xs
xsm
sm
md
lg

“2 ยากไร้ 1 ฉ้อฉล” วิกฤติแห่งความล้มเหลวรัฐไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 สังคมไทยเผชิญหน้ากับวิกฤติหลากหลายประเภททั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมืองและภัยธรรมชาติ เมื่อวิกฤติแต่ละอย่างเกิดขึ้นสิ่งที่ปรากฏโฉมออกมาเบื้องหน้าสายตาของผู้คนในสังคมคือภาวะ “ 2 ยากไร้ 1 ฉ้อฉล” ของรัฐไทย ซึ่งหมายถึงรัฐบาลและกลไกรัฐทุกประเภท ความยากไร้ประการแรกคือ “ความไร้ปัญญาในการวิเคราะห์สถานการณ์” ความยากไร้ประการที่สองคือ “ความไร้น้ำยาในการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ” และหนึ่งความฉ้อฉลคือ การทุจริตประพฤติมิชอบ

กรณีวิกฤติการณ์เศรษฐกิจหรือโรคต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540 รัฐไทยแสดงความอ่อนด้อยทางปัญญาในการวิเคราะห์ผลกระทบสืบเนื่องจากการเปิดเสรีทางการเงินให้ลึกซึ้งและรอบด้าน จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย กลไกรัฐที่สำคัญคือ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย มีอาการ “คาดไม่ถึง” เกี่ยวกับความสืบเนื่องเชิงสาเหตุของการเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งนำไปสู่การไหลทะลักของเงินตราต่างประเทศในรูปการกู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อเก็งกำไรในตลาดทุน ตลาดการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ การไหลเข้ามาของเงินตราต่างประเทศทำให้เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น จนทำให้บรรดาเหล่าเฮดจ์ฟันด์(hedge fund) หรือบรรดาฝูงหมาป่ากระหายเลือดทางการเงินซึ่งมองประเทศไทยเสมือนลูกแกะ ใช้เป็นช่องทางในการเข้ามาแสวงหากำไรโดยการโจมตีค่าเงิน

เมื่อเผชิญหน้ากับการโจมตีค่าเงินจากเฮดจ์ฟันด์ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการต่อสู้ในสงครามที่ไม่ชนะ เป็นการต่อสู้ที่ “ไร้น้ำยา” นำมาซึ่งความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับและน่าอับอาย เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศถูกใช้ไปจนเกือบหมดเกลี้ยง เหลือเงินทุนสำรองที่ไร้ภาระเพียง 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งไม่เพียงพอกับการรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกต่อไป (อย่างน้อยๆเงินทุนสำรองระดับต่ำของประเทศไทยที่เพียงพอต่อการรับมือความแปรปรวนทางเศรษฐกิจต้องมีอยู่ประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป) ในที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งทำให้มูลค่าเงินบาทลดค่าลงมาร้อยกว่าเปอร์เซ็นเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ (จาก 25 บาทลงไปสู่ระดับ 56 บาทต่อดอลลาร์)

สิ่งที่ตามมาอีกประการก็คือ การปิดบริษัทไฟแนนซ์อีก 56 แห่ง และการล้มละลายของบริษัทจำนวนมาก จนต้องนำบริษัทและทรัพย์สินไปขายทอดตลาดในราคาถูกๆให้ต่างชาติ และขายกลับในราคาแพงให้เจ้าของเดิม ความฉ้อฉลก็ได้แสดงออกมาให้ปรากฏในกระบวนการซื้อขายบริษัทและทรัพย์สินนี้แหละ

ประเทศไทยต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นโยบายทางเศรษฐกิจตกอยู่ในการควบคุมกำกับของต่างชาติ สูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ ผลพวงจากความไร้ปัญญา ไร้น้ำยา และฉ้อฉลของรัฐและกลไกรัฐ ทำให้ผู้คนจำนวนมากสิ้นเนื้อประดาตัว ไร้งานทำ บ้านแตกสาแหรกขาด เสียสติและฆ่าตัวตาย

