xs
xsm
sm
md
lg

สังคมไทยเรียนรู้อะไรจากน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

สองอาทิตย์ที่ผ่านมา เคยคิดจะเขียนเรื่องน้ำท่วม แต่ก็ชลอความคิดว่าขอดูใจ ดูสติปัญญาของนักการเมืองก่อนว่าจะทำอะไรกันบ้าง เพราะการจะนำเสนอทางออกทางเลือกหรือวิจารณ์การทำงานโดยที่ผู้บริหารประเทศยังไม่ได้ทำอะไร ก็จะถูกกล่าวหาได้หลายแบบ ไม่ว่าเป็นพวกรู้ดีทุกเรื่อง เป็นพวกนักจับผิด เป็นพวกที่มีอคติกับรัฐบาลและถ้าพูดผิดประโยคจะกลายจะเป็นพวกที่ไม่ยอมรับการปองดอง ฯลฯ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาได้อ่านและติดตามผลการแถลงข่าวของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ได้ประกาศให้ผู้คนอพยพออกจากพื้นที่ อำเภอคลองหลวง อำเภอลำลูกกา อำเภอบางปะอิน เขตสายไหมและเขตดอนเมือง ทั้งระบุว่า

“ไม่ต้องตกใจครับ แต่ให้รีบเก็บของ บ้านสองชั้นย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง ส่วนผู้ที่อยู่บ้านชั้นเดียว ขอให้อพยพออกนอกพื้นที่” และนายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)ได้ย้ำกับว่าประชาชนไม่ต้องหวั่นวิตก ยังมีเวลาเตรียมตัว 7 ชั่วโมง ซึ่งหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม2554 รายงานต่อไปอีกว่า หลังทั้งสองแถลงเสร็จ ประชาชนแตกตื่นกันยกใหญ่ เร่งรีบกลับบ้าน ในเมืองเงียบเหงาถนัดตา แต่ทางออกจากเมืองรถติดกันขนานใหญ่ มีคนนำรถหนีน้ำไปจอดบนทางด่วนโทลล์เวย์มากราว 300 คันและเวลาอีกครึ่งชั่วโมงต่อมา พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก ประธาน ศปภ.นำคณะชุดใหญ่มาแถลงกลับลำว่า ประชาชนเขตนั้นไม่ต้องอพยพแล้ว

การสร้างข่าวที่ไม่ได้กรองข้างต้น การแถลงข่าวกลับไปกลับมาของคนระดับรัฐมนตรีทำให้ประชาชนสับสน กลายเป็นสร้างความโกลาหล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีระบบข้อมูลที่ดี ไม่มีการประสานงานที่ดี ไม่มีการสื่อสารที่ดีที่มีระบบทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือในการบริหารของรัฐบาล ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมลำบากมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและรัฐมนตรีสมัครเล่นต้องรีบสรุปเป็นบทเรียนก่อนความเสียหายที่เกิดต่อประเทศโดยรวมดังต่อไปนี้

1.การขาดการรับฟัง การเตือนภัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกภัยอย่างคุณสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เคยเตือนแล้วว่า ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. จะเกิดพายุขนาดใหญ่พัดถล่มด้านอ่าวไทย แม้จะไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็เกิดพายุโซนร้อนอย่างน้อย 2 ที่ถล่มซัดจากมหาสมุทรแปซิฟิคทำให้ไทยได้รับผลกระเทือนในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ด้วย ทั้งคุณสมิทธยังชี้ให้เห็นว่าน้ำท่วมที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการไม่ยอมปล่อยน้ำในเขื่อนระยะแรก เมื่อฝนตกหนักมากแล้วจึงปล่อยน้ำ จึงทำให้เกิดมวลน้ำมากกว่าปกติที่แม่น้ำต่างๆเคยรับได้

2.การขาดคำอธิบาย การให้ข้อมูลในเชิงจิตวิทยาที่ดีในภาวะวิกฤติ ซึ่งต้องพูดแล้ว ไม่ทำให้คนจิตตกหรือประสาทเสีย ซึ่งเปรียบเทียบดูได้จากกการแถลงข่าว ของคุณปลอดประสพ สุรัสวดี ที่บอกว่าประตูระบายน้ำบ้านพร้าวแตก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้คนอพยพทำให้คนรับฟังเกิดอาการประสาทเสีย แต่พอหันมาฟังคำสัมภาษณ์คุณปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานตอบแบบให้คนสบายใจ ไม่ประสาทเสียว่า “หากน้ำทะลักจากประตูระบายน้ำที่คลองบ้านพร้าวบ่าเข้ามาพบกับคลองเปรมประชากร น้ำก็จะออกคลองรังสิตลงเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถไฟสายเหนือ ถนพหลโยธินเป็นแนวกั้นไม่ให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน ถึงน้ำบ่าก็มีทุ่งรังสิตและคลองเชียงรากน้อยระบายออกทะเลฝั่งตะวันออก”

