xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมากและศักยภาพน้อย : เหตุให้เสียหายมาก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เป็นเวลานานนับเกือบเดือนที่สื่อทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ได้ยกพื้นที่ข่าวส่วนใหญ่ให้แก่เหตุการณ์น้ำท่วม จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าอุทกภัยในปีนี้มากและก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุอุบัติดังต่อไปนี้

1. อุทกภัยในปีนี้ได้ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด และกระแสน้ำได้ไหลผ่าท่วมทั้งพื้นที่เกษตร และพื้นที่เขตเมืองอันเป็นที่อยู่อาศัยและเขตพาณิชย์ รวมไปถึงเขตนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่านับแสนๆ ล้านบาท

2. นอกจากทรัพย์สินเสียหายแล้ว น้ำท่วมในปีนี้ได้ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนต้องอพยพหนีน้ำหาที่พักพิง และในขณะเดียวกันขาดแคลนอาหาร และน้ำดื่ม รวมไปถึงห้องสุขา

เหตุอุบัติทั้ง 2 ประการนี้จะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อย ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานในภาครัฐที่รับผิดชอบร่วมมือกันวางแผนป้องกัน และแก้ไขความเดือดร้อนอันจะเกิดขึ้นจากอุทกภัยอันควรแก่เหตุ ซึ่งพอจะดำเนินการได้ภายใต้มาตรการดังต่อไปนี้

1. วางแผนป้องกันล่วงหน้า โดยให้เขื่อนทุกเขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนที่กักเก็บน้ำได้มาก และมีส่วนต่อการเพิ่มปริมาณน้ำใต้เขื่อนถ้าปล่อยน้ำออกมามาก เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้เหลือปริมาณหน้าเขื่อนเพียงพอที่จะรองรับน้ำในฤดูฝน ดังนั้น การปล่อยน้ำจะต้องกระทำก่อนฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคม หรืออย่างช้าเดือนสิงหาคม และในขณะเดียวกันจะต้องมีการสำรวจและซ่อมแซมประตูน้ำให้อยู่ในสภาพแข็งแรงพอที่จะรับปริมาณน้ำมากๆ ได้

2. ให้มีการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน และเกลี่ยสิ่งกีดขวางทางน้ำออกให้หมดก่อนถึงฤดูฝน

3. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำ และพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำท่วมเพื่อให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้เตรียมการรับมือแต่เนิ่นๆ และที่จะละเลยไม่ได้คือ จะต้องให้ข้อมูลและทำงานประสานกับผู้ประกอบการเอกชนในเขตที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม เช่นที่จังหวัดพระนครอยุธยา เป็นต้น เตรียมการป้องกันธุรกิจของตนล่วงหน้า

ถ้าทุกปีก่อนหน้าฝน ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันเตรียมการเช่นนี้ ถึงแม้จะมีปริมาณน้ำมากเช่นในปีนี้ ก็เชื่อได้ว่าความเสียหายจะน้อยกว่านี้ และประชาชนก็จะเดือดร้อนน้อยกว่านี้แน่นอน

แต่ที่ปีนี้เดือดร้อนดังที่เป็นอยู่ ก็ด้วยว่าไม่มีการวางแผนดำเนินการใดๆ ใน 3 ประการดังกล่าวข้างต้นไว้ล่วงหน้า และที่ยิ่งเลวร้ายกว่านี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว การทำงานในส่วนของภาครัฐก็เชื่องช้า และขาดมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกัน เอาแต่ออกข่าวแถลงแย่งกันพูดถึงปัญหา แต่ไม่ลงมาแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

จริงอยู่ ความเดือดร้อนในครั้งนี้ประชาชนเองก็มีส่วนในการที่ไม่เตรียมการช่วยตนเองเท่าที่ควรจะเป็น เฉกเช่นคนรุ่นก่อนที่รู้จักอุทกภัยเป็นอย่างดี และอยู่ร่วมกับน้ำท่วมโดยการปรับตัว เช่น ปลูกบ้านใต้ถุนสูง และเตรียมเสบียงข้าวสาร อาหารแห้ง เชื้อเพลิงในการหุงต้ม รวมไปถึงเรือเพื่อการสัญจร

