xs
xsm
sm
md
lg

2 ขั้วแย่งอำนาจศาลรธน. อ้าง“ชัช”เป็นปธ.รอโปรดเกล้าให้พ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ชิงไหวชิงพริบ 2 ขั้วแย่งอำนาจศาลรธน. “เลขาธิการสำนักงาน” ร่อนหนังสือแจงประชุม 19 ต.ค. ปัดมติ 6 ตุลาการฯเสียงข้างมากอ้างคำสั่ง “ชัช ชลวร” โบ้ย!สื่อลงข่าวเกียร์ว่าง เสียหายร้ายแรงต่อสถาบัน ย้ำ “ชัช”เป็นประธานฯจนกว่าจะได้รับการโปรดเกล้าให้พ้น ด้านวงในตุลาการวิเคราะห์ชัช ยังไม่อยากสูญเสียอำนาจ

วานนี้ ( 25 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งเอกสารชี้แจงเรื่อง ขอแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สำนักพิมพ์ต่างๆ โดยมีสาระสำคัญระบุว่า ตามที่ปรากฎข่าวทางหนังสือพิมพ์บางฉบับเมื่อวันที่ 20 ต.ค.โดยเป็นรายข่าวว่า “การประชุมคณะตุลาการวันนี้( 19 ต.ค.) เป็นไปตามที่คณะตุลาการเสียงข้างมาก 6 คนได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมาให้เลขาธิการฯจัดประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยคดี”นั้น ขอชี้ว่าเป็นการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

อันจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในสาระสำคัญและจะนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อเท็จจริงคือตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 217 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยธุรการ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2542 มาตรา 9 กำหนดให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีเลขาธิการสำนักงานฯเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติดังกล่าว การจัดทำวาระการประชุม และการประชุมคณะตุลาการฯจึงเป็นอำนาจของประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเลขาธิการสำนักงานฯต้องจัดทำตามที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์และความสะดวกร่วมกันของคณะตุลาการฯ มิใช่เป็นไปตามที่คณะตุลาการเสียงข้างมาก 6 คนจะมีคำสั่งให้เปิดประชุมได้

ยังระบุอีกว่า ภายหลังการประชุมหลังสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 54 ศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรมนูญมีภารกิจสำคัญเกี่ยวกับงานพระราชพิธีฯจำนวน 5 โครงการ รวมทั้งงานต่าง ๆในวันที่ 16 ต.ค. ส่วนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ต้องดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและลักษณะของคดีที่ส่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยซึ่งในปัจจุบันมีคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการในศาลรัฐธรรมนูญจำแนกได้ดังนี้ปี 2551 จำนวน 2 เรื่อง ปี 2552 จำนวน 12 เรื่อง ปี 2553 จำนวน 26 เรื่อง และปี 2554 จำนวน 18 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 58 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อศาลรัฐธรรมนูญแจ้งมายังท่านเกี่ยวกับข้อมูลหรือการดำเนินการใด ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ท่านสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงกับเลขาธิการสำนักงานฯได้ทันทีเพื่อความถูกต้องชัดเจนของข่าวสาร

นายเชาวนะได้ให้สัมภาษณ์ชี้แจงอีกครั้งถึงการประชุมของคณะตุลาการในวันที่ 19 ต.ค. ว่าเป็นไปตามหนังสือเชิญประชุมฉบับลงวันที่ 17 ต.ค.ของนายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมอบหมายจากคณะตุลาการฯให้ทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยการประชุมตุลาการฯในวันที่ 19 ต.ค.ถือเป็นครั้งล่าสุด แต่ที่ตามเอกสารชี้แจงระบุว่า หลังการประชุมคณะตุลาการฯครั้งล่าสุดคือวันที่ 5 ก.ย นั้น ก็เพื่อต้องสื่อให้สังคมทราบว่า นับจากวันที่ 5 ก.ย.- 19 ต.ค.นั้นก็เพียงเดือนเศษเท่านั้นที่คณะตุลาการฯไม่ได้มีการประชุม ไม่ใช่ 3 เดือนอย่างที่ปรากฎเป็นข่าว อีกทั้งระหว่างที่ไม่ประชุมตุลาการฯก็มีภารกิจสำคัญที่ต้องปฏิบัติซึ่งเป็นงานในต่างจังหวัด เช่นงานสัมมนา ก็ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งสำนักงานมีน้อย และตุลาการต้องเดินทางไปร่วม ทำให้ไม่อาจจัดประชุมพิจารณาวินิจฉัยคดีควบคู่ไปพร้อมกันได้