3. รัฐบาลไม่กล้าเข้าไปจัดการปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข อย่างที่คุณสุทัศน์ วีรกุลนักวิชาการสถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชียเปิดเผยว่า “รัฐบาลไม่กล้าที่จะเข้าไปจัดการกับนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้ปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของนักการเมืองหน้ากระสอบทราย คนที่รับผิดชอบไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ซึ่งมีผลทำให้กรมชลประทานไม่สามารถทำงานได้ตามแผน” (จาก กรุงเทพธุรกิจ 19/10/54)

4. รัฐบาลขาดความเข้าใจในภาพรวมของการถ่ายเทน้ำหรือเข้าใจแต่ไม่ได้เข้าไปแก้ไข ซึ่งสะท้อนได้จากมุมมองของ ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังว่า “สาเหตุที่น้ำในคลองประเวศบุรีรมย์เพิ่มสูงขึ้น เกิดจากประตูระบายน้ำคลองพระโขนงไม่เปิดเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเกรงจะกระทบพื้นที่กรุงเกทพชั้นใน ขณะที่การระบายน้ำผ่านคลองด่านด้านสมุทรปราการก็มีปัญหาด้านศักยภาพของเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งขยะลอยและขยะจม” (จาก กรุงเทพธุรกิจ 19/10/54) ซึ่งการขาดความเข้าใจที่จะต้องเอาน้ำออกไปให้มากก่อน แทนที่จะกลัวปัญหาที่มาไม่ถึง อย่างคลองพระโขนงอยู่ปลายกรุงเทพฯ ไปทางสมุทรปราการแล้ว ปล่อยน้ำบ้างจะเป็นไร หรือปัญหาเครื่องสูบน้ำที่แม่น้ำบางปะกงที่เป็นข่าวว่ามี 8 เครื่อง เปิดใช้ได้แค่ 3 เครื่องเนื่องจากไม่มีน้ำให้ผันลงทะเล อย่างนี้เป็นความเสียหายที่ไม่น่าให้เกิด

5. รัฐบาลและผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ขาดการทำงานแบบร่วมมือผสานการแก้ปัญหา อย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตรประกาศอย่างชัดแจ้งว่าให้ฟังคำสั่งจากตนเป็นคำตอบสุดท้ายเท่านั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลนี้มีน้ำยาอะไรไปสั่งการหรือแก้ไขในวงนอก ซึ่งการขาดความร่วมมือของนักการเมืองหรือการไม่ใส่ใจในรายละเอียดต่างๆที่เป็นปัญหาจากนักการเมืองระดับชาติ จากนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาหมกเม็ด ทับถมที่ประชาชนคนไทยควรได้รับรู้อย่างการบำรุงรักษาคลองหรือการขุดลอกคลอง ปกติคลองหลักกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการในทุก ๆ 3 ปี แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ (ตามข้ออ้างของกทม./ผู้เขียน) จึงทำให้การบำรุงรักษาคลองต้องมีระยะเวลารอบของการบำรุงรักษายาวขึ้นเป็นเกินกว่า 5 ปีต่อครั้ง ซึ่งก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของการระบายน้ำลดลง ส่วนการบำรุงรักษาคลองตามแผนงานกรุงเทพมหนคร ต้องใช้เงินในการบำรุงรักษาคลองต่อปีประมาณ 650 ล้านบาท (ขุดลอกทุก ๆ 3 ปี) แต่ข้อเท็จจริงปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีงบประมาณบำรุงรักษาคลองหลัก ปีละประมาณ 30 ล้านบาทเท่านั้น

เมื่อได้อ่านรายงานของกทม. ทำให้นั่งทบทวนว่ากรุงเทพมหานครทำงาน 3 ปีใช้เงิน 90 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการทำงานเต็มตามงบประมาณ 650 ล้านบาท ก็ทำงานได้แค่ 1 ใน 7 ของงานตามงบประมาณเท่านั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่าบรรดาคูคลองในกรุงเทพฯ ต่างตื้นเขิน รับน้ำได้แบบตามมีตามเกิด และไม่สามารถช่วยรับน้ำในวิกฤติการน้ำท่วมครั้งนี้ได้ จึงไม่รู้ว่าปัญหานี้ใครกล้าแสดงความรับผิดชอบบ้าง

จากข้อความ 5 ประเด็นข้างต้น ผู้เขียนหวังว่าพอจะสะท้อนให้ผู้อ่านได้ร่วมกันคิดต่อเติมได้บ้าง ด้วยปัญหาบ้านเมืองของเรานั้น กำลังท่วมเหมือนน้ำ ที่จำเป็นต้องทบทวนการแก้ไขปัญหาในอนาคตทั้งขบวน รวมทั้งการยอมรับความจริงที่เกิดเป็นคนไทยใน พ.ศ.นี้ต้องรู้จักคิดเป็นเชิงบวก อย่างการไม่กลัวการแก้ปัญหาเพราะว่าปัญหามีไว้ให้แก้ รวมทั้งขอฝากข้อคิดจากทวิตเตอร์ของหนูดี (วนิษา เรซ) ที่ว่า

“น้ำท่วมไม่น่ากลัว กลัวอย่างเดียว.....ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายทั้งหมด”

กำลังโหลดความคิดเห็น