xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม3แสนล้านกู้วิกฤตน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.อัด 3.25 แสนล้าน ฟื้นฟูน้ำท่วม ช่วยหมดรายใหญ่ รายเล็ก รายจิ๋ว ยันพ่อค้าแม่ค้า เน้นให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเห็นชอบ 10 มาตรการกู้อุตสาหกรรมจมน้ำ สรุปล่าสุด โรงงานพังเกือบหมื่นโรง เสียหายกว่า 8 แสนล้านบาท คนงานเคว้ง 6.6 แสนคน เฉพาะ 7 นิคมฯ ใหญ่เจ๊ง 2.37 แสนล้าน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วานนี้ (25 ต.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการทางการเงินเพื่อรองรับการเยียวยาฟื้นฟูของภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนขบวนการเศรษฐกิจ วงเงินทั้งหมด 325,000 ล้านบาท โดยแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ประกบการขนาดจิ๋ว รวมแม่ค้าพ่อค้า

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ วงเงิน 65,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือเรื่องการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เขตอุตสาหกรรมบางเขต ซึ่งระยะใกล้ต้องมีการเร่งสร้างเขื่อนกันอุทกภัยที่มาตรฐานให้ทันในฤดูกาลหน้า จัดให้มีสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบอุตสาหกรรม วงเงิน 15000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารออมสิน โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิค) ยินดีให้ความช่วยเหลือโดยจะนำเงินมาฝากในธนาคารพาณิชย์ของไทยเพื่อให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการในไทยที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น วงเงิน 50,000 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ ยังมีมาตรการช่วยเหลืออีก 2 ด้าน คือ ขยายสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการลงทุน จะเป็นผู้พิจารณา และจะมีการอำนวยการด้านวีซ่า ใบอนุญาตให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่จะเข้ามาซ่อมบำรุงเครื่องจักเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว

ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 170,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินสนับสนุนอีก 3 วงเงิน คือ จะมีการปล่อยวงเงินสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ วงเงิน 120,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน จากที่ค้ำประกันร้อยละ 15 ขยายเป็นร้อยละ 30 ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำ 3 ปี และคิดดอกเบี้ยพิเศษไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี คงที่ 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยกระทรวงการคลังให้ธนาคารออมสินผ่านธนาคารพาณิชย์ 2 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 0.01 ต่อปี โดยธนาคารพาณิชย์ต้องนำเงินของตนเองมาสมทบอีก 2 หมื่นล้าน รวมเป็น 4 หมื่นล้าน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ3 ต่อปี คงที่ 3 ปี สำนักงานประกันสังคมจะนำเงิน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อฝากธนาคารให้มีการปล่อยสินเชื่อที่ขึ้นทะเบียนกับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม

สำหรับผู้ประกอบการขนาดจิ๋วรวมแม่ค้าพ่อค้า วงเงิน 90,000 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว ธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ผู้ประกอบการแบบกลุ่ม 2 หมื่นล้าน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปล่อยสินเชื่อเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูบ้านอีก 3 หมื่นล้าน และธกส.ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร และสหกรณ์อีก 3 หมื่นล้าน นอกจากนี้ ประกันสังคมยังได้เตรียมเงินพิเศษไว้อีก 1 หมื่นล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการกู้เพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการอีก 2,000 ล้านบาท และผู้ประกันตนกู้อีก 8,000ล้านบาท

***เห็นชอบ10มาตรการฟื้นอุตสาหกรรม

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้เสนอให้ครม. พิจารณามาตรการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม จำนวน 10 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้แก่ 1.ให้ชะลอการชำระค่าสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์จนกว่าจะสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติ 2.เสนอให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ และสินค้า ออกจากคลังสินค้าและพื้นที่ประสบภัย 3.มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่จะเข้าไปโจรกรรมสินค้าหรือสิ่งของมีค่าในพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ 4. เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามการจ่ายสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย

5.เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อำนวยความสะดวกและออกใบอนุญาตทำงานให้แก่ผู้ชำนาญการชาวต่างประเทศ รวมไปถึงการระดมผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศเพื่อร่วมกันซ่อมแซมและติดตั้งเครื่องจักรและสาธารณูปโภคต่างๆ 6.ให้กระทรวงการคลัง ออกประกาศยกเว้นการจัดเก็บอากรขาเข้าเครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ในการซ่อมแซมฟื้นฟูโรงงานต่างๆ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นผู้ให้การรับรองความเสียหายของโรงงานเหล่านั้น 7.เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลนรถยนต์ของผู้บริโภคในประเทศจากการที่โรงงานผลิตในประเทศจากน้ำท่วม จึงได้เสนอให้กระทรวงการคลังงดเว้นการจัดเก็บอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนที่จำเป็นในการประกอบ ตามอัตราที่เหมาะสม