จากการศึกษาของ พ.ญ. กมลเนตร วรรณเสวก สถิติการฆ่าตัวตายในพ.ศ. 2540 มี 27.4 ต่อประชากรแสนคน ต่อมาในปี 2544 เพิ่มเป็น 36.4 ต่อประชากรแสนคน ยิ่งกว่านั้นคนจำนวนมากหันไปหาเงินโดยการค้ายาเสพติด ผลที่ตามมาคือผู้คนโดยเฉพาะเยาวชนติดยาเสพติดกันเกลื่อนเมือง จากการศึกษาวิจัยของ กุลภา วจนสาระและกฤตยา อาชวนิจกุล พบว่าใน พ.ศ. 2541 มีจำนวนคดียาเสพติด 243,661 คดี และในพ.ศ. 2544 เพิ่มเป็น 284, 870 คดี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.91

ถัดจากนั้นไม่นานหรือใน พ.ศ. 2547 วิกฤติความมั่นคงก็ปะทุออกมาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความไร้ปัญญาแสดงออกมาโดยการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลางที่สรุปว่า สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะสงบ เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถควบคุมได้ และเมื่อเสนอต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรีในยุคนั้นก็มีปัญญาในการประเมินสถานการณ์จำกัดประกอบกับความอหังการในอำนาจกำปั้นเหล็กของตนเองซึ่งมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดได้ จึงได้ประกาศต่อสาธารณะว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของ “โจรกระจอก” แต่กลับกลายเป็นว่า การก่อการร้ายในสามจังหวัดขยายวงและบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐไทยอย่างรุนแรงที่สุดและไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่รัฐไทยยุติสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปี 2525 เป็นต้นมา

ความไร้ปัญญาในการวิเคราะห์ทำให้รัฐไทยมองปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างคับแคบ ผิวเผินและตื้นเขิน ทั้งที่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนและลึกลับ มีองค์ประกอบของปัญหาหลากหลายมิติทั้งด้านสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมในการใช้อำนาจรัฐ องค์การอาชญากรรม การค้าของเถื่อนและยาเสพติด ตลอดจนความเกี่ยวพันกับต่างประเทศ เมื่อไร้ปัญญาก็ไม่อาจมองปัญหาได้อย่างทะลุปรุโปร่งและเป็นระบบ ทำให้มาตรการเชิงนโยบายที่ออกมากลายเป็นนโยบายที่ไร้น้ำยาในการแก้ปัญหา ประกอบกับการทุจริตฉ้อฉลของนักการเมืองผู้กำหนดนโยบายและข้าราชการผู้นำนโยบายไปปฏิบัติอัน จึงทำให้สถานการณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่รัฐได้ทุ่มเทกำลังคน งบประมาณ เทคโนโลยี อาวุธ ต่างๆลงไปแก้ปัญหาเป็นจำนวนมหาศาล

สำนักงบประมาณระบุว่างบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2554 มีจำนวน 145,500 ล้านบาท และมีทิศทางสูงขึ้นทุกปี เช่น ปี 2547 ใช้จำนวน 13,450 ล้านบาท สามปีถัดมาใน พ.ศ. 2550 ใช้ไป 17,526 ล้านบาท และในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 19,102 ล้านบาท

ผลลัพธ์จากความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายประการ อาทิการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ความเครียด ความหวาดระแวง การสูญเสียทรัพย์สิน การอพยพย้ายถิ่น ความตกต่ำของคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคม เป็นต้น เฉพาะการเสียชีวิตของพลเรือนและทหารก็มีเป็นจำนวนมากหลายพันคน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 มีเหตุการณ์ความรุนแรงจากฝ่ายผู้ก่อการร้าย 12, 167 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4,771 คน บาดเจ็บ 8,512 คน

วิกฤติความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินต่อไป เป็นวิกฤติยืดเยื้อและมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ตราบเท่าที่รัฐและกลไกรัฐยังไม่ขจัดความมืดบอดทางปัญญา ความไร้น้ำยาในการปฏิบัติ และความฉ้อฉลในการดำเนินงานอยู่

