ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ย้อนรอย “ทักษิณ” คิด “เพื่อไทย” ทำ ลั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เยียวยาและคืนความเป็นธรรมให้ผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐประหารปี 2549 ปรามทหารอย่ายุ่งการเมือง สร้างภาพย้ำผ่าน “ปู” ไม่นิรโทษกรรมให้คนใดคนหนึ่ง จะก้าวข้ามวิกฤตสู่สันติสุขหรือจะจุดชนวนวิกฤตไม่สิ้นสุด
หลังผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ โดยพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง264 คน ตามมาด้วยประชาธิปัตย์ 160 คน ภูมิใจไทย 34 คน ชาติไทยพัฒนา 19 คน ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 7 คน รักประเทศไทย 4 คน มาตุภูมิ 2 คน มหาชน 1 คน ประชาธิปไตยใหม่ 1คน รักษ์สันติ 1คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงถึง 74% คือ 34,799,258 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47,020,579 คน ทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย ประกาศจัดตั้งรัฐบาล โดยดึงชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พลังชล มหาชน รวม 299 เสียง เข้าร่วมเป็นใบเฟิร์นประดับและหินรองแจกันดอกไม้
แม้ภาพของ ยิ่งลักษณ์ ในเวลานี้ จะเป็นเสียยิ่งกว่าซินเดอเรลล่า ที่สามารถก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยด้วยเวลาเพียง 40 กว่าวันบนเส้นทางการเมือง แต่ความเป็นจริงแล้ว เธอเป็นเพียงแค่ “โคลนนิ่ง” ทักษิณ คำพูดจากปากของยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่ “ทักษิณ” คิด เพื่อให้ “เพื่อไทย” ทำตามเท่านั้น
เมื่อฟังการแถลงของ ยิ่งลักษณ์และ 5 พรรคที่ประกาศจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ว่าสิ่งที่รัฐบาลจะทำคือ ปรองดองกับทุกภาคส่วน โดยให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ร่วมกับคณะทำงานของ 5 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และคณะกรรมการอิสระ ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อดูในแง่กฎหมาย การฟื้นฟูเศรษฐกิจ สมานสามัคคีกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการ ขจัดคอร์รัปชั่น และย้ำว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมให้คนใดคนหนึ่ง จะเป็นเพียงคำลวงหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูคำประกาศจากปากของ ทักษิณ ชินวัตร ที่หอประชุมธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2554 โดยเฉพาะนโยบายก้าวข้ามวิกฤตสู่สันติสุขของสังคมไทย ที่มีอยู่ 7 ข้อ คือ
1.ต้องมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการแทรกแซงขององค์กรและกลุ่มบุคคลใด คณะกรรมการการเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐต้องทำหน้าที่โดยอิสระและเป็นกลางอย่างแท้จริง
2.ทุกฝ่ายต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชนและผลการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องไม่มีการใช้อำนาจนอกระบบแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล
3.ต้องไม่มีการใช้อำนาจนอกระบบแทรกแซงการทำงานขององค์กรฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรเหล่านี้ต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรม ปฏิบัติหน้าที่อย่างยุติธรรม เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของทุกองค์กร
4.พิทักษ์และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทุกฝ่ายต้องไม่ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง ใส่ร้ายและทำลายผู้อื่น
5.สถาบันทหารต้องมีไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชและบูรณภาพของดินแดน ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ปกป้องคุ้มครองประชาชน ประโยชน์ของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองหรือกดดันทางการเมือง
6. ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยให้ประชาชนลงประชามติว่าจะใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 หรือ ฉบับ พ.ศ. 2550 เป็นฐานในการยกร่าง เมื่อยกร่างเสร็จแล้วให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง
7.คืนความเป็นธรรมและเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากการกระทำที่สืบเนื่องจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 รัฐธรรมนูญชั่วคราว และรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550
คำประกาศนโยบายก้าวข้ามวิกฤตสู่สันติสุขของ ทักษิณ ข้างต้น เมื่อประเมินแล้วประเด็นที่จะเป็นชนวนความขัดแย้งในสังคมหนีไม่พ้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะหากมองย้อนกลับไปยังรัฐบาลร่างทรงของทักษิณ ไม่ว่า รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หรือรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ล้วนแต่จบสิ้นลงเพราะประเด็นนี้ รวมถึงรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ก็ขัดแย้งกับพรรคร่วมด้วยกันเองและถูกกดดันจากภาคประชาชนเพราะเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และให้ลงประชามติที่เพื่อไทยพับสนามเล่นว่าจะเอารัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือ ฉบับปี 2550 จึงเป็นเรื่องที่จะจุดชนวนให้เกิดวิกฤตอีกครั้ง
ขณะที่ประเด็นคืนความเป็นธรรมและเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งมีความซับซ้อน คืนความเป็นธรรมกับการแก้แค้นเป็นแต่เพียงคำอธิบายของฝ่ายที่มีชัยชนะเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อนับรวมถึงประเด็นนิรโทษกรรม ที่มีคำยืนยันว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมให้คนใดคนหนึ่ง นั้น เมื่ออ่านความระหว่างบรรทัดก็รู้ได้โดยชัดแจ้งว่า ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรม เพียงแต่จะไม่นิรโทษกรรมให้คนใดคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนในบรรดาผู้ที่รอคอย และวางแผนทุกอย่างเพื่อการนิรโทษกรรมเป็นเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่ใครอื่น แต่ก็คือ ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง
ชัยชนะจากการเลือกตั้งของเพื่อไทยในวันนี้ จึงถูกจับตาว่าเป็นบันไดสู่การนิรโทษกรรมเพื่อให้ ทักษิณ ได้กลับบ้านอย่างผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น นโยบายก้าวข้ามวิกฤตสู่สันติสุขก็อาจจะจุดชนวนวิกฤตไม่สิ้นสุด