xs
xsm
sm
md
lg

ละครมหาดไทย : เมื่อผู้ว่าฯ เริ่มยุทธการกู้เมือง

เผยแพร่:   โดย: รมย์ ธรรมวัฒนารมณ์

ยามใดที่ขุนศึกทำสงครามโดยรอแต่เพียงการสั่งการจากแม่ทัพใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ยามนั้นกองทัพย่อมยากแก่การปกป้องและรักษาเมืองได้

เฉกเช่นภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นสงครามน้ำยามนี้ เมื่อขุนศึกอย่างรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ยังรอเพียงการสั่งการจากแม่ทัพใหญ่นายกรัฐมนตรี การคลี่คลายอุทกภัยทั้งในเมืองหลวงและตามหัวเมืองของรัฐบาล ให้ลดน้อยลงหรืออยู่ในภาวะที่จะควบคุมได้ ย่อมยากแก่การจัดการเช่นเดียวกัน

จึงเป็นหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟันอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะต้องเข้าสวมบทขุนศึก ที่มิใช่รอแต่คำสั่งจากแม่ทัพใหญ่เท่านั้น ให้ตั้งมั่นคิดว่า “จังหวัดคือประเทศ”และ ผู้ว่าราชการจังหวัดคือนายกรัฐมนตรี ” เช่นนี้แล้วการเข้ากอบกู้พื้นที่ภายในจังหวัดให้รอดพ้นความเสียหายจากอุทกภัยจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

การยึดพื้นที่และการคมนาคมในจังหวัดให้จงได้ หมายถึง ทำอย่างไรที่จังหวัดสามารถติดต่อคมนาคมไปยังศูนย์กลางอำเภอทุกแห่งให้ได้ จะโดยวิธีการใดสุดแล้วแต่ นายอำเภอต้องติดต่อและสามารถคมนาคมถึงทุกตำบลได้ กำนันจะต้องติดต่อถึงทุกหมู่บ้านให้ได้ และท้ายสุดความสามารถของผู้ใหญ่บ้านที่จะต้องเข้าถึงราษฎรในหมู่บ้านได้ทุกครัวเรือน

การสร้างขวัญและกำลังใจให้ราษฎรทุกคนในจังหวัดให้มีความหวัง ไม่ท้อและร่วมมือกับทางราชการฟื้นฟูสถานการณ์เป็นหัวใจสำคัญ ราษฎรผู้ประสบภัยทุกคนจะได้เข้าสู่ศูนย์กลางแห่งการให้ความช่วยเหลืออย่างมีระบบได้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลและทุกอำเภอ ภายใต้การบัญชาการของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่เพียงผู้เดียว

การผนึกกำลังทุกภาคส่วนราชการภายในจังหวัด ทั้งราชการส่วนภูมิภาค ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ที่ประจำอยู่ในพื้นที่จังหวัดให้รวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อร่วมแผนปฏิบัติการฟื้นฟูภัยพิบัติจากอุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ปัจจัย 3 ประการข้างต้น คือรากฐานความสำเร็จของผู้ว่าฯ ในการฟื้นฟูสภาพจากอุทกภัย

ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของจังหวัด ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2536 และในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ผู้ว่าฯ จึงมีอำนาจเด็ดขาดในการบัญชาการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ด้วยการสั่งการหน่วยงานในจังหวัดเข้าปฏิบัติการ

ท้องถิ่นจังหวัด ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ปรับงบประมาณโดยใช้หลักเกณฑ์ ว่าด้วยการตั้งงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อบจ. เทศบาล และ อบต. พ.ศ.2543 ได้เพียงใด

พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัด ช่วยเหลือด้านเงินและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประสบภัยผู้สูงอายุ ผู้พิการ นักเรียน ได้มากน้อยอย่างไร การทำโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพระยะสั้น มีหรือยัง

ประมงจังหวัด ช่วยเกษตรกรที่มีอาชีพประมงอย่างไร การหาพันธุ์สัตว์น้ำ ยา วัสดุทางการประมงพร้อมสำหรับการช่วยเหลือฟื้นฟูทันทีหรือไม่

ปศุสัตว์จังหวัด ช่วยเกษตรกรที่มีอาชีพปศุสัตว์ไว้อย่างไร พืชอาหารสัตว์ วัคซีนเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ พันธุ์สัตว์ที่ราษฎรสามารถเลี้ยงเป็นอาหารและสร้างรายได้ การผลิตอาหารสัตว์ขึ้นเองเตรียมการไว้และพอเพียงหรือไม่