ด้านวิกฤติการเมืองเริ่มขึ้นเมื่อปี 2544 หลังจากพรรคไทยรักไทยได้หว่านยาพิษประชานิยมให้กับผู้เลือกตั้งชาวไทย จากนั้นก็ได้แสดงความฉ้อฉลให้สินบนแก่ผู้ปฏิบัติงานในศาลรัฐธรรมนูญบางคน จนทำให้หัวหน้าพรรคผู้ร่ำรวยหลุดพ้นจากคดีซุกหุ้นอันอื้อฉาว เมื่อพรรคไทยรักไทยได้ครอบครองอำนาจรัฐ พรรคนี้ก็ได้บั่นทอนและทำลายจิตวิญญาณ หลักการ และเนื้อหาของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งทำลายกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลย์ของระบอบประชาธิปไตยจนพังพินาศ จนเกิดเป็นเผด็จการรัฐสภาผู้นำพรรคควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ผู้นำพรรคไทยรักไทยในยุคนั้นอาจเจ้าเล่ห์เพียงพอในการฉ้อฉลเพื่อสร้างความร่ำรวยให้ตนเองและตระกูล แต่กลับไร้ปัญญาอย่างสิ้นเชิงในการวิเคราะห์สังคมไทย จนแสดงความโง่เขลาอย่างยโสโอหังออกมาโดยการรุกล้ำและล่วงละเมิด วัฒนธรรมประเพณีอันทรงคุณค่าของสังคมไทย

จนในที่สุดประชาชนนับแสนได้ออกมาขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยใน พ.ศ. 2548 และ 2549 ถึงกระนั้นแม้ประชาชนแสดงมติออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีจากพรรคไทยรักไทยครองอำนาจต่อไป แต่เขาก็ยังดื้อรั้นอยู่ต่อด้วยความโง่เขลาผนวกกับความโอหังว่าตนเองสามารถควบคุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผลที่ตามมาจากสิ่งเหล่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการใช้กำลังอาวุธเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย

วิกฤติการเมืองยังยืดเยื้อต่อมาจนถึงรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมีการจัดตั้งขบวนการลัทธิแดงนิยมขึ้นมาจากกลุ่มอำนาจเก่าโดยคนของรัฐบาลที่สูญเสียอำนาจจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2549 และ 2551 ขบวนการลัทธิแดงนิยมได้จัดชุมนุมประท้วงโดยใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะทางการเมือง โดยในเดือนเมษายน ปี 2552 ได้บุกทำลายการประชุมสุดยอดผู้นำอาเชียนที่พัทยา จนผู้นำประเทศต่างๆที่เข้าร่วมประชุมต้องหนีตายกันอย่างอลหม่าน ต่อมาก็ได้มีการเผาทำลายทรัพย์สินของรัฐหลายรายการ รวมทั้งบุกไปยิงประชาชนในชุมชนนางเลิ้งที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของสาวกลัทธิแดงจนมีชาวบ้านเสียชีวิตไป 2 คน

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายความมั่นคงในยุคนั้นมิได้แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่หลักแหลมในการวิเคราะห์ศักยภาพการทำลายล้างของบรรดาสาวกลัทธิแดงนิยม ทำให้ไม่มีน้ำยาในการกำหนดมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ จนเหตุการณ์บานปลายลุกลามทำให้ประเทศต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือในสายตาของต่างประเทศ แม้ภายหลังจะสามารถจัดการปัญหาได้ในบางระดับแต่ความสูญเสียอันอย่างประมาณค่ามิได้ก็เกิดขึ้นแล้ว

ความจำกัดทางปัญญาและความไร้น้ำยาในการปฏิบัติของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นอีกครั้งในการจัดการกับขบวนการก่อการร้ายของลัทธิแดงนิยมเมื่อปี 2553 ในการชุมนุมครั้งนั้นบรรดาผู้นำลัทธิแดงนิยมได้เตรียมกำลังอาวุธและการใช้ความรุนแรงอย่างเข้มข้นมากขึ้นในทุกรูปแบบเพื่อล้มล้างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงซึ่งรับผิดชอบในการจัดการความรุนแรงทั้งปวงจากการชุมนุม ก็มีความไร้เดียงสาอย่างได้ใจในวิธีคิดและการวิเคราะห์สถานการณ์ จนหลุดปากออกมาว่า “คาดไม่ถึง” ผลที่ตามมาคือทำให้ทหารซึ่งใช้แค่โล่กับไม้กระบองในการดูแลความสงบต้องเสียชีวิตไปหลายคน และประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของลัทธิแดงก็ถูกสาวกของลัทธิแดงโยนระเบิดใส่บ้าง ยิงปืนเอ็ม 79 ใส่บ้างจนเสียชีวิตไปอีกหลายคน รวมทั้งสาวกลัทธิแดงที่เป็นชาวบ้านซื่อๆ ผู้ร่วมชุมนุมเพราะถูกล้างสมองและระดมจัดตั้งเข้ามาก็ถูกสังหารจากกองกำลังเสื้อดำไม่ทราบฝ่ายอีกหลายราย

