xs
xsm
sm
md
lg

‘จอมกร่าง’ วัฒนธรรม ‘บ้าอำนาจ’ ของข้าราชการไทย!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องเรียกว่าฮือฮาและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่ความรู้สึกของไทยอย่างสูง เพราะพลันที่มีคลิปข้าราชการระดับซี 7 ของกรมศุลกากร ตบบ้องหูของพนักงานดูแลความปลอดภัย ระหว่างที่กำลังสแกนตัวก่อนเข้าสู่พื้นที่ของสนามบินปรากฏสูสายตาของสาธารณชน

เรื่องนี้ก็กลายเป็นลือหึ่งเหม็นโฉ่กันทั่วบ้านทั่วเมือง เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ กันเลยทีเดียว เพราะเชื่อว่าหลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมคนที่มีตำแหน่งระดับกลางๆ เช่นนี้ถึงกล้าแสดงอำนาจบาตรใหญ่ได้ถึงเพียงนี้ แม้กระทั่งกับคนที่ตัวเองไม่รู้จัก แน่นอนว่า เรื่องนี้อาจจะมาจากพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลผู้นั้นเอง แต่ในมุมหนึ่งก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นี่อาจจะเป็นอภิสิทธิ์พิเศษที่มีให้คนที่เป็นข้าราชการกันแน่ เพราะหากไม่มีอำนาจ ไม่มีบทบาท ไม่มีตำแหน่งใหญ่โตอะไรสักอย่าง ก็เชื่อเถอะว่าคงไม่มีใครกล้าแสดงความดิบความเถื่อนเช่นนี้ กลางสายตาประชาชนแล้วเดินลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นแน่แท้

แต่นี่กลับกลายเป็นว่า กว่าเรื่องที่จะแดงขึ้นมา กว่าที่เหตุการณ์จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ต้องรอให้มีคลิปปรากฏขึ้นมาเสียก่อน

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจของทุกคนก็คือ ทำไมในยุคที่สังคมเปิดกว้าง แถมทุกคนต่างกับรับรู้โดยถ้วนหน้าว่า ข้าราชการเหล่านี้ต่างก็กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน (อย่างที่คนที่ถูกทำร้ายนั่นแหละ) แต่เรื่องเช่นนี้ก็ยังเกิดวนเวียนซ้ำซ้อนอยู่ดี หรือว่าจริงๆ ของแบบนี้มันมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าที่คิดเอาไว้กันแน่

ต้นรากจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์

ก็อย่างที่กล่าวได้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า หลายคนชอบคิดว่า ข้าราชการมักจะมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดขึ้นมานานนับศตวรรษแล้ว

ยืนยันได้จากงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย : วิธีการ ตัวชี้ ผลกระทบ และข้อคิดสู่การแก้ไข ของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจของข้าราชการไทยนั้นมีตั้งแต่ การเรียกเก็บสินน้ำใจ ส่วย หรือสินบน การเล่นพรรคเล่นพวก หรือการบังคับให้ผู้ที่อยู่ในสถานภาพที่ต่ำกว่าทำตามในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ก็จะพบว่าเวลาที่ชาวบ้านธรรมดาจะไปติดต่อราชการก็ต้องทำตัวนอบน้อมเข้าไว้ บางคนถึงต้องกราบกรานเพื่อของความช่วยเหลือกันเลยทีเดียว ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็จะพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ ก็คงสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

ปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยที่ข้าราชการแสดงต่อประชาชน ซึ่งถือเป็นผลพวงจากการแบ่งชนชั้นฐานะทางสังคมในสมัยก่อน ทำให้เกิดระบบเจ้าขุนมูลนายขึ้นในสังคม เพราะคนที่เข้ารับราชการมักจะมีอำนาจและคนคอยรับใช้ และยิ่งเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างเนื้องานกับประชาชนด้วยแล้ว จะพบว่าคนส่วนใหญ่มักจะติดต่อข้าราชการในเรื่องสำคัญๆ หรือต้องการความช่วยเหลือ อย่างเช่นการทำบัตรประชาชน จัดการเรื่องที่ดิน หรือแม้แต่แจ้งความเพื่อแจ้งเรื่องเดือดร้อน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้าราชการบางคนจึงมองว่า ตัวเองมีอำนาจเหนือกว่า และถ้าตัวเองไม่ทำให้ผู้ที่มาติดต่อก็ต้องเดือดร้อน