ส่วนก่อนการประชุมคณะตุลาการวันที่ 19 ต.ค. ตุลาการฯเสียงข้างมาก 6 เสียงได้มีคำสั่งให้เลขาธิการฯจัดประชุมพิจารณาวินิจฉัยเป็นเรื่องจริงใช่หรือไม่ และถ้านายชัช ไม่ออกหนังสือเชิญประชุมวันที่ 17 ต.ค. เลขาธิการสำนักงานจะสามารถจัดประชุมตามมติตุลาการ 6 เสียงได้หรือไม่ นายเชาวนะ กล่าวว่า ตุลาการ6 เสียงมีการประชุมและมีคำสั่งดังกล่าวจริง แต่หนังสือเชิญประชุมในวันที่ 19 ต.ค. ของนายชัช ฉบับที่ลงวันที่ 17 ต.ค.นั้น เข้าใจว่านายชัช คงจะทราบว่าตุลาการทั้งหมดมีความสะดวกในการที่จะประชุมพร้อมกันในวันที่ 19 ต.ค. จึงเชิญประชุมในวันดังกล่าว

“มติของ 6 ตุลาการที่ให้เลขาธิการสำนักงานจัดประชุมโดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 216 กับที่รัฐธรรมนูญมาตรา 217 และพ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 9 กำหนดให้เลขาธิการขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ และให้การจัดวาระการประชุมเป็นอำนาจของประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตรงนี้ไม่มีใครไปวินิจฉัยว่ามันขัดกันหรือไม่ขัด แต่เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เป็นไปตามพ.ร.บ.สำนักงานฯและตามธรรมเนียมปฏิบัติ นายชัช จึงเป็นผู้ที่เชิญประชุม”

เมื่อถามต่อว่า นายชัช ได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เหตุใดเวลาสำนักงานชี้แจงจึงยังระบุตำแหน่งนายชัชเป็นประธานรัฐธรรมนูญ นายเชาวนะกล่าวว่า ในวันที่ 10 ส.ค. ที่นายชัชได้ลาออกจากตำแหน่ง นายชัชก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะตุลาการว่า จะขอทำหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญไปจนกว่าจะมีการโปรดเกล้าประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ เพราะการจะพ้นจากตำแหน่งประธานฯได้ต้องมีการโปรดเกล้าให้พ้น ซึ่งเมื่อมีการโปรดเกล้าประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ก็จะมีการโปรดเกล้าให้นายชัชพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปในคราวเดียวกัน

นายเชาวนะ ยังชี้แจงด้วยว่า การออกเอกสารชี้แจงข้อมูลในครั้งนี้ นายชัช ไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ดำเนินการ แต่ตนในฐานะหัวหน้าสำนักงานฯเห็นว่าถึงเวลาที่สำนักงานจะต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะองค์กรศาลภารกิจสำคัญคือการดำรงความยุติธรรม ส่วนที่สังคมมองว่ามีการพูดกันคนละครั้งคราวของตุลาการ ทำให้เห็นเป็นภาพแตกแยกนั้น สำนักงานฯขอที่จะไม่ก้าวล่วงว่าตุลาการคิดอย่างไร แต่ที่อยากจะสื่อสารคืออยากให้สังคมเห็นว่าศาลมีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ อยู่ตลอด ไม่ได้ว่างเว้นการทำงาน

มีรายงานว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่ให้มีการจัดประชุมวินิจฉัยคดี วิเคราะห์ว่า การที่นายเชาวนะออกเอกสารชี้แจงดังกล่าว นายชัชน่าจะเป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง และสะท้อนว่านายชัชไม่อยากสูญเสียอำนาจ โดยยังคงต้องการอยู่ในตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อไป เพราะก่อนหน้านั้นหลังจากที่ 6 ตุลาการเสียงข้างมากมีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ให้สำนักงานฯจัดประชุมวินิจฉัยคดีในวันที่ 19 ต.ค. นายชัช ก็มีหนังสือเวียนถึงตุลาการในวันที่ 17 ต.ค.ในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญเชิญประชุมในวันที่ 19 ต.ค. ซึ่งเมื่อถึงวันประชุมก่อนเริ่มพิจารณาคดี นายชัช ก็กล่าวกับตุลาการที่เข้าประชุมว่า “ ผมก็เรียกประชุมตามใจพวกเราแล้วไง” ทำให้ตุลาการส่วนใหญ่รู้สึกหงุดหงิด เพราะมองว่าในเรื่องการประชุมที่เกี่ยวกับคดีนั้น เป็นเรื่องขององค์คณะ ที่ในระบบศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการลักษณะนี้ ไม่ใช่การประชุมที่วาระงานเกี่ยวกับการบริหารสำนักงาน ฯที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจโดยตรงในการดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น