xs
xsm
sm
md
lg

ทำให้ซับซ้อน ซ้ำซาก เข้าใจยาก สองมาตรฐาน และหักดิบกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: คมสัน โพธิ์คง

คมสัน โพธิ์คง
สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


เมื่อวันก่อนได้รับเกียรติจากคุณพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยว่า เป็นนักวิชาการขาประจำ ไม่ค่อยได้ทำประโยชน์ให้ประชาชน(แต่คนที่บ้านทับยาง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงาน บ้านเกิดของคุณพร้อมพงษ์เขาอาจบอกว่าไม่เป็นความจริง) ในวันนี้ขอทำหน้าที่ “นักวิชาการขาประจำ” ตามที่มีการแต่งตั้งเสียหน่อย ในเรื่องของการพิจารณาถึงการมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายจตุพร พรหมพันธ์ ที่กำลังแปลงกายจากหนังเรื่องสั้นกลายเป็นหนังเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่อยู่ในมือของคณะกรรมการการการเลือกตั้งในชุดปัจจุบันนี้ ผมเคยเสนอบทความในสื่อต่างๆ เรื่อง' “จตุพร' ยังเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่” ไปเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยสรุปว่า นายจตุพร ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ และคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของนายจตุพรให้เสร็จสิ้นเสียก่อนวันเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจต้องรับผลทางกฎหมาย แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่กรรมการช่างพูดแต่ดูแลงานด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย แถลงถึงการตั้งคณะกรรมการการไต่สวนขึ้นมา เพื่อความรอบคอบเป็นการตั้งประเด็นก่อนส่งเรื่องให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๙๑ นั้น ทาง กกต.จะต้องชี้ว่านายจตุพรสิ้นสุดความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือไม่ ด้วยเหตุที่ต้องคุมขังโดยหมายของศาลและเป็นเหตุให้ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๓ ก.ค.ที่ผ่านมานั้น และต้องเป็นประเด็นตามมาตรา ๑๐๖ ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการสิ้นสุดของสาเหตุการสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ไม่ใช่จะพิจารณาตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา ๘ ,๑๙,๒๐ เท่านั้น เพราะ พ.ร.บ.พรรคการเมือง นั้นเป็นการชี้เรื่องของความเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น นอกจากนี้ยังให้ความเห็นอีกว่าถ้าดูตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๖ แล้ว นายจตุพรไม่น่าจะสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นความเห็นเบื้องต้นในขณะนี้ การตั้งกรรมการขึ้นมาของ กกต.ใหม่ใช่การหาประเด็นเพื่อช่วยนายจตุพร หรือยื้อเรื่องนี้ออกไปอีก ต้องทำให้รอบคอบเพราะไม่อยากถูกฟ้อง

การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ผมมีความเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังทำให้เรื่องนี้เกิดความสับสน ทำเรื่องให้ “ซับซ้อน” เข้าใจยากขึ้น มีการพิจารณาในเรื่องเดิม “ซ้ำซาก” ให้ประชาชนเบื่อหน่าย พิจารณาแบบ “สองมาตรฐาน” ในกรณีของนายจตุพรกับนายสุรทิน พิจารณ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคประชาธิปไตยใหม่ และหากผลเป็นอย่างที่นายสมชัยให้ความเห็นว่านายจตุพรไม่น่าสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.ตามมาตรา ๑๐๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายก็กำลังถูก “หักดิบ” ทำลายลงโดยการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ปราศจากความชอบธรรม เหมือนกับที่เคยกระทำเมื่อตอนพิจารณาจนส่งผลให้มีการตัดสิทธิประชาชนกว่าสองล้านคน

