xs
xsm
sm
md
lg

นวนครทยอยปิดโรงงาน 6นิคมเงินประกัน4แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "วรรณรัตน์"ตรวจพื้นที่นิคมฯนวนครพบระดับน้ำสูง 4.5 เมตร ปิดโรงงานไปแล้ว 10%ของทั้งหมด 227 โรง เร่งระบายน้ำออกหวั่นคันดินต้านรับไม่ไหว ส่วนเขตประกอบการแฟคทอรี่แลนด์ วังน้อยน้ำทะลักปิดแล้ว10โรง "กิติรัตน์" หารือ สศช. แบงก์ชาติ และธนาคารพาณิชย์วันนี้ เพื่อสรุปผลความเสียหายจากน้ำท่วมเพื่อหามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ บีโอไอจ่อยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต คปภ.ชี้โรงงานใน 6 นิคมฯน้ำท่วม มีเงินเอาประกันภัยรวม 4.10 แสนล้านบาท

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนอุตสาหกรรมนวนครและนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จังหวัดอยุธยา วานนี้ (16 ต.ค.) ว่า โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมนวนครปิดไปแล้ว 10%จากจำนวนโรงงานทั้งหมด 227โรง โดยมีระดับน้ำสูง 4.20-4.50 เมตร ซึ่งยังต่ำกว่าแนวคันดินเล็กน้อย จึงต้องเร่งระบายน้ำออก เพื่อป้องกันพื้นที่ไว้

ส่วนสถานการณ์น้ำที่ท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) พบว่าระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว 30 เซ็นติเมตรแล้ว แต่ก็ยังมั่นใจ 100%ไม่ได้ เพราะไม่สามารถประเมินฝนจะตกหรือจะมีน้ำหนุนขึ้นมาเพิ่มอีกหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานแผ่นเหล็กสำหรับกั้นดินสไลด์ (ชี้ท พาย) จำนวน 2,500 แผ่น ความยาวขนาด 500 เมตร เพื่อมาช่วยลดแรงกระแทกน้ำ และจะเสนอให้ตั้งรัฐบาลให้ตั้งกองทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะเวลา 6ปี พร้อมเสนอบอร์ดบีโอไอให้พิจารณาเลื่อนการจัดงานบีโอไอแฟร์ 2011ออกไปจนกว่าจะพร้อม

สำหรับเขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟตทอรี่แลนด์ วังน้อย ที่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ล่าสุดได้รับรายงานว่ามีน้ำซึมเข้าไปในพื้นที่สูง 1.5 เมตรแล้ว ทำให้มีโรงงานปิดไปแล้ว 10โรง จากจำนวนโรงงานทั้งหมด 99 โรง มีแรงงาน 6,000 คน มูลค่าเงินลงทุนรวม 11,000 ล้านบาท

พลเอกวิชา ศิริธรรม ที่ปรึกษาและประธานอนุกรรมการฝ่ายกิจการพิเศษ สวนอุตสาหกรรม นวนคร กล่าวว่า ขณะนี้นวนครสามารถระบายน้ำออกได้เพียง 20% ทำให้มีน้ำขังอยู่ในบริเวณโรงงาน จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองเชียงรากใหญ่ให้มากขึ้น ยอมรับว่าขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ เนื่องจากกลัวว่าจะมีน้ำเข้าไปคลองเปรมและไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯชั้นในที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ จึงอยากให้ รมว.อุตสาหกรรมเป็นตัวกลางชี้แจงข้อเท็จจริงและประสานงานผันน้ำออกนอกนิคมฯให้ได้ 1ใน 3 หากไม่สามารถดำเนินการได้เชื่อว่าภายใน 10 วันคันดินรอบนิคมฯคงรับไม่ได้ สุดท้ายนิคมฯจะเสียหายมากกว่านี้

นางสุจินต์ วาสสนิท ผู้จัดการอาวุโส บริษัทสวนอุตสาหกรรมบางกระดี จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมรับมือกระแสน้ำที่จะไหลมาทางคลองบ้านพร้าวและคลองประปา โดยได้เพิ่มแนวคันดินกั้นน้ำสูงขึ้นเป็น 4.25 เมตร จากระดับน้ำที่สูงประมาณ 1.3 เมตร

**“โต้ง” เรียกประเมินความเสียหาย 17 ต.ค.นี้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเชิญหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ ประชุมร่วมกัน ภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสั่งการ เพื่อสรุปผลการประเมินความเสียหายเบื้องต้น จากสถานการณ์น้ำท่วมที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

อีกทั้ง เตรียมหาแนวทางและมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการผ่อนปรนภาษี หรือการช่วยเหลือภาคแรงงาน

ก่อนหน้านั้น นายกิตติรัตน์ ระบุว่า การประเมินความเสียหายในขณะนี้ยังเป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละโรงงานมูลค่าความเสียหายอาจเกิน 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้การผลิตต้องหยุดชะงัก รวมถึงความเสียหายทางด้านแรงงาน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 65,132 ล้านบาท มีคนงานกว่า 51,186 คน แม้จะมีการเตรียมรับมือกับน้ำที่จะล้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม เล็งออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 6 ปีช่วยโรงงาน

**BOI ช่วยเหลือ 4 นิคมประสบภัย

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มีเงินลงทุนกว่า 167,000 ล้านบาท การผลิตและการส่งออกหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

ทั้งนี้ บีโอไอจะยกเว้นอากรขาเข้า ทั้งการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขอให้บีโอไอช่วยดูแลความปลอดภัยภายในโรงงานที่ถูกน้ำท่วม การเคลื่อนย้ายเครื่องจักรที่ถูกน้ำท่วม และการจ่ายค่าชดเชยของบริษัทประกันภัย รวมทั้งสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้กอบกู้ธุรกิจ

