xs
xsm
sm
md
lg

ยันน้ำท่วมไม่กระทบผลิตไฟเหตุสำรองสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “พิชัย”รุดตรวจความพร้อมระบบไฟฟ้าช่วงน้ำท่วม ยันไร้ปัญหา แม้ล่าสุดต้องปิดโรงไฟฟ้าวังน้อยแล้วก็ตามเหตุสำรองพร้อมจ่ายสูงถึง1,800 เมกะวัตต์ แถมนิคมฯ ปิดยังส่งผลให้การใช้ไฟภาคอุตสาหกรรมลดวูบลงถึง1,000 เมกะวัตต์ “กฟผ.”ลั่นถ้าไม่มี 2เขื่อนใหญ่ป่านนี้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ไปแล้ว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ความมั่นคงระบบไฟฟ้าในช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วานนี้ (18 ต.ค.) ว่า กฟผ.ได้เตรียมพร้อมถึงแนวแนวทางการดูแลระบบความมั่นคงไฟฟ้า โดยยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน เนื่องจากได้เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว ประกอบกับปริมาณไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายยังมีสูงถึง 1,800 เมกะวัตต์
“สำรองไฟฟ้าทั้งหมดทั้งที่พร้อมจ่ายทันทีและไม่พร้อมจ่ายมีสูงถึง 4,000 เมกะวัตต์ ประกอบกับการที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ประสบภาวะน้ำท่วมมีผลกระทบต่อภาคการอุตสาหกรรมที่ทำให้ส่วนนี้ลดการใช้ไฟไปถึง 1,000 เมกะวัตต์แล้ว ภาพรวมไฟฟ้าไม่มีปัญหาแน่นอน ขณะเดียวกันยังได้แจ้งมติครม.ที่จะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่จะไม่ให้เกิดน้ำท่วมอีกเหมือนปีนี้ที่ส่งผลกระทบต่อจีดีพี 1.7% ซึ่งยังไม่ได้รวมความเสียหายของสวนอุตสาหกรรมนวนคร”นายพิชัยกล่าว
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่ากฟผ. กล่าวว่า ระบบผลิตไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ โรงไฟฟ้าของ บริษัท เอทีไบโอ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า บริษัท โรจนะเพาเวอร์ อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังผลิต 90 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเขื่อนลำตะคองชลภาวัฒนา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ของกฟผ. กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ และล่าสุดโรงไฟฟ้าวังน้อย ของ กฟผ. ซึ่งเดินเครื่องอยู่ 600 เมกะวัตต์ ต้องหยุดเดินเครื่องแล้ว เนื่องจากประสบภาวะน้ำท่วม
ทั้งนี้ กฟผ. ได้ปรับแผนเดินเครื่องจากโรงไฟฟ้าเข้าระบบแทน ได้แก่ โรงไฟฟ้า พระนครใต้ ชุดที่ 1 ของ กฟผ. จำนวน 300 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าระยอง ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) จำนวน 300 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสำนักงานกลาง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กฟผ. ได้เพิ่มระดับความสูงเขื่อนคอนกรีตริมแม่น้ำเจ้าพระยา จาก 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เป็นระดับ 3.40 ม.รทก. และเสริมแนวถุงทรายชั้นในรอบโรงไฟฟ้าสูง 3.60 ม.รทก. พร้อมเตรียมกระสอบทรายสำรองพร้อมเสริมประจำทุกจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้าเพิ่มเมื่อระดับน้ำแม่น้ำ 3 ม.รทก.
“แม้ว่าโรงไฟฟ้าพระนครเหนือถึงที่สุดอาจต้องหยุดผลิต แต่สำรองพร้อมจ่ายก็ยังเหลือสูงถึง 1,200 เมกะวัตต์ จึงมั่นใจว่าระบบไฟฟ้าไม่มีปัญหา"นายสุทัศน์กล่าว
นายสุทัศน์กล่าวถึงภาพรวมการระบายน้ำจากเขื่อนของ กฟผ. ว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่าการเกิดภาวะน้ำท่วมมากเป็นประวัติศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งนี้ มีสาเหตุจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ซึ่งข้อเท็จจริงในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ และมีคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตรงกันข้าม หากวันนี้ไม่มีเขื่อนใหญ่อย่างภูมิพลและสิริกิติ์ที่มีความจุรวมกันถึง 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร วันนี้กรุงเทพฯ น้ำคงจะท่วมแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น