xs
xsm
sm
md
lg

กู้แสนล.แก้น้ำท่วม ‘โต้ง’ชงครม.วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “กิตติรัตน์” ชงครมออกพ.ร.บ.กู้หลายแสนล้านแก้น้ำท่วมแบบบูรณาการหวังแก้ไขปัญหาเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คลัง-ธปท.ประเมินสถาณการณ์เบื้องต้นฉุดจีดีพีร่วง 1.0 - 1.7% ด้านพาณิชย์เตรียมขอมาตรการผ่อนปรนอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ พร้อมเช็คสต็อกข้าวกรอกข้าวสาร 1 แสนตันขายให้ประชาชนราคาถูก ขณะที่อุตสาหกรรมระบุเฉพาะนิคมนวนครแรงงานเดือดร้อนราว 1.8 แสนราย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว,พาณิชย์ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ประกอบไปด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการร่วม ภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เพื่อหาแนวทางเยียวยาและมาตรการในการให้ ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งประเมินความเสียหายนับแสนล้านบาท รวมทั้งการผลิตที่ต้องหยุดลงส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และการผลิตสินค้าให้กับภาคเอกชนโดยรวม ที่อาจเกิดภาวะขาดแคลนได้

**”โต้ง” เสนอพ.ร.บ.กู้หลายแสนลบ.จัดการน้ำทั้งระบบ

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำเสนอแนวคิดต่อนายกรัฐมนตรีให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.รองรับการกู้เงินวงเงินหลายแสนล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ หลังจากเกิด สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในขณะนี้ ซึ่งเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะเห็นด้วยกับแนว ทางดังกล่าว โดยยืนยันว่าการออกพ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อนำมาลงทุนเพียงอย่างเดียว และถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะจะเห็นได้ว่าปัญหาน้ำท่วมจะท่วมทุกปี

"ถ้าใช้งบ 2 ล้านล้านบาทที่จะดูแลทั้งค่าใช้จ่าย ประจำก็เพียงพอที่จะเดินไปแบบถูๆ ไถๆ จนกระทั่งเกิดปัญหานี้ เพราะฉะนั้นเรา ควรที่จะยอมรับสักทีว่าเราต้องการการลงทุนอย่างจริงจังไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นมาอีก ไม่ใช้กู้เงินมาแจก ทำเรื่องลงทุนอย่างเดียว ผมไม่ได้มีเจตนาเทียบเคียงกับโครงการ ไทยเข้มแข็ง แต่ผมบอกว่าต้องทำจริงจังซะที พอสักทีท่วมทุกปี จนกระทั่งวินาศถึง ขั้นนี้ จนไม่มีใครกล้าหาญเผชิญกับความเป็นจริง ผมว่ามันไม่ไหว" นายกิตติรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของบุคคลที่จะมาดูแลในเรื่องของระบบน้ำ ยอมรับว่าอาจ จะต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้จริงในการแก้ไข ปัญหาเรื่องดังกล่าว

นายกิตติรัตน์ ยังยอมรับว่า ตนเองเป็นผู้เสนอให้มีการกำหนดกรอบวง เงินงบประมาณขาดดุลในปีงบประมาณ 2555 เพิ่มเติมอีก 5 หมื่นล้านบาท เพราะ เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมมาดูแลแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำหรับการฟื้นฟูหลังจากน้ำลดจะมีการประสานกับทางกระทรวง อุตสาหกรรม ในการเตรียมมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตสินค้าที่จะ ต้องจำหน่ายในประเทศ และสินค้าที่จะต้องส่งออกไปต่างประเทศ เพราะในขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบและมีความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการ เตรียมการรองรับเอาไว้

**รัฐประเมินน้ำท่วมฉุดจีดีพี 1-1.7%

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านเศรษฐกิจ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจาก ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อจีดีพี 1-1.7% แต่ตัวเลขต่างๆ ยังไม่นิ่ง ซึ่งจะ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆออกมาดูแลใน 3 ระยะ 1.ระยะเร่งด่วน 2.มาตรการเยียวยาฟื้นฟู 3.การเร่งป้องกันเหตุที่เกิดขึ้นระยะยาว

”หากจำเป็นรัฐบาลก็จะจัดตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อมาลงทุนในระยาว" นายธีระชัยกล่าว
ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย(ธปท.)ระบุว่า ยอดคงค้างสินเชื่อของนิคมฯอุตสาหกรรม 5 แห่งที่ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วม ณ สิ้นเดือนส.ค.มีวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.75% ของ สินเชื่อรวมทั้งระบบ โดยแบ่งเป็นสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย 56 % ที่เหลือเป็น ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ขณะนี้ทางธปท.ได้ประสานแบงก์พาณิชย์ดูแลลูกค้า ส่วนนี้แล้ว พร้อมกับการเข้าไปดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินไม่ไห้มีปัญหา

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นิคมฯที่ได้รับผล กระทบ มีวงเงินสินไหมประกัน 2.5 แสนล้านบาท เบื้องต้นมีความเสียหาย 7.7 หมื่นล้าน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งประสานงานบริษัทประก้นให้เร่งจ่ายเงินชดเชย โดยเร็วที่สุด

**พาณิชย์ชงครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือ

นายกิตติรัตน์เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการผลิต และจำหน่ายสินค้า ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการช่วยเหลือ เพื่ออำนวยความ สะดวกในการขนส่งสินค้า โดยจะเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติพรุ่งนี้(18ต.ค.) เช่น การไม่จำกัดเวลาในการขนส่งของรถบรรทุก การลดขั้นตอนในการขอเครื่องหมายอย.

