xs
xsm
sm
md
lg

"ปู-ผบ.ทบ." ตรวจแนวกั้นน้ำศิริราช เตรียมวางแผนอพยพผู้ป่วยแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“นายกฯ” พร้อม "ยุทธศักดิ์-ประยุทธ" ตรวจความพร้อมแนวคันกั้นน้ำเกาะรัตนโกสินทร์-โรงพยาบาลศิริราช คณบดีฯ ศิริราช เผยกักตุนยาไว้บ้างแล้ว แต่ใช้ได้ 1 เดือน วางแผนอพยพผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินทางน้ำไปยัง 4 โรงพยาบาลแล้ว "ยิ่งลักษณ์" ชมโมเดลศิริราชดูแลพื้นที่ดี จ่อใช้เป็นแผนเฝ้าระวังสถานที่ราชการ แต่ย้ำต้องเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ลั่นปกป้องพื้นที่สีลมเขตเศรษฐกิจ ฝากประชาชนเฝ้าระวังคันกั้นน้ำ สั่งผบ.ทบ.นำเรือยางติดเครื่องยนต์ 3 พันลำช่วยผู้ประสบภัย หลังจากจีนบริจาคช่วย



เมื่อเวลา 14.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ผู้บัญชาการทหารบก ตรวจดูความพร้อมคันกั้นน้ำริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าราชวรดิษฐ์ เพื่อรับฟังแผนการป้องกันน้ำในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเขตพระราชฐานต่างๆ จากนายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง และ พ.อ.ธรรมนูญ วิถี ผู้อำนวยการกองยุทธการ กองทัพภาคที่ 1

โดย พ.อ.ธรรมนูญ กล่าวว่า ได้วางแนวทางการป้องกันพื้นที่โดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 4 ขั้น คือ 1.การป้องกันพื้นที่ภายใน และภายนอกเขตพระราชฐาน โดยใช้กระสอบทรายจำนวน 4 หมื่นกระสอบ 2.การรับมือกรณีน้ำสูงเกิน 80 ซม. 3.แผนการอพยพประชาชนในพื้นที่ 4.การกอบกู้และฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งในขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในระดับต่ำว่าแนวกระสอบทรายประมาณ 1 เมตร

จากนั้นคณะของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปยังท่าน้ำศิริราช รพ.ศิริราช เพื่อตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ พร้อมรับฟังแผนการอพยพผู้ป่วยหากไม่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำได้ และฟังบรรยายสรุปจากศ.นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดินพูดคุยกัน ศ.นพ.ธีรวัฒน์ ได้แจ้งนายกฯว่า รพ.ศิริราชได้กักตุนยาเวชภัณฑ์ไว้มากพอ แต่สามารถใช้ได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น จึงขอการสนับสนุนจากนายกฯเรื่องยา ทั้งนี้ทางรพ.ได้เตรียมแผนอพยพผู้ป่วยทางน้ำไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ได้แก่ รพ.สิริกิติ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี, รพ.หัวหิน, รพ.ราชบุรี และ รพ.กาญจนบุรี ขณะที่รพ.ศิริราชได้เปิดหอพักเพื่อรองรับผู้ประสบภัยมาพักอาศัยได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนกว่า 500 คน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อฟังบรรยาสรุปเสร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทาง กลับศปภ.ท่าอากาศยานดอนเมืองทันที

