xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ทุ่มงบ 3 แสนล้าน ฟื้นฟูภาคธุรกิจ เร่งสร้างเขื่อนให้ทันฝนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล
ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบ 3.2 แสนล้านบาท รองรับแผนเยียวยาฟื้นฟูภาคธุรกิจ หวังช่วยผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-ขนาดกลางและรายจิ๋ว เร่งสร้างเขื่อนให้ทันฝนหน้า



วันนี้ (25 ต.ค.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.ได้อนุมัติมาตรการทางการเงินเพื่อรองรับการเยียวยาฟื้นฟูของภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนขบวนการเศรษฐกิจวงเงินทั้งหมด 325,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบการรายใหญ่ วงเงิน 65,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือเรื่องการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เขตอุตสาหกรรมบางเขต ซึ่งระยะใกล้ต้องมีการเร่งสร้างเขื่อนกันอุทกภัย ที่มาตรฐาน ให้ทันในฤดูกาลหน้า จัดให้มีสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบอุตสาหกรรม วงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารออมสิน โดย เจบิคส์ ยินดีให้ความช่วยเหลือโดยจะนำเงินมาฝากในธนาคารพาณิชย์ของไทย เพื่อให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการในไทยที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น วงเงิน 50,000 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนต่างประเทศขนาดใหญ่ ยังมีมาตรการช่วยเหลืออีก 2 ด้าน คือ ขยายสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการลงทุน จะเป็นผู้พิจารณา และจะมีการอำนวยการด้านวีซ่า ใบอนุญาตให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่จะเข้ามาซ่อมบำรุงเครื่องจักเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว

2.ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 170,000 ล้านบาท คือ มีวงเงินสนับสนุนอีก 3 วงเงิน คือ จะมีการปล่อยวงเงินสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ วงเงิน 120,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม หรือ บสย.เป็นผู้ค้ำประกัน จากที่ค้ำประกันร้อยละ 15 ขยายเป็นร้อยละ 30 ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำ 3 ปีและคิดดอกเบี้ยพิเศษไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี คงที่ 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยกระทรวงการคลังให้ธนาคารออมสินผ่านธนาคารพาณิชย์ 2 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 0.01 ต่อปี โดยธนาคารพาณิชย์ต้องนำเงินของตนเองมาสมทบอีก 2 หมื่นล้าน รวมเป็น 4 หมื่นล้าน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี คงที่ 3 ปี สำนักงานประกันสังคมจะนำเงิน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อฝากธนาคารให้มีการปล่อยสินเชื่อที่ขึ้นทะเบียนกับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม

และ 3.ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วรวมแม่ค้าพ่อค้า วงเงิน 90,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว ธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ผู้ประกอบการแบบกลุ่ม 2 หมื่นล้าน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปล่อยสินเชื่อเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูบ้านอีก 3 หมื่นล้าน และธกส.ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร และสหกรณ์อีก 3 หมื่นล้าน นอกจากนี้ ประกันสังคมยังได้เตรียมเงินพิเศษไว้อีก 1 หมื่นล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการกู้เพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการอีก 2,000 ล้านบาท และผู้ประกันตนกู้อีก 8,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น