xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! พบชาวบ้านเสี่ยงฆ่าตัวตาย 878 ราย - สธ.ส่งทีมสุขภาพจิตเข้าศูนย์พักพิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (แฟ้มภาพ)
“ต่อพงษ์” เผย ส่งทีมสุขภาพจิตเข้าศูนย์พักพิง 17 ทีม รับคนป่วยรวมกว่า 1.7 แสน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 878 คน วอนชาวบ้านพื้นที่เสี่ยงภัยอพยพ อย่ากังวลข่าวสาร ใช้แผนอนามัยคลายทุกข์ดูและสุขาภิบาล พร้อมยุทธศาสตร์อึดฮึดสู้ ยันเวชภัณฑ์พอใน 2 เดือน เร่งเพิ่มยาแก้น้ำกัดเท้า

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ประสบอุทกภัยในขณะนี้ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมนำสุขภาพจิตเข้าไปติดตามผล และดำเนินการตามศูนย์พักพิงต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 17 ทีมๆละ 10 คน ประกอบด้วย นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่องสุขภาพสำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยจะเน้นในเรื่องของกิจกรรมที่จะเข้ามาเยียวยา แต่เนื่องจากศูนย์พักพิงที่รัฐบาลได้จัดเตรียมไว้มีจำนวนมาก ดังนั้นเราจำเป็นต้องเลือกเข้าไปยังศูนย์ที่ร้องขอมาก่อน เพื่อให้เราเข้าไปบำบัดเยียวยา และหากว่าศูนย์ใดพบว่ามีผู้อยู่ในภาวะตึงเครียด เรากจะเข้าไปเยียวยาอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนักวิชาการที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมไปถึงศิลปินดารา และพระสงฆ์ ก็สามารถบูรณาการร่วมกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะปัญหาอุทกภัยในขณะนี้

เมื่อถามว่า ตัวเลขจำนวนผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ต่อสถานการณ์น้ำใน กทม.ที่กำลังวิกฤติ นายต่อพงษ์ กล่าวว่า เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่หากคิดเป็นร้อยละ ถือว่าเพิ่มไม่มาก โดยขณะนี้มีผู้ป่วยแล้วกว่า 1.7 แสนคน แบ่งเป็นผู้มีความเครียดสูง 5,200 คน ภาวะซึมเศร้า 6,200 คน กลุ่มที่ต้องติดตามดำเนินการอย่างใกล้ชิด 1,356 คน และผู้อยู่ในภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย 878 คน เพิ่มจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย ในส่วนนี้ถือว่ายังไม่ทวีคูณ โดยต้องเข้าใจว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ขยายออกเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อรัฐบาลนำคนอพยพออกจากบ้านหรือพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแล้ว ก็ต้องช่วยกันในการจัดกิจกรรมเพื่อเยียวยา รวมทั้งต้องส่งนักสุขภาพจิตเข้าไปให้คำแนะนำกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เครียดสูง และเสี่ยงฆ่าตัวตาย

“ขอวิงวอนประชาชนที่ยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพที่ทางรัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้ เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ทั้งอุปโภคและบริโภคจะมีความพร้อมมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยลดความตึงเครียดให้กับประชาชนได้ส่วนหนึ่ง และขอให้ประชาชนเลือกติดตามข่าวสารอย่างไม่วิตกกังวล รวมทั้งอย่าพยายามอยู่ตามลำพังเพียงคนเดียว ควรจับกลุ่มมีเพื่อพูดคุย เพราะจะช่วยลดภาวะความตึงเครียดได้ส่วนหนึ่ง” นายต่อพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการในการดูแลสุขอนามัยของผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิง นายต่อพงษ์ กล่าวว่า สำหรับกระทรวงสาธารณุข โดยกรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต จะใช้วิธีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยกรมอนามัยจะใช้ยุทธศาสตร์ “อนามัยคลายทุกข์” เพื่อดูแลในเรื่องสุขอนามัย และสุขาภิบาล รวมทั้งการตัดตอนการแพร่กระจายของโรคระบาดต่างๆ โดยล่าสุดยังไม่ได้รับรายงานการแพร่กระจายของโรคระบาด ส่วนกรมสุขภาพจิตจะขับเคลื่อนด้วยการใช้ยุทธศาสตร์ “อึด ฮึด สู้ เดี๋ยวก็ผ่านไป”

เมื่อถามว่า ได้มีการเตรียมมาตรการสำรองยารักษาโรคไว้อย่างไรบ้าง นายต่อพงษ์ กล่าวตอบว่า ในเรื่องยารักษาโรค และเวชภัณฑ์ ยังเชื่อว่า มีปริมาณเพียงพอภายใน 2 เดือนนี้ แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้สิ่งที่ยังขาดอยู่ทางกระทรวงก็ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เช่นในส่วนของยารักษาน้ำกัดเท้าที่ต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 6 สัปดาห์นี้ จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมแผ่ขยายออกเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยหากผลิตได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์จะลำเลียงออกมาใช้ทีละ 20 เปอร์เซนต์ เพื่อดูแลให้ทั่วถึง แต่ยังมีความเป็นห่วงประชาชนที่ยังไม่อพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วมเท่านั้น

ส่วนกรณีการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคต่างที่เกิดขึ้นในภาวะน้ำท่วมนั้น นายต่อพงษ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ปัญหาอุทกภัยมีจำนวนมาก แต่หากถามว่าเพียงพอหรือไม่ คงต้องบอกว่าไม่เพียงพอ แต่ถ้าจัดความถี่และเขาถึงผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้มากที่สุด ก็จะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้กระทรวงของความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น