8.พิจารณาออกมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโอทอปทั่วประเทศ ด้วยวงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท 9.สนับสนุนให้แรงงานกว่า 6.6 แสนคนได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ได้รับการฝึกอาชีพ หรืออบรมฝีมือแรงงานระยะสั้น รวมไปถึงส่งแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการบุคลากร ในระหว่างที่นายจ้างยังไม่สามารถประกอบกิจการได้ และ 10.เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และนิคมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ในการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2.5 แสนล้านบาทนั้น จะมีการนำวงเงินมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิค) และกองทุนประกันสังคม โดยจะคิดดอกเบี้ยในอัตรา 3% เป็นระยะเวลา 3 ปี และหลังจากปีที่ 4 ให้คิดในอัตราลอยตัวตามสภาพตลาด

นพ.วรรณรัตน์กล่าวว่า ยังได้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการงดเว้นเก็บรายได้จากกำไรสุทธิประจำปีจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ต่อไป อีกทั้งในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้พิจารณาสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าลงทุนใหม่ หรือฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเสียหาย อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระยะแรก โดยคาดว่าบอร์ดบีโอไอเร่งพิจารณาภายในสัปดาห์นี้

“มาตรการต่างๆ ที่เสนอไปนั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และผู้ประกอบการ ที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฟื้นฟูและเยียวยาด้านเศรษฐกิจจะเป็นผู้ติดตามมาตรการต่างๆ เหล่านี้อีกครั้ง” นพ.วรรณรัตน์กล่าว

***โรงงานหมื่นโรงพังเสียหาย8แสนล้าน

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมความเสียหายภาคอุตสาหกรรมจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นว่า ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 9,859 โรงงาน มูลค่าการลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท ครอบคลุมเขตอุทกภัยร้ายแรงจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี นนทบุรี และปทุมธานี ทำให้มีผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบกว่า 6.6 แสนคน รวมถึงได้สร้างความเสียหายให้แก่เครื่องจักร วัตถุดิบ และสินค้าคงคลังอีกเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะใน 7 นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ นิคมสหรัตนคร นิคมไฮเทค นิคมบางประอิน นิคมโรจนะ นิคมแฟคตอรี่แลนด์ นิคมนวนคร และนิคมบางกระดี มีจำนวนโรงงานได้รับความเสียหาย 838 โรง จำนวนคนงาน 3.82 แสนคน มูลค่าความเสียหายโดยตรงกว่า 237,410 ล้านบาท โดยในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ประกอบการได้มีการทำประกันภัย แต่ยังไม่สามารถระบุประเภทความคุ้มครองได้รวม 396 ราย วงเงินประกันรวม 257,589 ล้านบาท และใน จ.ปทุมธานี จำนวน 249 ราย วงเงินรวม 199,185 ล้านบาท

สำหรับผลกระทบทางอ้อมต่อมูลค่าการผลิตของปี 2554 เบื้องต้นจากการประเมินคาดว่ามูลค่าการผลิตจะลดลงในไตรมาสที่ 4 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.28 แสนล้านบาท ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมในปี 2554 ลดลง 1.9% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัว 2-3% เหลือ 0.1-1.1% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการฟื้นฟูความเสียหายว่าสามารถทำได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ ซึ่งหากฟื้นฟูได้ช้าอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องอีกมาก

***สว.รสนาจี้ช่วยทุกภาคส่วนให้เท่าเทียมกัน

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงมาตรการที่จะฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยหนึ่งในหลายมาตรการ คือ ให้รัฐบาลซื้อนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถฟื้นฟูกิจการต่อได้ ว่า หากรัฐบาลมีมาตรการดังกล่าว ควรคำนึงถึงความเท่าเทียมของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม อาทิ เกษตรกร และประชาชน เพราะบุคคลดังกล่าวได้รับผลกระทบและใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากเช่นกัน ทั้งนี้ ตนขอค้านหากรัฐบาลเตรียมที่จะแก้ไขปัญหาของภาคอุตสาหกรรม ก่อนจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ทะลักเข้ามาในพื้นที่กทม. เพราะตนเชื่อว่าหากรัฐบาลใช้วิธีแบบตั้งรับแบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้ กทม.จะถูกน้ำท่วมแน่นอน อีกทั้งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย และในที่สุดประเทศจะล้มละลาย จนไม่มีเงินที่จะไปฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม ตามที่รองนายกฯ กำหนดเป็นมาตรการ
กำลังโหลดความคิดเห็น