กระนั้นก็ตาม คงจะยกความผิดให้ประชาชนทั้งหมดคงไม่ได้ แต่สำหรับรัฐบาลในฐานะผู้ปกครองประเทศ จะปฏิเสธไม่รับผิดชอบและโยนความผิดให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือเป็นเพียงผู้อาศัยปกติทั่วไปคงเป็นไปไม่ได้ และถ้ามีใครสักคนออกมาปัดความผิดในทำนองนี้ ก็พูดได้คำเดียวว่าด้อยศักยภาพในฐานะผู้นำประเทศ

อย่างไรก็ตาม ป่วยการที่จะมาพูดถึงว่าน้ำท่วมในปีนี้จะป้องกันอย่างไร และแก้ไขให้น้ำไม่ท่วมได้หรือไม่ เพราะได้ท่วมไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น ต่อจากนี้ควรจะพูดถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนจะดีกว่า เพราะถ้าไม่มีการวางแผนและกำหนดแนวทางให้ชัดเจน เป็นที่เชื่อได้ล่วงหน้าว่าผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมจะเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเมื่อน้ำลด สำหรับเจ้าของสถานประกอบการชาวต่างชาติ ก็จะต้องกลับไปบ้านเดิม เพราะทุกคนจะต้องดำรงชีวิตด้วยการช่วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ทุนในการประกอบอาชีพ และที่สำคัญ ในส่วนของผู้ใช้แรงงานที่ต้องว่างงานเพราะผู้ประกอบการโรงงานปิดโรงงาน จะเป็นการปิดชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมหรือปิดถาวรเพราะไม่มีทุนดำเนินการต่อ หรือที่เลวร้ายไปกว่านี้บางรายอาจย้ายโรงงานหนีไปประเทศอื่น ผู้ใช้แรงงานที่เดือดร้อนจากการว่างงาน จะได้รับความช่วยเหลือจากใคร และอย่างไร รวมไปถึงเกษตรกรที่มีหนี้เก่าที่กู้มาลงทุน และเก็บเกี่ยวพืชผลไม่ได้ แถมยังต้องก่อหนี้ใหม่เพื่อการลงทุนใหม่จะได้เงินกู้จากไหน และครบถ้วนทุกรายหรือไม่

ทั้งหมดนี้คือความเดือดร้อนที่จะตามมาหลังน้ำลด และเป็นภาระที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบช่วยเหลือเกื้อกูลให้พวกเขาอยู่ได้ตามอัตภาพ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ขายข้าวได้เกวียนละ 15,000 บาทหรือไม่ เอาแค่บรรเทาความเดือดร้อนให้ทั่วถึง และอยู่ได้ดีพอๆ กับก่อนน้ำท่วมก็พอแล้ว

ความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน บวกกับความเดือดร้อยของเกษตรกรที่เกิดขึ้นหลังน้ำลด เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความไม่แน่นอนของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ

หญิงคนแรกของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง จะด้วยการบีบคั้นจากผู้เดือดร้อน และจากผู้ผิดหวังจากการให้ความหวังเมื่อครั้งเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน และแถมด้วยการเร่งดำเนินการแก้ พ.ร.บ.กลาโหม และพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะทำให้เป็นเหตุอาเพศทำรัฐบาลพังเหมือนกับคันกั้นน้ำของการนิคมอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งพัง และน้ำท่วมขังอย่างไรอย่างนั้นเลย

ถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นจริงดังคำกลอนที่เริ่มด้วย นารีขี่ม้าขาว ก็จะจบด้วยบทคือหวาดเสียวใจ

ยิ่งถ้ามองในแง่ของโหรด้วยแล้ว 7 ธันวาคม 54-5 พฤษภาคม 55 เป็นช่วงที่ดวงเมืองถูกเบียนจากดาวเสาร์ ทำให้กรรมกรและเกษตรกรร่วมกันทวงหนี้รัฐบาล และผสมด้วยแรงกดดันจากปวงชนผู้ต่อต้าน และมีทัศนคติไม่เห็นด้วยกับนายกฯ ตัวแทน หรือนายกฯ ร่างทรงด้วยแล้ว ยิ่งมองเห็นว่าร้ายแรงยิ่งกว่ากระแสน้ำเป็นหลายเท่า และนี่เองคือ กระแสเชี่ยวกรากหวาดเสียวใจ ของจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น