ซึ่งระบบที่เกิดขึ้นนี้ ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เรียกว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตย หรือขุนนาง (ข้าราชการ) เป็นใหญ่ และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองไทยกลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์จนทุกวันนี้

“โดยปกติข้าราชการจะอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว ไม่ว่าในการทำเองหรือในการกำกับดูแลคนอื่น เพราะฉะนั้นความคิดของเขาจึงอาจจะคุ้นเคยกับอำนาจหน้าที่ที่มี ซึ่งเห็นได้ชัดในระบบตำรวจ ซึ่งจะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ เวลาเขาไปดูแลควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อย ก็ใช้การบังคับหรือใช้กำลังไปบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผมถือว่าเป็นระบบวัฒนธรรมแบบเก่าที่ข้าราชการส่วนกลางยังมีความใกล้ชิดกับการมอบอำนาจมาก”

ส่วนสาเหตุที่ 2 ก็คือปัจจัยจากภายในตัวองค์กรเอง เพราะต้องยอมรับว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของระบบราชการ ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถ แต่อยู่ที่อาวุโสและลำดับขั้น กล่าวคือหากใครที่มีตำแหน่งสูงๆ ก็ย่อมมีอิทธิพลมากตามไปด้วย ขณะที่คนที่ตำแหน่งเล็กๆ ก็จะไม่สิทธิคิด สิทธิพูด ต้องทำอย่างเดียว จนมีคำพูดติดปากคนในสังคมอย่าง ‘นายถูกเสมอ’ ‘รอให้เป็นใหญ่ก่อนถึงค่อยทำ’ หรือแม้แต่ ‘ข้าราชการนั้นเป็นพวกทำงานเช้าชามเย็นชาม’ เพราะส่วนใหญ่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นหลัก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนตำแหน่งสูงๆ มักคิดว่าตัวเองจะทำอะไรกับใครก็ได้ โดยเฉพาะเหล่าลูกน้อง ซึ่ง ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ได้ยกกรณีของซี 7 กรมศุลกากรที่เกิดขึ้นว่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะถึงผู้ที่ถูกกระทำจะไม่ใช่ข้าราชการ แต่เนื่องจากทำงานในหน่วยเดียวกัน และเทียบศักดิ์ศรีแล้วถือว่า ‘ด้อยกว่า’ ผู้ที่ทำร้ายจึงมองคนผู้นั้นเป็นลูกน้องของตัวเองโดยปริยาย

“จากกรณีนี้ข้าราชการซี 7 เหมือนเป็นคนที่ทำงานที่นี่อยู่ด้วยแล้ว ดังนั้นการตรวจเขาส่วนหนึ่งก็ทำให้เขารู้สึกว่า ทำไมต้องมาตรวจ แต่การกระทำของเขาแน่นอนว่าจะเป็นพฤติกรรมของข้าราชการในแบบระบบเก่า ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ และมองพนักงานที่เข้ามาตรวจของบริษัทเอกชนเป็นเหมือนลูกน้อง ทำให้กล้ากระทำการแบบนั้นได้”

แก้ไขแบบ ‘ราชการ’

