xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตปัญหาของประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: วิจิตร สุระกุล

วิกฤตปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางการศึกษาของ R. M. MacIver ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่า อาการอย่างเดียวกันนี้เกิดสูงและเป็นอันตราย (peril) ของประเทศประชาธิปไตยใหม่ๆ ที่ยังเป็นทารก (infant) ของการปกครองในระบอบนี้ สาเหตุเกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักการอันเป็นปรัชญา วิธีการและเงื่อนไขของประชาธิปไตย ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า

- ประชาธิปไตย (democracy) คือ วิถีชีวิต (way of life) แต่การเมือง (politic) คือ ธุรกิจ (business)

- ในกระบวนการ (process) ของการเป็นประชาธิปไตย ต้องการความมีวุฒิภาวะ (maturation)

- ในประเทศที่ประชาชนขาดความสามัคคีหรือไม่มีความเป็นชาตินิยม (nationalism) ยากที่จะพัฒนาการปกครองในระบอบนี้

- ในประเทศที่ประชาชนมีความเฉื่อยชาทางการเมือง (political inert) ขาดการศึกษา ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขาดความผูกพันในเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน (common interest) ก็ยากที่จะปกครองในระบอบนี้

- ในประเทศที่เคยมีการปกครองในระบอบ “คณาธิปไตย” (oligarchical system) มาก่อน คือ ระบอบที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ (monarch) ก็ยากที่จะพัฒนาการปกครองในระบอบนี้

- ไม่เคยมีประเทศไหน ที่ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ (completely achived) จากการปกครองในระบอบนี้

G. A. Jacobsen และ M. H. Lipman นักทฤษฎีทางการเมือง (political theorist) ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้อธิบายว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นผู้กำหนดโครงสร้างของประเทศ เป็นผู้กำหนดระเบียบทางการเมืองและการปกครอง ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจที่สุดว่า “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง (governmental structure) กฎหมาย หรือนโยบาย เป็นเรื่องสำคัญมาก” ได้พูดถึงเรื่อง “รัฐเดี่ยว” (unitary state) ว่า

1. แหล่งที่มาของอำนาจของรัฐเดี่ยวมีหนึ่งเดียว (one source of authority หรือ single focus of authority) คืออำนาจที่มาจากรัฐบาลกลาง

2. การบริหารจัดการประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว ต้องนำเอาหลักการ เรื่อง “องค์การที่เป็นเอกภาพของรัฐ” (The unitary organization of the state) มาใช้

3. หลักการของประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว กับหลักการของประเทศที่เป็น “สหรัฐฯ” “ขัดแย้งกันโดยตรง” (antithesis) คือ “เข้ากันไม่ได้”

R. M. MacIver ก็ได้ให้ข้อสังเกตว่า หลักการของรัฐเดี่ยวที่เป็นประเทศ “มหาชนรัฐ” (republic) ก็ “ขัดแย้งกันโดยตรง” กับประเทศที่ปกครองด้วยกษัตริย์ (monarch) คือ “เข้ากันไม่ได้” เช่นเดียวกัน

ถ้านำเอาข้อสังเกตของนักรัฐศาสตร์ทั้งสาม มาวิเคราะห์ จะปรากฏว่า เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ที่ประเทศไทยไปนำเอาหลักการของประเทศที่เป็น “สหรัฐฯ” และประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวแบบ (type) “มหาชนรัฐ” มาใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศ เพราะหลักการที่นำมาใช้ ต่างก็ขัดแย้งกันโดยตรงกับรูปแบบ (form) ของการปกครองของประเทศไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

การกระทำดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการดูหมิ่นและลบหลู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ย้อนกลับมาที่เรื่อง “องค์การที่เป็นเอกภาพแห่งรัฐ” นักรัฐศาสตร์ทั้งสอง ได้อธิบายว่า เมื่อรัฐเดี่ยวเติบโตขึ้น และรัฐบาลไม่สามารถดูแลประเทศอย่างทั่วถึง รัฐบาลต้องแต่งตั้งผู้แทนทำหน้าที่แทน

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากมีการประกาศรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แล้ว คณะราษฎรได้นำเอาหลักการขององค์การที่เป็นเอกภาพของรัฐมาใช้ โดยมีการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ

1. พระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2476 กฎหมายนี้ ได้กำหนดให้แบ่งการบริหารประเทศไทย ออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น

2. พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2476 การที่คณะราษฎรได้นำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ในการบริหารประเทศ เป็นการปฏิบัติตามหลักการสากลของประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว ทุกประการ

วิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นและลุกลามมาจนถึงวันนี้นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เข้ายึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

ความจริง เป็นไปตามที่นักรัฐศาสตร์ทั้งสองพูดไว้ทุกประการ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง กฎหมายและนโยบายที่คณะราษฎรวางรากฐานเอาไว้ ถูกเปลี่ยนแปลงเกือบหมดสิ้น กฎหมายตามข้อ 1 ถูกเปลี่ยนแปลง ราชการส่วนภูมิภาคถูกเปลี่ยนแปลง องค์กรส่วนท้องถิ่นถูกเปลี่ยนแปลง เกิดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดองค์กรอิสระ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมาย การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ยึดหลักการ ทำให้เกิดปัญหา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ชุดที่ 1 มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ชุดที่ 2 มี นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน ชุดที่ 3 มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน การทำงานไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเรื่องที่กำหนดให้ทำ มีขอบเขตกว้างขวางเกินไป ถ้าเจาะปัญหาให้ตรงกับสาเหตุ จะได้ผลงานมากกว่านี้

วิกฤตปัญหาที่เห็นกันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองก็ดี ทางการปกครองก็ดี ตลอดจนปัญหาเรื่องความไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และอื่นๆ ก็ดี ล้วนเกิดมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาลทั้งสิ้น บริหารประเทศโดยไม่ยึดหลักการและไม่มีมาตรฐาน ไม่รู้ว่า “รูปแบบการปกครอง” (form of government) เกิดจากอะไร ไม่รู้ว่า การบริหารประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีหลักการอย่างไร เพราะความไม่รู้และไม่เข้าใจ จึงไปลอกแบบของประเทศอื่นมาใช้ บางทีก็คิดเอาเอง (guesswork) ในที่สุดก็กลายเป็นวิกฤตปัญหาให้กับพระมหากษัตริย์และประเทศไทยเอง

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2544 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ดับเบิล สแตนดาร์ด” จะทำให้ประเทศไทยหายนะ ผ่านมา 10 ปีแล้ว ไม่มีรัฐบาลไหนรู้ว่า พระราชดำรัสดังกล่าวหมายความว่าอย่างไร

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรฉวยโอกาสลบคำปรามาส ที่ว่าเป็น “มือใหม่ หัดขับ” ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทบทวนว่า มีโครงสร้าง กฎหมายหรือนโยบายใดบ้างที่เป็นปัญหาในการบริหารประเทศ แล้วทำเป็น “แผนพัฒนาประเทศไทย” ทำแล้วให้แยกเป็นโครงการย่อย จัดลำดับความสำคัญให้เป็นระบบ เช่น

1. ปัญหาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน

2. ปัญหาตามกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น

3. ปัญหาตามรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยองค์กรอิสระ

4. ปัญหาตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร และ

5. ปัญหาอื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็น

หาคนที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์ ในเรื่องการบริหารจัดการของประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวมาทำงาน ให้ชี้ชัดลงไปเลยว่า ปัญหาใด เกิดจากสาเหตุใด เมื่อได้ข้อยุติแล้วหากเห็นว่า รัฐธรรมนูญขัดกับเรื่องใด ก็หาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญกันต่อไป

แน่นอนที่สุด เมื่อรัฐบาลได้ดำเนินการทบทวนเรื่องดังกล่าวแล้ว ปัญหาทั้งหมดที่เคยโยงกันอยู่ ก็จะคลายตัวตามไปด้วยอย่างอัตโนมัติ ความเป็น “มาตรฐานเดียว” ตามพระราชดำรัส ที่ทุกคนต้องการก็จะเกิดขึ้น การพัฒนาการปกครองในระบอบนี้ ก็จะเป็นไปด้วยความก้าวหน้าและเรียบร้อย

เชื่อว่า การทำงานในแต่ละโครงการ สามารถทำให้สำเร็จภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน ถ้าไม่แก้โดยวิธีนี้ การปฏิวัติรัฐประหารจะต้องมีต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น