ในเรื่องของการกระทำที่สับสน ทำให้ “ซับซ้อน” “ซ้ำซาก” และ “เข้าใจยาก” ของคณะกรรมการ การเลือกตั้งในกรณีนี้ผมเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังใช้กระบวนวิธีพิจารณาซ้ำๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ขึ้นมาตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการขึ้นมาตั้ง ๔ ประเภท คือ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน คณะกรรมการช่วยตรวจสำนวนการสืบสวนสอบสวน คณะกรรมการตรวจสอบเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และคณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาข้อโต้แย้ง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการที่มาตรวจสอบครั้งแรกเป็นคณะกรรมการประเภทใด เป็นคณะกรรมการตรวจสอบเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ และคณะกรรมการที่ตั้งมาใหม่เป็นคณะกรรมการใด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องเดียวกันอย่างนี้ให้ครบมันทุกประเภทเลยจะดีกว่าหรือไม่ (ในโอกาสหน้าผมจะอธิบายอำนาจหน้าที่ภารกิจของคณะกรรมการและอนุกรรมการของคณะกรรมการการเลือกตั้งในคราวหน้าจะได้รู้ว่า “ซ้ำซ้อน” แค่ไหนและคณะกรรมการการเลือกตั้งทำให้เรื่องหลายเรื่องล่าช้าด้วยเหตุใด) แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเรื่องไม่มีความจำเป็นเลย เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังนำกระบวนการในการแสวงหา “ข้อเท็จจริง” มาใช้กับแสวงหาคำตอบใน “ข้อกฎหมาย” ที่ไม่ต้องหา แต่ให้วินิจฉัยหรือแสวงหาเจตารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตีความ” ให้ถูกต้อง คณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องอะไร อยู่ขั้นตอนไหน ก็ในเมื่อก่อนหน้านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยพิจารณาในข้อเท็จจริงทั้งหลาย(ที่ไม่ซับซ้อนและสับสนเพราะอยู่ที่ฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)และมีมติไปแล้วด้วยเสียงข้างมากไม่ใช่หรือว่า นายจตุพร ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยเหตุถูกคุมขังโดยหมายศาลจึงเป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้งตามกฎหมาย และทำให้สิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพพรรคเพื่อไทยแม้จะมีการแก้ไขข้อบังคับของพรรค แต่ข้อบังคับพรรคต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ตามคำแถลงของนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔) คณะกรรมการการเลือกตั้งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนหา........อะไรไม่ทราบ ก็ในเมื่อตนเองวินิจฉัยมีมติไปแล้วด้วยเสียงข้างมากไปแล้ว ที่ผ่านมาคณะกรรมการการเลือกตั้งเพียงแต่มีข้อขัดข้องทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๕ ที่ห้ามมิให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลฎีกาดำเนินการเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามอีกต่อไปเมื่อถึงวันเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีภาระต้องเสนอต่อประธาน สภาผู้แทนราษฎรอีกตามมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผมขอใช้วาทกรรมของคนเสื้อแดงในการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องกรณีนี้ว่า เป็นการกระทำ “สองมาตรฐาน” เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของแกนนำคนหนึ่งของคนเสื้อแดง เพราะการวินิจฉัยเรื่องการมีคุณสมบัติในกรณีของนายจตุพร นี้มีความแตกต่าง และไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยวินิจฉัยกรณีของนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชิปไตยใหม่ ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพราะตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้ในวันเดียวกับที่มีมติกรณีของนายจตุพร ว่าให้ดำเนินคดีทางอาญากับนายสุรทิน พิจารณ์ และให้พิจารณาเลื่อนนางสาวพัชรินทร์ มั่นปาน ผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนคนต่อไปขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกล่างอ้างอย่างไรในเมื่อ ทั้งกรณีของนายจตุพรและนายสุรทินต่างก็เป็นเรื่องที่เหมือนกัน เริ่มตั้งการมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามเหมือนกัน และเป็นผู้สมัครในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองในระบบสัดส่วนเหมือนกัน และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัยไปในวันเดียวกันหลังจาก “วันเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผ่านไปแล้วเหมือนกัน ผมเห็นว่า กรณีอย่างนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะ “สองมาตรฐาน” ตามวาทกรรมของคนเสื้อแดง(แต่แปลกที่ไม่มีคนเสื้อแดงมาเรียกร้องซักคน ไม่คืนความเป็นธรรมให้คุณสุรทินบ้างหรือครับ) คณะกรรมการการเลือกตั้งจะอ้างหรือไม่ว่าเป็นคนละกรณีกัน เพราะนายสุรทิน ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยใหม่แล้วเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ จึงไม่มีฐานะเป็นผู้สมัครและมีลักษณะต้องห้ามมาก่อนการก่อตั้งพรรคการเมืองหรือก่อนสมัครรับเลือกตั้ง แล้วกรณีของนายจตุพรก็มีปัญหาเรื่องการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมาก่อนสมัครรับเลือกตั้งทำไมจึงยังคงอยู่ได้ อย่าลืมนะครับว่าหลังวันเลือกตั้งแล้ว การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องห้ามไม่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทำอะไรอีกต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรรคการเมือง ถึงแม้นายสุรทินจะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง(หลังวันเลือกตั้ง) ถ้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ได้รับคะแนนเสียงจนมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบสัดส่วนได้แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องส่งสอบสวนและเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเหมือนกับกรณีของนายจตุพร หรือต้องส่งนายจตุพรดำเนินคดีอาญาและเลื่อนผู้สมัครลำดับถัดไปขึ้นมาแทน ถ้าทำเช่นนี้จึงจะเป็น “มาตรฐานเดียวกัน” ไม่ใช่ “สองมาตรฐาน”