เมื่อวัฒนธรรมเช่นนี้ ถูกสั่งสมมาจากพฤติกรรมส่วนบุคคล กับโครงสร้างของระบบองค์กรและอำนาจ มันก็เลยทำให้ผู้คนจำนวนมากเห็นว่าเป็นจุดอ่อน แถมยังถูกร่ำลือในหมู่ผู้คนทุกครั้งเวลาไปติดต่อราชการ จนทำหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ไปข้องแวะกับระบบราชการ หรือบางคนก็รู้สึกรังเกียจในพฤติกรรมถึงขนาดกับห้ามไม่ให้ลูกหลานทำงานด้านนี้ จากเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้ผู้เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยเรียกร้องให้ระบบการจัดการและป้องกันพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งทางแก้ไขที่ดูจะเป็นรูปแบบที่สุดที่บรรดาหน่วยงานต่างๆ เลือกขึ้นมาใช้ก็คือ การสร้างกฎเหล็กหรือที่รู้จักกันชื่อ ‘วินัย’ ขึ้น และหากเกิดผู้ขัดวินัยก็จะถูกสอบสวน ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดอบรมเป็นระยะ เพื่อให้ข้าราชการนั้นรู้ซึ้งว่าตัวเองมีหน้าที่ในการ ‘บริการประชาชน’ เพราะฉะนั้นคุณไม่มีสิทธิที่จะไปใช้อำนาจหน้าที่ในการข่มเหงผู้ที่เข้ามาติดต่อหรือคนทั่วไป แถมประชาชนเองก็ยังสามารถมีส่วนร่วมในการสอดส่องพฤติกรรมของข้าราชการได้อีกด้วย เพราะถ้าใครตัวไม่สุภาพ ก็สามารถยืนร้องเรียนกับผู้บังคับบัญชา หรือส่งเรื่องมาที่หน่วยงานได้ทันที

“ผมว่าปัจจุบันนี้ ข้าราชการเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ทำตัวมีอภิสิทธิ์ใดๆ อย่างผมเองไปสนามบินก็
ไม่เคยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้น ต้องทำตัวตามขั้นตอน เพราะฉะนั้นไม่ว่าเหตุการณ์อะไร มันเรื่องของตัวบุคคล อย่าเหมาเลยว่าเป็นข้าราชการ และที่ผ่านมาเราเองก็มีระเบียบวินัย มีเรื่องจรรยา เหมือนมีไฟแดง ซึ่งทุกคนต้องเคารพไฟแดง ถ้าใครฝ่าไฟแดงก็ถือว่าทำผิด” นนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อธิบายถึงพฤติกรรมข้าราชการในปัจจุบัน

โดยตัวกฎหมายที่ปัจจุบันใช้อยู่นั้น ถือว่าออกมาครอบคลุมที่สุดแล้ว แต่ปัญหานั้นอยู่ที่คนปฏิบัติตามจะทำหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้ามีหลักฐานชัดเจนว่า ไม่ปฏิบัติตามก็ต้องถูกลงโทษ ประกอบกับที่ผ่านมาระเบียบราชการนั้นมีความสัมพันธ์กับกฎหมายบ้านเมือง เพราะฉะนั้นประเด็นไหนที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั่วๆ ไปก็ต้องรับการลงโทษด้วยเช่นกัน และถ้าเรื่องไหนมีตัวหลักฐานพยานพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าเรื่องไหนที่เป็นเพียงการส่งบัตรสนเท่ห์ที่ไม่มีรายละเอียดหรือพยานก็คงดำเนินการได้ยาก

“ข้าราชการนั้นต้องมีระเบียบวินัยมากกว่าคนทั่วไป เพราะมันเป็นเรื่องภาพพจน์ของข้าราชการ แล้วหาประชาชนไปรับบริการแล้วไม่พอใจก็สามารถร้องเรียนหรือขอคำอธิบายได้ เพราะปัจจุบันนี้สิทธิเสรีภาพในการขอข้อมูลข่าวสารเราเปิด เพียงแต่ว่าในแง่ของประชาชนเองก็ต้องรักษาสิทธิตัวเอง อย่าใจร้อน เช่นกรณีที่เป็นข่าวคนที่เสียหายก็เพิ่งไปแจ้งความ ส่วนทางอธิบดีกรมศุลกากรเองก็ไม่ได้ละเลย ก็สั่งให้ข้าราชการผู้นั้นมาประจำกรมในวันเดียวกัน แล้วก็ตั้งกรรมการสอบวน