ด้วยการที่รัฐบาลยุคนั้นมีส่วนประกอบของความไร้ปัญญาวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ ความไร้น้ำยาในการตรวจสอบจับกุมกองกำลังติดอาวุธเสื้อดำของลัทธิแดงนิยม และการสลายการชุมนุม นำไปสู่การเผาบ้านทำลายเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ประเทศไทยนับตั้งแต่พม่าบุกมาเผากรุงศรีอยุธยาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ท้ายที่สุดยังทำให้ลัทธิแดงนิยมขยายตัวและกลับเข้ามายึดครองอำนาจรัฐได้ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554

สำหรับกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมประเทศในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2554 ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐไทยในปัจจุบันในการจัดการปัญหา ความอ่อนนิ่มของภูมิปัญญาในการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ถูกเปิดเผยออกมาจากปากของรัฐมนตรีคนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย คนผู้นี้กล่าวอย่างแสนซื่อ “คาดไม่ถึง” ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะรุนแรงเช่นที่เป็นอยู่ นอกจากจะคาดไม่ถึงแล้ว ความไร้น้ำยาของรัฐและกลไกรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับปัญหาก็ถูกเปิดออกมาอย่างชัดแจ้ง ทั้งในการควบคุมการไหลของน้ำ การป้องกันการทะลักท่วมของน้ำในทั้งในเขตเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและพาณิชย์ การผันน้ำไปเก็บในชั่วคราวในบริเวณแก้มลิง การขับดันน้ำออกสู่ทะเล การอพยพผู้ถูกน้ำท่วมอย่างกะทันหัน การช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในบริเวณที่เข้าถึงยาก การช่วยเหลือผู้ไร้บ้านอาศัย การสื่อสารกับผู้คนในสังคม เป็นต้น

ความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วมได้ทำลายชีวิตผู้คนไปอย่างน้อยสองร้อยกว่าคน ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยนับแสนคน คนตกงานนับแสนคน บ้านเรือน อาคาร ทรัพย์สิน รถยนต์ สาธารณูปการ ถนนหนทางเสียหายอย่างมหาศาล ไร่นาพินาศนับแสนไร่ โรงงานนับร้อยแห่งต้องปิดตัว ร้านค้านับพันนับหมื่นแห่งเสียหาย ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะหิวโหย ซึมเศร้า จนกล่าวได้ว่าผู้คนทั่วถิ่นทั่วหล้าในแผ่นดินไทยอย่างต้องทนทุกข์ทรมานเดือดร้อนแสนสาหัส

กล่าวโดยสรุปการประเมินสถานการณ์ ตัดสินใจ และการปฏิบัติการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทั้งการเตรียมการป้องกันก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติ การดำเนินการระหว่างเกิดภัยพิบัติ และการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ เต็มไปด้วยความมืดบอด สับสน ไร้ระบบ ขาดบูรณาการ และยังมีเรื่องอื้อฉาวในการทุจริตจากความเดือดร้อนของประชาชนอีกด้วยในบางพื้นที่ หรือจะเป็นดังคำพยากรณ์ว่า เมื่อมีนารีขี่ม้าขาว ถือคทาสู่ดวงดาวแห่งอำนาจ เมื่อนั้นมหาพิบัติภัยจะมาเยือนประเทศไทย

วิกฤติต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง และภัยพิบัติ ที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาแสดงพอสังเขปเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมืองและภัยพิบัติ ทำให้ปัญหาเหล่านั้นเพิ่มระดับความรุนแรงอย่างเข้มข้นและกว้างขวางจนกลายเป็นวิกฤติ

กล่าวโดยสรุป ความล้มเหลวของรัฐไทยมีสาเหตุจาก นักการเมืองและข้าราชการผู้ควบคุมอำนาจรัฐ ซึ่งไร้คุณสมบัติอื่นใด ยกเว้นความเจ้าเล่ห์เพทุบายในการทุจริตฉ้อฉล ความยากไร้ทางปัญญาสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาและการกำหนดนโยบาย และความไร้น้ำยา ไร้ทักษะและความสามารถในการนำนโยบายไปปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น