**ประกันภัยชดใช้ 4.1 แสนล้าน

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากคปภ.ภูมิภาค และภาคธุรกิจประกันภัย เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งจ. พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ทั้ง 179 สาขา เป็นบริษัทประกันชีวิต 90 สาขา บริษัทประกันวินาศภัย 89 สาขา ปิดทำการชั่วคราวไป 16 สาขา เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูง สาขาบริษัทส่วนใหญ่ยังเปิดให้บริการตามปกติ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรม6 แห่ง ได้แก่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร สวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี่ และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร มีเงินเอาประกันภัยรวม 410,177 ล้านบาท เป็นมูลค่าเพียง 2.66% ของเงินเอาประกันภัยการประกันภัยทรัพย์สินของทั้งธุรกิจ เบื้องต้นคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด 20,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับเวลาท่วมขัง
โดยบริษัทที่รับประกันภัยในนิคมอุตสาหกรรมสูงสุด 2 ลำดับแรก บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด และบริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทประกันภัยชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายชดใช้ความเสียหายรวดเร็วและยังคงดูแลกลุ่มลูกค้าดังกล่าวต่อไป

**ท่วม รง.กระทบลูกจ้าง 3.5 แสน

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับข้อมูลของสำนักงานแรงงานจังหวัด พบว่า ภาพรวมใน 15 จังหวัดทั่วประเทศมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่า 10,368 แห่งและมีลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 352,025 คน

จ.พระนครศรีอยุธยามีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม 616 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 195,406 คนแยกเป็นนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครมีสถานประกอบการ 49 แห่ง ลูกจ้าง 10,882 คน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะมีสถานประกอบการ 236 แห่ง ลูกจ้าง 99,751 คน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค)มีสถานประกอบการ 143 แห่ง ลูกจ้าง 51,168 คน นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินมีสถานประกอบการ 89 แห่ง ลูกจ้าง 27,590 คน และนิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ วังน้อยมีสถานประกอบการ 99 แห่ง ลูกจ้าง 6,015 คน

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ถูกน้ำท่วม ยังไม่ได้หยุดกิจการและเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังคือ ที่จ.ปทุมธานีได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมนวนครซึ่งมีสถานประกอบการ 227 แห่ง ลูกจ้าง 270,000 คน นิคมอุตสาหกรรมบางกระดีมีสถานประกอบการ 44 แห่ง ลูกจ้าง 12,000 คน รวมทั้งในกรุงเทพฯได้แก่ นิคมลาดกระบังมีสถานประกอบการ2,083 คน ลูกจ้าง 86,965 คน และนิคมอุตสาหกรรมบางชันมีสถานประกอบการ 2,081 แห่ง ลูกจ้าง 48,105 คน

***ถนนเสียหายกว่า 1.6 หมื่นล้าน

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ในจังหวัดสิงห์บุรี ว่า ขณะนี้น้ำยังคงท่วมสูงในหลายพื้นที่และเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายกับถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และถนนของทางหลวงชนบท (ทช.) หลายเส้นทาง ซึ่งเบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายเพื่อใช้ในการซ่อมแซมทางหลวงประมาณ 11,000 ล้านบาท ส่วนทางหลวงชนบท ประมาณ 5,200 ล้านบาทจะเร่งเข้าดำเนินการซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหายทันทีหลังน้ำลดลงแล้ว ทั้งถนนสายหลัก สายรอง

โดยเบื้องต้นหลังน้ำลดจะนำดินไปก่อสร้างทางให้เป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านมีเส้นทางเพื่อใช้ในการสัญจรได้เร็วที่สุดก่อน หลังจากนั้น ทช.จะเข้าไปดำเนินการก่อสร้างถนนราดยางอีกครั้ง เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

"ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมทางหลวงชนบทรีบดำเนินการซ่อมทางที่ขาด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างเร่งด่วนและวางแผนป้องกันในระยะยาวโดยจะยกระดับถนนเลียบคลองให้สูงขึ้นอีก1เมตร เพื่อให้ถนนเป็นเสมือนเขื่อนกั้นน้ำถาวรในอนาคต แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาประกอบกับงบประมาณด้วยว่าจะเพียงพอหรือไม่" พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าว

***บขส.ปรับเส้นทางสายเหนือยังเดินรถปกติ

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ในถนนสายสำคัญหลายเส้นทาง ส่งผลให้ บขส. จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถไปสู่ภาคเหนือใหม่ จากเดิมที่หลีกเลี่ยงไปทางเส้นบางบัวทอง - สุพรรณบุรี - อ่างทอง ไปใช้ เส้นทาง วิ่งออกรังสิต - องครักษ์ - หินกอง สระบุรี -โคกสำโรง ลพบุรี - ตากฟ้า

นครสวรรค์ ไปภาคเหนือ (เช่นเดียวกับรถภาคอีสาน) ขอให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปยังภาคเหนือด้วยรถโดยสารทุกมาตรฐานมาขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 จุดเดียว ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง

พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวว่า การซ่อมแซมคอสะพานประตูระบายน้ำเขื่อนบางโฉมศรี ขณะนี้ได้ซ่อมแซมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีความแข็งแรงสามารถทนแรงดันจากปริมาณน้ำที่มากได้ และสามารถกั้นน้ำได้ประมาณ70% ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากทางประตูน้ำบางโฉมศรีน่าจะอยู่ที่ประมาณ10ล้านลบ.ม. /ชม.
กำลังโหลดความคิดเห็น