“แต่ส่วนที่การสอบนั้นจะไปเร็วได้แค่นั้น ก็คงและแต่เรื่อง ขึ้นกับความซับซ้อนว่าเป็นเช่นใด อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นที่สนามบินนั้นถือว่าไม่ซับซ้อน เพราะมีการบันทึกผ่านกล้องวงจรปิด ประจักษ์พยานชัดแจ้ง เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า เรื่องนี้ต้องได้ความเป็นธรรม”

อย่างไรก็ดี แม้จะมีกฎระเบียบเอาไว้เต็มไปหมดเช่นนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความปัญหานั้นจะยังแก้ไขออกมาชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ ในเมืองใหญ่ๆ ก็อาจจะดีหน่อย เพราะคนส่วนมากเริ่มรู้ว่าตัวเองมีช่องทางมากมายในการแจ้งพฤติกรรมของข้าราชการ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ยังมีคนพวกนี้หลุดรอดไปได้

เช่นเรื่องเล่าของ จันทร์เพ็ญ วงษ์สุรรณ ชาวกรุงเทพฯ ที่นอกจากจะเคราะห์ร้ายถูกโจรกรรมรถไปแล้ว ยังต้องมาเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ให้เกียรติอีกต่างหาก

"ตอนนั้นไปติดต่อเรื่องรถหายที่สถานีตำรวจตั้งแต่ 4 ทุ่ม จนเสร็จเที่ยงคืนถึงจะได้แจ้งความ เราต้องนั่งรอ แต่ระหว่างนั้นก็มีคนที่มีเส้นสายเข้าไปแจ้งความได้แซงคิวหน้าตาเฉย เราโวยเลย..จะได้แจ้งความไหมเนี่ย แถมเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนก็พูดจาไม่ดี พอโวยไปฝั่งตำรวจก็จะนิ่งเหมือนกับว่าเราโดนแกล้งไปเลย สุดท้ายก็ได้แจ้งความตอนตีหนึ่งครึ่ง บอกตามตรงเรารู้สึกเสียความรู้สึกมาก เขาคงคิดว่าสามารถทำอะไรก็ได้ โดยที่คิดว่ายังไงตัวเองก็ไม่โดน ไม่กล้าแตะต้องเขาหรอก”

และยิ่งถ้าเป็นต่างจังหวัดก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะแม้แต่คนที่เป็นข้าราชการ อย่าง สุพรรณษา เกษณียบุตร ครูในจังหวัดราชบุรี ยังต้องเผชิญกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของคนที่รับเงินเดือนจากประชาชนเลย

“เคยติดต่อกับหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่เขาก็จะพูดจาไม่เพราะเลย คือตอนนั้นไปขอเอกสารชิ้นหนึ่งแต่เราไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง พอไปถาม ก็สวนกลับมาเลยว่า “ทำไมไม่แหกตาดู” เราก็ตอบโต้ไปว่าบังเอิญแหกตาดูแล้วแต่มันไม่มี ถามเขากลับไป เขาก็หงุดหงิดใส่แล้วไม่สนใจอะไรเลย ตอนนี้ก็รอให้ได้เอกสารเรียบร้อยก่อน แล้วจะทำการร้องเรียนต่อหน่วยงานแน่นอน อยากให้เบื้องบนลงมาดูแลสอดส่องพฤติกรรมของราชการในปกครองตัวเอง”

ทางออกแบบนี้ยั่งยืนกว่า

พอเห็นไปแล้วว่า แม้เมืองไทยจะมีระบบระเบียบอะไรที่ออกมาเต็มหมด แต่เมื่อไม่ได้มีคนมีอำนาจ (เหนือกว่า) เข้ามาใกล้ชิดเข้ามาสอดส่องพฤติกรรมแบบตัวต่อตัวแล้ว โอกาสที่การใช้พฤติกรรมบ้าอำนาจของข้าราชการไทยบางคนก็คงหมดไปยาก

