ในท่ามกลางวิกฤตการณ์น้ำท่วม ที่นับได้ว่าสาหัสสากรรจ์กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ที่ประชาชนนับแสนนับล้านคนต้องเดือดร้อนจากการสูญเสียทรัพย์สิน ทั้งเรือกสวนนาไร่ และเครื่องไม้เครื่องมือในการดำรงชีพ ตลอดจนที่อยู่อาศัยที่ถูกน้ำท่วมเสียหายไม่สามารถพักพิงอาศัย ต้องอพยพหลบหนี โกลาหลอลหม่านไม่ต่างจากภาวะศึกสงคราม
ที่หนักหนาสาหัสและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอย่างรุนแรง ก็คือ เขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียงหลายแห่งถูกน้ำท่วมเสียหายนับมูลค่าเป็นแสนๆ ล้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรดาลูกจ้างอีกนับแสนครัวเรือนที่ต้องหยุดพักงาน ขาดรายได้ กระหน่ำซ้ำเติม เพิ่มทุกข์จากการไร้แหล่งพักพิงอาศัยเพิ่มขึ้นไปอีก
ด้วยศักยภาพของรัฐบาลเสียงข้างมากท่วมท้นอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นฐานหนุนอย่างเนืองแน่น แรกๆ ทุกคนจึงหวังที่จะได้เห็นการแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลันทันทีของรัฐบาล และการผนึกกำลังของคนเสื้อแดงหลายๆ ล้านคน ออกมาระดมพลังเป็นประชาอาสาช่วยภัยน้ำท่วมครั้งนี้ร่วมกับฝ่ายราชการอย่างมืดฟ้ามัวดิน เหมือนคะแนนเสียงที่เทให้พรรคเพื่อไทยอย่างถล่มทลาย เพราะอย่างน้อยที่สุด ถึงจะแบ่งแยกฝักฝ่ายอย่างไร ก็น่าจะได้คำนึงถึงคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยในภาคเหนือและภาคกลางที่ประสบภัยทุกข์ร้อนจากน้ำท่วมครั้งนี้นับหลายร้อยหลายพันครัวเรือน
แต่นอกจากจะไม่ได้เห็นภาพที่หวังจะเห็น คนไทยส่วนใหญ่ยังกลับต้องช็อกกับพฤติการณ์ของบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งที่หนีน้ำท่วมไปทำพิธีเปิดอำเภอเสื้อแดง ที่อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมรุนแรงในหลายจังหวัดที่คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยเดือดร้อนแสนสาหัส
การปราศรัยในพิธีเปิดอำเภอเสื้อแดงของนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับพรรคพวก ส.ส.พรรคเพื่อไทย นอกจากจะเป็นการตอกลิ่มสร้างความแตกแยกสวนทางกับนโยบายปรองดองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ว การไปทำกิจกรรมที่ขัดแย้งกับแนวความคิดแดงรักเจ้าของนายขวัญชัย ไพรพนา ถึงถิ่นที่อยู่ อันเป็นเหมือนการหมิ่นเชิงชายเสื้อแดงด้วยกัน ก็กลายเป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนเสื้อแดง ในจังหวัดอุดรธานีที่เคยประกาศว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงอีกด้วย ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อขบวนการเสื้อแดงโดยรวมเลย
พฤติการณ์เหิมเกริมของนายจตุพร พรหมพันธุ์ และพรรคพวกกำลังจะกลายเป็นหอกทิ่มแทงบ่อนทำลายพรรคเพื่อไทยโดยรวมอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะความพยายามที่จะมุ่งร้ายหมายหัวกองทัพบก ด้วยการผลักดันให้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เพื่อให้ฝ่ายการเมืองสามารถล้วงลูกเข้าไปจัดการวางกำลังพลในกองทัพบกได้ หรือว่าที่จริง เป้าหมายก็คือการย้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ให้พ้นไปจากกองทัพบก ตามความประสงค์ของของเสื้อแดง ที่เคียดแค้นชิงชังฝังใจการล้อมปราบกระชับพื้นที่นั่นเอง
นอกจากนั้นยังผสมผสานเข้ากับแนวความคิดซ้ายจัดหลงยุคของธิดาแดงแห่ง นปช.ที่มุ่งหมายโค่นล้มอำมาตย์ลงให้จงได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ผนวกเข้ากับขบวนการนิติราษฎร์ ที่นำโดย ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายหนุ่มที่เหมือนถูกปิดตาแบบรถม้าลำปาง จึงตั้งเป้าที่จะล้มล้างรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ถ่ายเดียว โดยไม่สนใจใคร่รู้ว่า รัฐประหารครั้งอื่นๆ จะผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะรัฐประหารครั้ง รสช.ที่มีบิ๊กจ๊อด พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ และตั้ง ร.ต.อ เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแลองค์กรสื่อ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งยังวิ่งแลกเช็คอยู่ ไปประจบประแจงผู้มีอำนาจจากรัฐประหารทั้งสองคนนั้น จนได้สัมปทานดาวเทียมไทยคม และผูกขาดจนหายยากจน ผลพวงของรัฐประหารครั้งนั้น ดร.วรเจตน์ไม่สนใจใคร่อยากล้มล้างบ้างเลยหรือ?
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นอุปสรรคขวากหนามที่ดูเหมือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ยากจะฝ่าข้ามพ้นไปได้
วิกฤตการณ์น้ำท่วมวินาศสันตะโรในครั้งนี้ จึงแทบจะมองไม่เห็นศักยภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นมรรคเป็นผลเท่าที่ควรจะเป็นของรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากเกินครึ่งสภา การตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ดอนเมือง ก็ดูผิดฝาผิดตัวอย่างไรพิกล เพราะดันไปตั้งนายทหารอากาศ รมว.คมนาคมเป็นฝ่าย เสธ. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นฝ่ายปฏิบัติการ แทนที่จะเลือก รมว.เกษตร นายธีระ วงศ์สมุทร อดีตอธิบดีชลประทาน ที่มีความรู้ข้อมูลเรื่องน้ำ เป็นฝ่ายเสธ. มอบ รมว.กลาโหม ที่มีสรรพกำลังทหารช่าง และกำลังพลทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ เป็นฝ่ายปฏิบัติการ และมอบ รมว.กระทรวงมหาดไทย ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยโดยตรงเป็นผู้อำนวยการศูนย์
การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์ว่า นารีขี่ม้าขาว และนายใหญ่คนเสื้อแดงที่บงการอยู่แดนไกล จะเป็นคนเก่งคนดีมีความสามารถที่จะนำพาประเทศชาติ และนำความสุขของกลุ่มคนเสื้อแดงที่หายไปจากการปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 กลับคืนมาให้คนเสื้อแดงได้จริงหรือไม่
และประเทศไทยสมควรจะมีหมู่บ้านเสื้อแดง ตำบลเสื้อแดง อำเภอเสื้อแดง จังหวัดเสื้อแดง และในที่สุดกลายเป็นประเทศเสื้อแดง อย่างที่นายใหญ่เสื้อแดง ธิดาแดง หนูหริ่งแดง คางคกแดง และนิติราษฎร์สีแดง มุ่งหวังตั้งใจหรือไม่?
และประชาชนคนไทยนอกเหนือจาก 15 ล้านคน จะทนรับต่อไปไหวไหม?