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ตั้งศูนย์ปฏิบัติงานเพื่อ ประสานกับภาคเอกชน โดยมีหน้าที่หลัก คือ 1.ดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคใน เขตกรุงเทพฯและปริมณฑลให้เพียงพอต่อความต้องการ 2.ตั้งคณะทำงานประสาน งานกับเอกชน เพื่อแก้ปัญหาในด้านการขนส่งสินค้า และ3.ดูแลปริมาณสินค้าทุก ชนิดให้เพียงพอในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยประสานกับผู้ค้าและผู้ผลิตให้กระจาย สินค้าทั่วประเทศ

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาขณะนี้คือเรื่องการขนส่งสินค้า ซึ่งไม่สามารถนำ สินค้าเข้าตลาดได้ตามปกติ ขณะที่ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้า อาหารมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยที่ประชุมได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดย การลดเวลากระบวนการผลิตและการขนส่งสินค้า

"ส่วนแผนฟื้นฟูและการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมนั้น สอท .จะประชุมร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดในวันพรุ่งนี้(18ต.ค.) เพื่อนำข้อมูลทั้งหมด มาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง"นายพยุงศักดิ์กล่าว

**รมว.อุตฯชี้ท่วมนวนคร กระทบ 1.8แสนคน

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่ารัฐบาลจะป้องกันและต่อสู้กับสถานการณ์น้ำให้ถึงที่สุด หลังแนวกั้นชั้นที่ 1 ไม่สามารถต้านกระแสน้ำได้ ซึ่งขณะนี้ได้เร่งสร้างแนวกั้นชั้น 2 และ 3 เพื่อไม่ให้ เข้าพื้นที่สำคัญชั้นในของการนิคมนวนคร โดยการประเมินความเสียหายเบื้องต้น มีบริษัทได้รับความเสียหาย 227 โรงงาน พนักงานได้รับผลกระทบกว่า 1.8แสนคน ซึ่งวันนี้ที่ประชุม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งระดมความช่วยเหลือ

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหานิคมต่างๆหลังน้ำลดจะเร่งฟื้นฟูให้เร็ว ที่สุด ทั้งนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ลาดกระบัง และที่ฉะเชิงเทรา ได้เตรียมป้องกัน ไว้แล้ว ส่วนความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นในส่วนภาคอุตสาหกรรมและแรง งาน ดูแลเรื่องนี้เร่งด่วน ส่วนเรื่องสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีโรงงานที่ได้รับผล กระทบนั้น จะมีมาตรการยกเว้นภาษี ที่เท่าเทียมกัน แม้จะเป็นพื้นที่ที่ห่างจาก กทม.

**ระบุงบฯ 8 หมื่นล้านไม่พอเยียวยา

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าว หลังเข้าพบนายกฯ ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ว่า แม้จะมีน้ำทะลักเข้าไปบ้างแล้ว รัฐบาลยังไม่ยอมแพ้ ยังต่อสู้อยู่ จุดแรกน้ำผ่าน ด่านแรกไป ก็ยังมีด่านที่สองอยู่ อีกจุดเตรียมทำด่านที่สามรอรับ ทั้งนี้ ทันทีที่น้ำนิ่ง ก็จะกั้นเขื่อนแล้วรีบดูดน้ำที่ท่วมขังอยู่ออกทันที เพื่อให้พื้นที่แห้งเร็วที่สุด ลดความ สูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับโรงงาน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ก็จะให้ เร่งทำแนวป้องกันเตรียมรับสถานการณ์ในทุกแห่งที่มีโอกาส สำหรับความเสียหาย เบื้องต้นยังประเมินไม่ได้ แต่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนครมีจำนวนทั้งสิ้น 227 โรง มีคนงาน 180,000 คน และคนงานประเภทเอาต์ซอร์ส 300,000 คน ทั้งนี้ ยอม รับว่างบประมาณที่รัฐบาลเตรียมไว้ใช้ในการเยียวยาฟื้นฟู 80,000 ล้านบาท อาจ จะไม่เพียงพอ ยังต้องมีมาตรการอื่นออกมาเพิ่มเติมอีก อาทิ ให้สิทธิพิเศษ บางอย่างสำหรับโรงงานที่ถูกน้ำท่วม

**พาณิชย์สั่งเช็คสต็อกข้าวหวั่นถูกน้ำท่วม

นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาย หลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่ ดูแลโกดังเก็บสต็อกข้าวสารของรัฐบาล ตรวจสอบปริมาณข้าวที่มีอยู่ว่าได้รับผล กระทบจากน้ำท่วมมากน้อยเพียงใด เพราะสถานการณ์น้ำท่วมทวีความรุนแรง อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้ข้าวจมน้ำและได้รับความเสียหาย ส่วน ข้าวในสต็อกที่มีอยู่จะเร่งระบายต่อไป

สำหรับการนำข้าวสารในสต็อกรัฐบาล 100,000 ตัน มาบรรจุถุงเพื่อ จำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชา ติ(กขช.)นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์หาผู้เข้ามารับบรรจุถุง คาดว่าจะ ได้ข้อสรุป และสามารถผลิตออกมาจำหน่ายให้ประชาชนได้ในเร็วๆนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น