ต่อมาเวลา 16.00 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่ศปภ.ท่าอากาศยานดอนเมือง ว่า รพ.ศิริราช ค่อนข้างมีความพร้อมเพราะมีแผนตามลำดับอยู่แล้ว โดยเฉพาะแนววัดระดับน้ำถือว่าเป็นโมเดลที่ดีอาจจะนำไปประยุกต์ใช้กับส่วนอื่น ๆ ด้วย ถ้าดูจากแนวแล้วมีการป้องกันทั้งแนวข้างนอกประมาณ 3 เมตร และชั้นในกองทัพเรือได้สร้างแนวไว้ตามตึกที่สำคัญๆ อีก 3.5 เมตรก็น่าจะสบายใจ และจะไปดูและขยายผลในส่วนอื่น ๆ ว่าในแต่ละจุดมีการดูแลแข็งแรงหรือเปล่า ซึ่งสถานที่สำคัญของราชการจะพยายามให้แต่ละกระทรวงรักษาพื้นที่ของตัวเอง ถ้าต้องการความช่วยเหลืออะไรศปภ.จะให้ความร่วมมือไป แต่ที่ห่วงคือการดูแลประชาชน เพราะตามประตูน้ำต่างๆ ที่เป็นจุดหลักทั้งฝั่ง ริมน้ำเจ้าพระยา ใต้แนวคันพระราชดำริประตูจุฬาลงกรณ์ และเขตสายไหมที่ยังมีน้ำรั่วซึม แต่ตรวจสอบทุกพื้นที่แล้วยังพยายามที่จะป้องกันดูแลแนวคันกั้นน้ำนั้นอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ากทม.น้ำท่วมจุดหนักที่สุดจะเป็นจุดใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า น่าจะเป็นฝั่งขวาทางตะวันออกของกทม.ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและน้ำจากรังสิตมี ปริมาณสูง แต่ถ้ากทม.ระดมสูบระบายน้ำได้ก็น่าจะบรรเทาทุเลาลงไปได้ แต่อยากให้ฟังข้อมูลดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ ได้ชี้แจงไป ส่วนพื้นที่เศรษฐกิจ อย่าง ย่านสีลมเราพยายามป้องกันทุกส่วน เราอยากให้สังเกตดูตามแนวกั้นน้ำว่าถ้าระดับน้ำทะเลสูงใกล้กับระดับแนวกั้น น้ำก็อาจจะมีปัญหา ขอความกรุณาประชาชนช่วยดูแลตรวจตราแนวพนังกั้นน้ำถ้าถูกดึง ส่วนใดส่วนหนึ่งรั่วอาจจะทำให้ทะลักได้

ต่อข้อถามว่า ในช่วงบ่ายระดับน้ำหน้าอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่ตั้งของศปภ.สูงขึ้น ถึงเวลาจะย้ายศูนย์บัญชาการศปภ.หรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังต้องขอดูอีกครั้ง เพราะอยากให้ย้ายศูนย์พักพิงไปก่อน ถ้าศปภ.ไปก่อนก็ยังเป็นห่วงประชาชนที่มาพักพิงอยู่ วันพรุ่งนี้(27 ต.ค.)น่าจะย้ายออกได้หมด อาจจะเหลือบางส่วนที่จำเป็น แต่จำนวนไม่มาก ศปภ.อยู่ชั้น 2 คงไม่มีปัญหา แต่อาจจะมีปัญหาของเจ้าหน้าที่เราอาจจะจัดที่พักไว้ให้ และเส้นทางคมนาคมเรายังใช้ทางด่วนโทลเวย์ได้ แต่หากจะย้ายจะมีเฉพาะอุปกรณ์ และระบบมากกว่าการเคลื่อนย้ายน่าจะใช้เวลาติดตั้งระบบ 1-2 วัน แต่ไม่ว่าปริมาณน้ำเข้ามาอย่างไรอาคารชั้น 2 ของศปภ.ทำงานได้อยู่ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาลำบากเราอาจจะไปดูแลเรื่อง การรับ-ส่งเจ้าหน้าที่ โดยจะให้ไปจอดรถรวมกัน และที่เรามองอีกวิธีคือการวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากแต่ละที่ก็ทำได้ การประสานงานยังทำได้เหมือนเดิมไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน แต่ว่าถ้านั่งรวมศูนย์การตัดสินใจจะเร็วขึ้นแทนที่จะใช้การโทรศัพท์ติดต่อกัน

เมื่อถามว่า เหตุผลที่ไม่ย้ายศปภ.เพราะอะไรเป็นเพราะกลัวเสียหน้าทางการเมืองหรือ ไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ไม่ค่ะ ไม่กลัว วันนี้ไม่มีเรื่องการเมืองที่จะมาเสียหน้า แต่ว่าเนื่องจากการย้ายเราต้องไปหาที่ย้ายและทำงานได้ และเป็นสถานที่ที่ทุกคนเข้าไปทำงานได้สะดวกด้วย"

