายกรัฐมนตรีจากนั้นได้มีการระบายน้ำลงไปทาง จ.นนทบุรี ซึ่งนายกฯ รู้ทิศทางน้ำ รู้ข้อมูลทั้งหมดแต่บกพร่องอย่างร้ายแรงเมื่อทำให้ชาว จ.นนทบุรีโดนไฟดูดตายภายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในวันเดียวมากถึง 8 ศพ จึงขอเรียกร้องการไฟฟ้าร่วมรับผิดชอบเพราะไม่ออกคำสั่งตัดไฟฟ้า หลังจากที่มีคำสั่งให้คนอพยพออกจากพื้นที่เพราะระดับน้ำท่วมสูงเสี่ยงอันตราย หรือเตือนให้ชาวบ้านได้รู้ตัวและเตรียมการได้ จึงถือเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของนายรัฐมนตรี แต่เพราะความไม่ประสาในการออกสั่งการตามอำนาจตัวเอง
“เรื่องนี้จะจบแค่คำว่าเสียใจไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่เพียงทรัพย์สิน เงินทอง ของมีค่า แต่คือชีวิตของคนที่ต้องตายด้วยความบกพร่องของผู้นำทั้งที่มีสื่อประจำที่ศูนย์ ศปภ.สามารถแจ้งเตือนได้ ซึ่งทีมกฏหมายพรรคกำลังหารือถึงเรื่องนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถร้องศาลปกครองเอาผิดจากรัฐและนายกฯ ได้”
น.ส.มัลลิกากล่าวอีกว่า ล่าสุดได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและเหล่าอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยแพ็กสิ่งของบริจาคที่ศูนย์ ศปภ.ว่า มีการกั๊กของบริจาคที่ทาง ศปภ.ได้รับบริจาคมาจากองค์กรต่างๆ ทำให้ส่งถุงยังชีพถึงมือผู้เดือดร้อนล่าช้าและไม่ทั่วถึง และเมื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณของ ศปภ.ก็พบว่าใช้งบประมาณไปแล้ว 1,700 ล้านบาทในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จากงบประมาณที่ ครม.อนุมัติให้ 2,000 ล้านบาท โดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดกับประเทศชาติและประชาชนไทยเลยแม้แต่น้อย เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ครมของ น.ส..ยิ่งลักษณ์ก็เพิ่งจะอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้ ศปภ.อีก 1,500 ล้านบาท รวมเป็นยอด 3,500 ล้านบาท ที่ให้แก่ ศปภ.แต่ผลที่ออกมาคุ้มค่าหรือไม่ กับผลงานที่ออกมา
น.ส.มัลลิกากล่าวต่อว่า ที่บอกไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากวันนี้ยังได้ยินเสียงร่ำไห้ของความทุกข์ระทมจากการอดน้ำ อดข้าวของประชาชนอยู่ บางแห่งรออพยพเป็นหมื่นๆ คน คนเฒ่าคนแก่ลูกเล็กเด็กแดงไม่ได้กินอิ่ม ทั้งที่มีบริจาคจากชาวไทยกองโตเท่าภูเขาที่ศูนย์ ศปภ.ดอนเมือง แต่สิทธ์ขาดขึ้นอยู่กับคนอนุมัติ ซึ่งก็ไม่อยู่ประจำที่ เพราะต้องรอลายเซ็นของ ส.ส.เจ้าพ่อใหญ่คนหนึ่งและเป็นคนเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์อนุมัติให้ของบริจาคกับชาวบ้านตาดำๆ ที่รอความช่วยเหลือจากศูนย์ ศปภ. จึงอยากขอร้องว่า ขอให้ทำ ศปภ.เป็นศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยจริงๆ ไม่ใช่ทำให้กลายเป็น “ศูนย์ประจานภูมิปัญญาปู” เพราะเต็มไปด้วย “แกนนำคนเสื้อแดง” ที่เข้าไปชี้นิ้วสั่งการกันอย่างเอิกเกริกจนกลายเป็น“ศูนย์รวมสารพัดแดง” ทั้งที่แต่ละคนไม่ได้มีความรู้ความสามารถในเรื่องการบริหารจัดการน้ำแต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชน ผู้คนต่างหมดศรัทธาจนเหล่าอาสาสมัครและองค์กรภาคประชาชนเหลืออดในพฤติกรรมต่างๆจึงได้มีการถอนตัวออกจากศูนย์ ศปภ.