คำถามก็คือเรื่องแบบนี้จะจัดการอย่างไรให้เห็นผล แน่นอนว่าเรื่องแรกก็คงเป็นอย่าง เลขาธิการ ก.พ. บอกว่า ประชาชนเองนั้นต้องรักษาสิทธิของตัวเองเป็นลำดับแรก เพราะต้องยอมรับว่า ขึ้นชื่อว่า ‘คน’ แล้วโอกาสที่จะทำให้ครบสมบูรณ์ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นเรื่องที่ยาก

อีกทางหนึ่งที่ดูจะได้ผลมากที่สุด ก็คือการใช้มาตรการการลงโทษทางสังคมเข้าช่วย อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับข้าราชการกรมศุลกากร ซึ่งในประเด็นนี้คนที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุด ก็คือ สื่อมวลชนที่จะต้องเข้ามาตอกย้ำและแสดงภาพให้สังคมได้เห็น เพื่อเป็นการปรามข้าราชการที่คิดจะกระทำอะไรตามใจตนเองให้หยุดไว้ก่อน

แต่ถ้านำมาวิเคราะห์กันโดยรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตัวเอง ให้สื่อช่วย หรือออกกฎระเบียบนั้น ก็ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า เพราะต้นเหตุที่แท้จริงนั้นอยู่ในระบบราชการแบบรวมศูนย์ ชนิดที่ว่ามีเจ้านาย 1 คน แล้วใครจะทำอะไร ก็แล้วนายสั่งซึ่งเป็นมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว

เพราะฉะนั้น การแก้ไขให้ยั่งยืนจึงน่าจะเป็นการกระจายอำนาจออกไป ซึ่งก็เป็นที่พิสูจน์อยู่พอควรว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้ แล้วบังคับให้มีการร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปัญหาเดิมๆ ของข้าราชการลดลงไปพอสมควร

“หลังปี 2546 ที่มีกฎหมายเรื่องนี้ออกมาจริงจัง หลายๆ อย่างมันเปลี่ยนไป อย่างในกรุงเทพฯ ก็มีการมอบหมายอำนาจในการบริหารให้กับบริษัทเอกชนมากขึ้น ในขณะที่ต่างจังหวัดเอง ระดับราชการส่วนกลางก็ลดบทบาทและอำนาจลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยไปมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ในส่วนของกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดนั้น จากอดีตถึงปัจจุบัน เขาเห็นว่าต่างจังหวัดจะมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งในหน่วยงานท้องถิ่นเองนั้นก็จะมีสัดส่วนของคนในชุมชนอยู่พอสมควร ทำให้เกิดการคานอำนาจ” ผศ.สัมฤทธิ์อธิบาย

ซึ่งแน่นอนว่า แม้มันจะไม่สามารถขุดรากถอนโค่นวัฒนธรรมไปได้ โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในเครื่องแบบ เช่น ทหารหรือตำรวจ ที่ยังรู้สึกตัวเองเป็นผู้ปกครองของประชาชนอยู่ แต่ในอนาคต วัฒนธรรมแบบนี้ก็จะถูกระบบแบบใหม่บีบให้ปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคมในที่สุด
...........

อาจจะเป็นเรื่องจริง หากจะบอกว่า เรื่องข้าราชการกรมศุลกากรตบบ้องหูเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนั้นเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล ไม่ได้หมายความถึงระบบราชการทั้งหมด แต่ในทางกลับกันก็ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ทำให้หลายคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจจะต้องกลับมานั่งคิดถึงการทำหน้าที่ของบรรดาข้าราชการว่า ทำงานและประพฤติตนเหมาะสมกับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชนหรือไม่

เพราะตราบใดที่ข้าราชการบางคนยังมองว่า ตัวเองมีอำนาจเหนือผู้อื่น จะแสดงอภิสิทธิ์อะไรก็ได้ นั่นอาจจะหมายความว่า คงถึงเวลาที่สังคมจะต้องมานั่งพูดคุยในเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า จะทำเช่นใดถึงจะแก้วัฒนธรรมองค์กรเน่าเฟะ (ที่หลายๆ แห่งยังมีอยู่) ให้หมดไปเสียที
>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

กำลังโหลดความคิดเห็น