สาธารณสุขจังหวัด การจัดทีมแพทย์ พยาบาล อสม.จาก รพ.ชุมชน สถานบริการสาธารณสุข ออกปฏิบัติการรักษาฟรีให้ราษฎรที่ประสบภัยในพื้นที่โดยตรงเบื้องต้น เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎร การควบคุมโรคระบาดที่สำคัญ การทำความสะอาดบ่อน้ำสาธารณะ การล้างบ่อบาดาล ตลาด มีแผนพร้อมปฏิบัติหรือไม่

เกษตรจังหวัด การช่วยเหลือเกษตรกรต้องกระทำโดยเร็ว ตัวเลขความเสียหายไม่ควรช้า การป้องกันโรคระบาด การสนับสนุนพันธุ์พืชให้พอเพียงโดยเฉพาะพืชผัก ผลไม้ระยะสั้น แผนฟื้นเกษตรกรรมในพื้นที่ไม่ประสบภัย และแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆ มีและเตรียมการไว้อย่างไร พร้อมดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน

พาณิชย์จังหวัด เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับราษฎรรวมทั้งวัสดุก่อสร้างต่างๆ มีเพียงพอหรือไม่ให้วางมาตรการควบคุมราคา แผนจัดตลาดนัดสินค้าและการออกหน่วยจำหน่ายสินค้าราคาถูกเคลื่อนที่ลงพื้นที่ให้บ่อยครั้ง เป็นงานในหน้าที่สำคัญต้องดำเนินการในโอกาสแรกและทำเป็นระยะๆ ไป

แรงงานจังหวัด หลังน้ำลด การตั้งศูนย์และชุดเคลื่อนที่ออกซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ ในหมู่บ้านและตำบลต้องทำ การฝึกอบรมช่างฝีมือระยะสั้นเพื่อให้มีแรงงานสร้างรายได้ผู้ประสบภัย การหาตลาดงานสำหรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหลังอุทกภัย เป็นแผนงานที่จะต้องเตรียมการไว้ให้พร้อม

พัฒนาชุมชนจังหวัด ควรมุ่งให้ความรู้ กลุ่มสตรี ผลิตของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งจัดอบรมอาชีพง่ายๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต้องเตรียมการและวางแนวทางไว้ล่วงหน้า

แขวงการทางและทางหลวงชนบทจังหวัด ต้องกำหนดงานซ่อมถนน สะพาน เพื่อให้เส้นทางคมนาคมระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน สามารถเชื่อมโยงเดินทางกันได้เป็นภารกิจอันดับแรกที่ต้องทำทันที

ประปาส่วนภูมิภาคจังหวัด ต้องควบคุมและสามารถเดินน้ำประปาในเส้นทางจ่ายน้ำตามปกติให้ได้ แผนแจกจ่ายน้ำประปาสนับสนุนพื้นที่ขาดแคลนน้ำต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าให้พร้อมด้วย

ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นอกจากเป็นหน่วยประสานงานหน่วยงานต่างๆแล้วการสำรวจ

ความเสียหายอาคารบ้านเรือน ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ การจัดหาที่พักชั่วคราว การจัดหาอาหารน้ำดื่ม ฯลฯ ต้องกำหนดแผนปฏิบัติดำเนินการไว้ทั้งหมด เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ต้องเตรียมแผนช่วยเหลือวัดและพระภิกษุสงฆ์ เป็นการเฉพาะไว้ด้วย

ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ผู้ว่าฯ สามารถสั่งการให้เข้าฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ได้อย่างเต็มที่ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สหกรณ์จังหวัด ชลประทานจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ฯลฯ ขึ้นอยู่กับสภาพและความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่และการเลือกหน่วยปฏิบัติที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพ

เรื่องเหล่านี้คนอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมทราบและรู้ว่าควรจะทำอย่างไร

ขอเพียงแต่เมื่อขุนศึกอย่างผู้ว่าฯ ได้ขับเคลื่อนอย่างนี้แล้ว ส.ส.หรือรัฐมนตรีทั้งหลาย กรุณาไม่ต้องขยันลงพื้นที่แข่งทำงานกับผู้ว่าฯ ปล่อยผู้ว่าฯ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ จะได้ไม่เสียเวลาเกณฑ์คนมาต้อนรับ จัดสถานที่ บรรยายสรุป ให้ท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย สิ้นเปลืองเวลาเปล่าๆ

อย่าไปกลัวว่าชาวบ้านจะลืมผู้แทนเลย ขอให้เป็นเวลาผู้ว่าฯ ได้ช่วยชาวบ้านก่อนเถอะ
กำลังโหลดความคิดเห็น