xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้น ระดม500ล้าน ช่วยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมมือ 3 สมาคม ระดมทุน 500 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ ด้านบจ.รอประเมินความเสียหายหลังน้ำลด ขณะที่ห้างค้าปลีกนั่งไม่ติดเก้าอี้ วางมาตรการเข้มรับมือน้ำท่วมกรุง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (สธท.) เปิดเผยถึง แนวทางความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ ว่า ขณะนี้สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้ประชุมร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 3 องค์กรที่เป็นสมาชิกของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย คือ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เพื่อร่วมกันระดมเงินทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินของตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 250 ล้านบาท และอีก 250 ล้านบาท จาก สมาคมบลจ. สมาคมบล.และสมาคมบจ.

ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) ของแต่ละหน่วยงานเพื่อพิจารณาการจัดสรรเงินเพื่อมาร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หลังจากนั้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาบริหารจัดการเงินจำนวน 500 ล้านบาท ว่าจะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างไร ซึ่งจะมีการประสานงานกับทางรัฐบาลว่าต้องการให้นำเงินไปช่วยเหลือในส่วนไหนบ้าง

“ซึ่งการระดมเงินทุนดังกล่าวจำนวน 500 ล้านบาท นั้นเป็นแนวความคิดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการที่จะช่วยเหลือและฟื้นฟูให้กับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม” นายไพบูลย์ กล่าว

นางสาวเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยสมาคมบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการสมาคมบจ. ได้ระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเต็มที่ อาทิ บริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ ได้ผลิตส้วมหรือสุขาลอยน้ำไปบริจาค ขณะที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่รับดูแลรับผิดชอบด้านอาหาร ข้าวกล่องต่างๆ ส่วนบมจ. ปตท. รับผิดชอบช่วยเหลือเรื่องน้ำมัน รวมถึงบริษัทอื่นๆอีกจำนวนมาก
“ขณะนี้สมาคมบจ. ได้ระดมเงินทุนจากสมาชิกได้จำนวนหนึ่ง เบื้องต้นจะใช้ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน และอีกส่วนหนึ่งจะสนับสนุนการทำแผนระยะยาวของประเทศ” นางสาวเพ็ญศรี กล่าว

สำหรับความช่วยเหลือบจ.ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น นางสาวเพ็ญศรี กล่าวว่า รัฐบาลน่าจะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งความเสียหายของบจ.นั้นคงจะต้องรอให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายก่อน จึงจะสามารถประเมินผลกระทบและความเสียหายได้ โดยจะต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การฟื้นฟูทรัพย์สินที่เสียหายให้กลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ เพราะเครื่องจักรจำนวนมากเสียหาย รวมถึงความสูญเสียจากคำสั่งซื้อที่ไม่สามารถส่งมอบสินค้าในช่วงน้ำท่วม

สำมาตรการความเชื่อเหลือผู้ประกอบการ เช่น การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือดอกเบี้ย 0% ในช่วงแรกของการฟื้นฟูธุรกิจ รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ด้วย แต่ในช่วงนี้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชนต้องช่วยประชาชนก่อนและสิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความช่วยเหลือหลังน้ำลด ทั้งการเยียวยาด้านจิตใจ ที่อยู่อาศัย และการสาธารณสุขปัจจัย 4 ต่างๆ

***ห้างจัดทัพพร้อมรับมือน้ำท่วมกรุง

ด้านนายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กล่าวถึง มาตรการในการรับมือกับน้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่า บริษัทได้วางแผนการป้องกันไว้เรียบร้อยแล้วอย่างดีมาประมาณ 1 สัปดาห์ล่วงหน้าแล้ว ด้วยงบประมาณที่เตรียมไว้กว่า 10 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับน้ำท่วมครั้งนี้ได้

โดยได้เตรียมกระสอบทรายไว้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ถุง และเครื่องสูบน้ำอีกจำนวนน 4 เครื่องต่อสาขา เพื่อระบายน้ำออกจากตัวอาคาร และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าเวรยามตลอด 24 ชั่วโมงในทุกสาขา

ทั้งนี้สาขาที่ต้องระมัดระวังและจับตามองเป็นพิเศษ เพราะอยู่เขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหนัก คือ สาขาปิ่นเกล้า รัตนาธิเบศร์ แจ้งวัฒนะ และลาดพร้าว เนื่องจากมีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำข โดยในส่วนของสขาขาปิ่นเกล้นานั้นใกล้แม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด ส่วนสาสขาลาดพร้าวนั้นมีหม้อแปลงอยู่ใต้อาคาร แต่มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของศูนย์มากนัก เพราะอุปกรณ์ที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่บนตัวอาคาร
นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจราชประสงค์ หรือ อาร์เอสทีเอ กล่าวว่า สมาคมฯได้เตรียมความพร้อมไว้ 3 มาตรการในการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดน้ำท่วมใหญ่คือ 1.การทำงานร่วมกับเขตปทุมวัน เพื่อเช็คระดับน้ำ 2. การแจ้งให้สมาชิกทราบเกี่ยวกับระดับน้ำวันละ 2 ครั้ง และ 3 การเตรียมความพร้อมด้านกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมเจ้าหน้าที่และตั้งศูนย์อำนวยการ เพื่อดูแลความเรียบร้อย

“การเตรียมตัวของสมาคมฯเราตอนนี้ค่อนข้างพร้อม ในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เรามีการเช็คระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองแสนแสบอย่างอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากมีระดับน้ำเปลี่ยนแปลงสมาคมฯจะแจ้งให้กับสมาชิกทราบภายใน 6 ชั่วโมงทันที”

นายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ผู้บริหารอาวุโสสายการตลาด ศูนย์การค้าสยามพารากอน บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า แม้ว่าบริษัทฯจะมีความมั่นใจว่าทางรัฐบาลและกรุงเทพมหานครจะสามารถจัดการและรับมือกับภัยน้ำท่วมใหญ่คครั้งนี้ได้ก็ตาม แต่บริษัทฯก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเตรียมมาตรการรับมือไว้ 2 ปัจจัยหลักคือ 1. การขอความร่วมมือจากซัพพลายเออร์ และบริษัทในเครือ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย 2. การเตรียมกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นกับศูนย์การค้าพร้อมกันนี้บริษัทยังได้มีการสังเกตระดับน้ำในคลองอย่างใกล้ชิด

ในส่วนของธุรกิจนั้นบริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโต 10-15% ในไตรมาสุดท้ายนี้ซึ่งปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่เติบโต 20% แต่หากมองในภาพรวมทั้งปีก็ยังทำให้มีการเติบโตอยู่ 10% ซึ่งยังถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยช่วงไตรมาส 4 จะใช้งบ 100 ล้านบาท เพือ่ทำการตลาดทั้งการจัดกิจกรรมใหญ่ต่อเนื่อง 20 งาน กระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคและฉลองครบรอบ 6 ปีสยามพารากอน ล่าสุดได้ใช้งบ 15 ล้านบาท จัดงาน “สยาม พารากอน เวิลด์ เมจิเชียน โชว์” หรือการแสดงมายากลระดับโลกจาก 3 ทวีปมาแสดงให้ลูกค้าได้ชม.
กำลังโหลดความคิดเห็น