คณะกรรมการการเลือกตั้งกระทำการอันเป็นการ “หักดิบ” ข้อกฎหมาย อีกแล้ว(ขอใช้ถ้อยคำที่ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร เคยเขียนบทความและกล่างถึงการ “หักดิบ” กฎหมายไว้) ด้วยการตั้งประเด็นข้อกฎหมายใหม่จนถึงกับมีกรรมการการเลือกตั้งบางคน(นายสมชัย จึงประเสริฐ) มีความเห็นส่วนตนมาก่อนเรื่องสิ้นสุด(ไม่ควรทำ)การกล่าวอ้างว่า นายจตุพรไม่น่าจะพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยมีมติไปแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังตั้งประเด็นใหม่เกี่ยวการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งว่าขาดคุณสมบัติเพราไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งไม่เป็นประเด็นในปัญหาทางกฎหมาย เพราการเสียสิทธิเลือกตั้งเนื่องจากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะเกิดหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยมีเหตุจำเป็นของผู้นั้นเสียก่อน(ความจำเป็นสำคัญมากเพราะติดคุกอยู่)เสียก่อน และต้องวินิจฉัยไปในอนาคตข้างหน้านับจากวันเลือกตั้งในครั้งนั้นไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่นับย้อนหลังกลับไปก่อนวันเลือกตั้ง มีเขียนไว้ชัดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการเลือกตั้งบางคนเล่นตีความ “หักดิบ” แบบนี้หรือจะเอาเหตุนี้ไปยกเป็นเหตุไม่ส่งเรื่องไปประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่าลืมและทำงงๆ สับสนนะครับ ถ้าทำอย่างนี้มัน “หักดิบ” กฎหมาย และยังมีข้อกฎหมายอื่นที่ “ถูกต้อง” ตามหลักการอยู่

ผมนึกถึงภาพเมื่อตอนเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ ผมจำได้ว่าในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญหลายครั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระ มีการเสนอให้ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งโดยอยู่เพียงครึ่งวาระในวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบางคนซึ่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและเป็นกรรมการการเลือกตั้งอยู่ร้องขอต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระอยู่จนครบวาระ ในที่สุดก็ได้ตามที่ขอ แต่ตอนนี้ผมกำลังคิดว่าที่สภาร่างรัฐธรรมนูญลงมติในครั้งนั้นเป็นความผิดพลาดประการสำคัญ เพราะขณะนี้ผมคิดว่าวาระการดำรงตำแหน่งที่มีอยู่นั้นนานเกินไปแล้ว หากองค์กรอิสระบางองค์กรทำให้เกิดความซับซ้อน สับสน ซ้ำซาก เข้าใจยาก สองมาตรฐาน และหักดิบกฎหมายแบบนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น