xs
xsm
sm
md
lg

ความรุนแรงทางการเมืองไทยร่วมสมัย : โครงสร้างอุปภัมภ์และลัทธิแดงนิยม (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

บทความนี้ผู้เขียนมีความตั้งในวิเคราะห์และอธิบายความขัดแย้งและความรุนแรงการเมืองไทยร่วมสมัยตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพยายามพยากรณ์ความเป็นไปได้ของการเกิดความรุนแรงในอนาคตซึ่งขณะนี้มีสัญญาณบางประการที่แสดงถึงแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2554 หรือไม่ก็ในต้นปี 2555

สำหรับในตอนแรกนี้จะวิเคราะห์ถึงเงื่อนไขความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง การก่อเกิดและลักษณะของ “ลัทธิแดงนิยม” (redism)

เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนในสังคมรับรู้และตระหนักว่าสิ่งที่ตนเองยึดถือให้คุณค่ากำลังถูกคุกคามและทำลาย เมื่อนั้นความขัดแย้งก็จะก่อตัวขึ้นมา ความขัดแย้งอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสังคม กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการที่ใช้ในการจัดการความขัดแย้งนั้น

สิ่งมีคุณค่าที่ผู้คนยึดถือเป็นได้ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นโดยตรงหรือเกี่ยวโยงกับสิ่งอื่นที่บุคคลนั้นให้ความสำคัญ เคารพ หรือ บูชา อาทิ อัตลักษณ์และศักดิ์ศรี ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บุคคลที่เคารพ สถาบันและบรรทัดฐานทางสังคม ความเชื่อทางการเมืองและทางศาสนา

ความขัดแย้งทางสังคมจึงเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนในสังคมรับรู้และตระหนักว่าสิ่งที่พวกตนให้คุณค่ากำลังตกอยู่ในภาวะที่ถูกบั่นทอน ลดคุณค่า และถูกทำลายล้าง จากคนอีกกลุ่มหนึ่ง

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องพัฒนาการไปสู่ความรุนแรงเสมอไป บางครั้งความขัดแย้งอาจไม่รุนแรงและจบลงด้วยการพัฒนาและการสร้างสรรค์ แต่หลายครั้งที่ความขัดแย้งพัฒนาไปสู่ความรุนแรงและการทำลายล้างสังคม

สังคมไทยเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ๆหลายครั้ง แต่ละครั้งมักนำไปสู่ความรุนแรงซึ่งทำลายล้างชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อย และก่อเกิดเป็นบาดแผลทางสังคมขึ้นมา สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา เงื่อนไขที่บ่มเพาะและชุดชนวนให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาประกอบด้วยเงื่อนไขหลักสองประการคือ โครงสร้างของสังคม และการกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะการทับซ้อนและการเข้ากันไม่ได้ระหว่างโครงสร้างสังคมแบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมกับโครงสร้างแบบประชาสังคมพลเมือง เป็นเงื่อนไขหลักที่บ่มเพาะเมล็ดพันธ์ของความขัดแย้ง โอบอุ้มให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ และขยายกระจายความขัดแย้งออกไป เพราะโครงสร้างสังคมสองแบบนี้เป็นแหล่งผลิตแบบแผนความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจ ความคาดหวัง ความต้องการ และการปฏิบัติการทางการเมือง ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงให้แก่กลุ่มคนในสังคม โดยแต่ละกลุ่มเกิดความรู้สึกและเชื่อว่าบรรดาสิ่งที่ตนเองให้คุณค่ากำลังถูกคุกคามและทำลายล้างจากอีกกลุ่มหนึ่ง

โครงสร้างสังคมแบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมเอื้ออำนวยให้เกิดการซื้อขายเสียงในการเลือกตั้งและการรองรับการขยายตัวของนโยบายประชานิยม โดยกลไกของการขับเคลื่อนคือระบบหัวคะแนน และระบบการโฆษณาชวนเชื่อ รูปธรรมที่แสดงถึงอิทธิพลของโครงสร้างแบบอุปถัมภ์ที่กระทำผ่านกลไกหัวคะแนนคือ ในระดับชาติจะมีผู้ดำรงตนเป็นหัวหน้าใหญ่หรือ “นายใหญ่” อันเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการและบงการผู้ที่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของตนเอง ถัดจากนายใหญ่ก็จะมี “นายรอง” ซึ่งจะควบคุมเขตอิทธิพลในระดับพื้นที่หรือจังหวัด นายรองในระดับชาติ จะเป็น “บ้านใหญ่” ในระดับจังหวัด ซึ่งจะทำหน้าที่ในการควบคุมลูกน้องในระดับรองๆลงไปจนไปถึงอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน

ในอดีตอิทธิพลของ “นายใหญ่” ระดับชาติที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง ยังไม่ลงไปสู่มวลชนระดับรากฐานของเครือข่ายอุปถัมภ์มากนัก การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ซึ่งได้มี “นายใหญ่” ผู้หนึ่งคือ ทักษิณ ชินวัตร สามารถสร้างอิทธิพลของตนเองลงไปสู่เครือข่ายอุปถัมภ์ในระดับรากหญ้าได้สำเร็จ โดยอาศัยระบบตลาดการเมืองที่เน้นการโฆษณาชวนเชื่อ ขายสินค้าประชานิยม เสนอผลประโยชน์ตอบแทนมวลชนรากหญ้าโดยตรง เพื่อแลกกับคะแนนเสียง จากนั้นก็ได้ทำการผลิตซ้ำเชิงอุดมการณ์ให้ชาวรากหญ้าเชื่อว่า ตนเองเป็น “นายใหญ่” ที่ “มีแต่ให้” และ “แจกไม่อั้น” จนทำให้ชาวรากหญ้าเปลี่ยนความจงรักภักดีจากบรรดา “นายรอง” ในระดับจังหวัด ไปมอบให้กับ “นายใหญ่” โดยตรง

