xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งรับมือโรคระบาด วอร์รูมหลักหนุนอุปกรณ์-เวชภัณฑ์เจ้าหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพจิตร์ วราชิต
สธ.ปรับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาน้ำท่วมเข้มข้นขึ้น  เร่งเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด ด้านวอร์รูมหลักสนับสนุนเวชภัณฑ์ เสื้อชูชีพ เครื่องกรองน้ำ เตียงสนาม เรือ และยานพาหนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

วันนี้ (12 ต.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมผู้บริหารและประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนพ.สาธารณสุขจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับยุทธศาสตร์ในการจัดการแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมให้เกิดประสิทธิภาพเข้มข้นมากขึ้น โดยให้ นพ.สาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้สั่งการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแต่ละจังหวัด  ให้ผู้ตรวจราชการเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำประสานข้ามจังหวัด       และมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4 คน เป็นผู้ติดตามการดำเนินงานและประสาน กรมวิชาการ  ส่วนวอร์รูมใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข  จะสนับสนุนเวชภัณฑ์ เสื้อชูชีพ เครื่องกรองน้ำ เตียงสนาม เรือ และยานพาหนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน

          ขณะนี้ได้แบ่งสถานการณ์น้ำท่วมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสถานการณ์รุนแรง 2.กลุ่มที่ผ่านระยะรุนแรงเข้าสู่ระยะฟื้นฟู     และ 3.กลุ่มที่ยังไม่เกิดสถานการณ์ เช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและการป้องกันไว้  แต่ละกลุ่มจังหวัดจะต้องมีแผนปฏิบัติการ และมีกรมวิชาการต่างๆ เข้ามาช่วยในภารกิจต่างๆ โดยประสานกับ นพ.สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สั่งการของแต่ละจังหวัด

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า  สำหรับเรื่องโรคระบาด ในขณะนี้ต้องเฝ้าระวังในเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม คือ เรื่องขยะ สิ่งขับถ่าย  จากการที่เข้าไปดูแลที่จุดอพยพอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งค่อนข้างจะเป็นปัญหา เนื่องจากมีประชาชนมีอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมาก ซึ่งในวันนี้ได้ให้กรมอนามัยสร้างส้วมสนาม ส้วมลอยน้ำให้ประชาชน และดูแลเรื่องน้ำดื่ม ป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด

ทั้งนี้ โรคระบาดที่มากับน้ำท่วมต้องเฝ้าระวัง 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ไข้หวัด ตาแดง และไข้เลือดออก ส่วนโรคที่ป่วยกันมากคือโรคน้ำกัดเท้า  ขอให้ประชาชนดูแลอย่าให้มีบาดแผลที่เท้า และให้ล้างเท้าให้สะอาดหลังจากลุยน้ำแล้วทุกครั้ง

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการให้บริการผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมทีมแพทย์จากจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม เช่น จังหวัดชลบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา สุราษฎรธานี ภูเก็ต   เป็นต้น ร่วมออกให้บริการประชาชนในจังหวัดที่น้ำท่วม  พร้อมกับยกระดับโรงพยาบาลบางปะอิน เป็นโรงพยาบาลทั่วไปให้สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากขณะนี้โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยายังเปิดบริการไม่ได้  โดยใช้ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลชลบุรี  ส่วนที่ปทุมธานี ขณะนี้โรงพยาบาลปทุมธานีได้ย้ายผู้ป่วยหนัก 31 ราย เริ่มตั้งแต่วานนี้ เข้ามาโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง และดูแลผู้ป่วยที่เหลือต่อ

ทางด้าน นพ.สมยศ  ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  จากการสำรวจจุดอพยพต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา มีแห่งเดียวที่น่าห่วงและถือว่าวิกฤต คือ ที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประชาชนเข้าไปพักอาศัยประมาณ 3,000 คน  การเดินทางเข้าออกยากลำบากมาก และมีปัญหาเรื่อง ส้วม น้ำสะอาดไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดโรคระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร  ได้เร่งป้องกัน โดยดูแลความสะอาดสุขาภิบาล  น้ำดื่มน้ำใช้  การกำจัดขยะสิ่งปฏิกูลต่างๆ  กรมอนามัยจะส่งส้วมลอยน้ำไปตั้งบริการ 10  ที่คาดว่า วันนี้ จะตั้งได้ 2 ที่  จัดทำส้วมสนามชั่วคราว 20 ที่   ส่งส้วมเก้าอี้พลาสติกเจาะรูตรงกลางใส่ถุงดำรองรับ ใช้สำหรับรายบุคคลให้ครัวเรือนอีก 100 ที่    และส่งชุดนายสะอาดใช้ประจำครัวเรือน  1,500 ชุด  ซึ่งจะมีถุงดำใส่ขยะ ใสสิ่งปฏิกูล  สบู่  น้ำยาล้างจาน และสารส้ม คลอรีนสำหรับปรับสภาพน้ำให้สะอาด ปลอดภัยต่อการใช้ยิ่งขึ้น          
กำลังโหลดความคิดเห็น