ต่อข้อถามว่า ช่วงวันหยุดพิเศษ 27-31 ต.ค.นายกฯหวังให้ประชาชนเฝ้าระวังอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คาดหวังว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยากให้ไปใช้ชีวิตพักผ่อนช่วงวันหยุดที่ต่างจังหวัด ซึ่งจะทำให้การดูแลต่างๆปลอดภัย เพราะช่วงน้ำทะเลหนุนสูง แต่สำหรับประชาชนที่อยู่ในกทม.จะได้จัดการยกระดับของมีค่าต่างๆ นั้นขึ้นสู่ที่สูง แต่เราไม่แนะนำบ้านชั้นเดียวเพราะเมื่อน้ำเข้าระบบไฟฟ้าที่ตัดและเข้าไปดูแลลำบาก ถ้าบ้านสองชั้นจะอยู่ชั้นสองได้แต่การเดินทางอาจจะใช้ทางเรือ

เมื่อถามว่า ทางกทม.บอกว่าจะบีบให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่อาจจะมีน้ำท่วมสูงออกจากพื้นที่ โดยการตัดน้ำตัดไฟฟ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ เรื่องแผนอพยพต่างๆ กทม.เป็นหลักเราร่วมทำงานสนับสนุน เมื่อถามว่า วิธีตัดน้ำตัดไฟฟ้าให้คนอพยพออกจากบ้านเหมาะสมหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้แล้วแต่วิธีมันต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ถ้าท่วมสูงประมาณ 1 เมตรกว่า โดยเฉพาะหากมีผู้สูงอายุอยู่ก็เป็นห่วง แต่ขึ้นอยู่กับการบริการดูแลประชาชน ข้อเท็จจริงในต่างจังหวัดมีประชาชนจำนวนมากก็ไม่ยอมออกจากพื้นที่ แต่ต่างกับกทม.เพราะต่างจังหวัดชินในการใช้เรือสัญจรไปมาถ้าเราดูแลเรื่อง เรือ น้ำดื่ม อาหารให้ก็อยู่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ระหว่างที่นายกฯ เดินพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ ในระหว่างตรวจคันกั้นน้ำที่ท่านน้ำราชวรดิษฐ์ นายกฯ ได้ให้ผบ.ทบ.นำเรือยางติดเครื่องยนต์ ที่ได้รับการบริจาคจากประเทศจีนมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 3,000 ลำ

วันเดียวกัน ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณะภัยกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยม และให้โอวาทแก่กำลังพลของ กองทัพเรือ ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่กำลังพลของกองทัพเรือ

โดยพล.ร.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกห่วงใยต่อผู้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่จึงได้ระดมสรรพกำลัง และยุทโธปกรณ์ เข้าให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง และสามารถระดมกำลังเพิ่มเติมได้อีกตามความจำเป็นของพื้นที่ โดยให้หน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมของกำลังพล เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที โดย ในวันนี้กองทัพเรือได้จัดรถยนต์บรรทุกจากฐานทัพเรือกรุงเทพ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เรือท้องแบนจากกรมการขนส่งทหารเรือ พร้อมด้วยกำลังพล ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นสูงบริเวณ สะพานอรุณอมรินทร์ ห้างพาต้าปิ่นเกล้า สะพานพระราม 8 ที่ต้องสัญจรไปมายัง โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่กองทัพเรือ ได้รายงานว่า ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงช่วงปลายเดือนตั้งแต่วันที่ 26-31 ต.ค.นี้ โดยในวันที่ 26 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 16.30 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.50 เมตร ในวันที่ 27 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 17.00 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.63 เมตร ในวันที่ 28 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 17.35 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.60 เมตร ในวันที่ 29 ตค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 18.20 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.66 เมตร ในวันที่ 30 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 19.00 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.63 เมตร และในวันที่ 31 ต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงในเวลา 19.30 น. โดยจะมีน้ำขึ้นถึง 3.58 เมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น