สิ่งที่ตามมาคืออิทธิพลของ “นายรอง” ที่มีต่อชาวรากหญ้าในแต่ละจังหวัดลดลง ดังนั้นหาก “นายรอง” ผู้ใดแสดงความกระด้างกระเดื่อง ไม่จงรักภักดี หรือ ทรยศต่อนายใหญ่ ก็จะถูกตัดออกจากเครือข่ายอุปถัมภ์ และนั่นก็หมายถึง การสิ้นสุดอนาคตทางการเมืองของ “นายรอง” ผู้นั้น ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ที่อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยหลายคนผู้แยกตัวออกไปสมัคร ส.ส.ภายใต้ชื่อพรรคอื่นพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยิน เพราะถูกตีตราว่าทรยศต่อนายใหญ่ผู้เป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย

หากเปรียบไปแล้ว กลไกและวิธีการที่ผู้อุปถัมภ์หรือ “นายใหญ่” ใช้ในการปลูกฝังความเชื่อ ความจงรักภักดี และบงการพฤติกรรมของชาวรากหญ้า ลูกน้อง ผู้ปฏิบัติงานพรรค และส.ส. โดยรากฐานแล้วไม่แตกต่างจากพฤติกรรมของเจ้าของคณะละครสัตว์ใช้ในการฝึกสัตว์เลี้ยงของตนเองให้เชื่องคือ การใช้รางวัลตอบแทนเมื่อสัตว์แสดงพฤติกรรมตามที่ตนเองต้องการ และการลงโทษเมื่อสัตว์แสดงพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากเส้นทางที่ตนเองกำหนด ตัวอย่างการปลูกฝังความเชื่อเช่น ถ้าสู้เพื่อนายใหญ่แล้วจะให้ผลตอบแทนอย่างเต็มที่ หากตายให้ศพละล้าน หรือ สิบล้าน หากได้อำนาจรัฐก็จะตอบแทนเต็มที่ ส่วนตัวอย่างการควบคุม เช่น การให้ทำสัญญาเงินกู้สำหรับเงินที่สนับสนุนการหาเสียง การให้เขียนจดหมายลาออกจากการเป็น ส.ส. ล่วงหน้า เพื่อป้องกันการหักหลัง ซึ่งก็ไม่ต่างจากโซ่ที่ใช้ในการคล้องคอสัตว์นั่นเอง

การเลือกตั้งที่มีการซื้อขายเสียงและการใช้นโยบายประชานิยมทำให้การเมืองไทยเกิดสภาพการผูกขาดของเหล่านายทุนอิทธิพลในระดับท้องถิ่นและระดับชาติอย่างถาวร กลุ่มทุนเหล่านี้ได้ใช้การเลือกตั้งอันอยู่ภายใต้การควบคุมของตนเองอย่างเบ็ดเสร็จเป็นข้ออ้างแห่งความชอบธรรมในการดำรงอยู่ในตำแหน่งและการใช้อำนาจทางการเมืองตามความปรารถนาของพวกเขา และในอีกด้านหนึ่งก็ใช้เป็นกำแพงในการกีดกันกลุ่มอื่นๆของสังคมไม่ให้มีส่วนร่วมในการเข้าถึงและใช้อำนาจทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของกลุ่มทุน

แน่นอนว่าเมื่อลักษณะวิธีการในการเข้าสู่อำนาจเป็นเช่นนี้ ย่อมเท่ากับว่า กลุ่มทุนนักการเมืองได้ทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีหลักการที่สำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งคือ ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ผู้เลือกตั้งต้องมีข้อมูลข่าวสารเพียงพอและวิจารณาญาณของตนเองอย่างเป็นอิสระ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมจากระบบการจัดตั้งหัวคะแนนและการครอบงำจากนโยบายประชานิยม

การครองอำนาจของกลุ่มทุนส่งผลต่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในหลากหลายรูปแบบทั้งการทุจริตในการชักค่าหัวคิวเงินงบประมาณโครงการต่างๆ และการทุจริตเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง การทุจริตย่อมเป็นการทำลายล้างสังคมอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ทำลายทั้งคุณค่าเชิงจริยธรรมในเรื่องความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันกลับไปเสริมสร้างคุณค่าเชิง “อจริยธรรม” ขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในสังคม เช่น ความเห็นแก่ตัวอย่างสุดขั้วและการคำนึงเฉพาะผลประโยชน์ของตนเองอย่างไม่ละอายแก่ใจ

ยิ่งกว่านั้นการทุจริตยังทำลายผลประโยชน์สาธารณะและสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้มากขึ้นอีกด้วย เพราะทรัพยากรของสังคมถูกฉกฉวยให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มและเครือข่ายของผู้ดำรงตำแหน่งและอำนาจทางการเมือง รวมทั้งยังเป็นการบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้คนเพราะบรรดาสาธารณูปโภคและสาธารณูภการทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้การทุจริตย่อมมีคุณภาพไม่ดี เสื่อมสลายได้ง่าย และสร้างผลกระทบให้ผู้คนในสังคมต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เช่น ถนนที่มีการทุจริตใช้ไม่นานก็เสื่อมสภาพ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ส่งผลให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย และสังคมต้องสูญเสียงบประมาณในการบำบัดรักษาฟื้นฟู เป็นต้น

นอกจากการทุจริตซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตรของบรรดานักการเมืองที่ครองอำนาจของสังคมไทยแล้ว กลุ่มนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลบางกลุ่มยังได้สถาปนาลัทธิทางการเมืองใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการครองอำนาจอย่างถาวร และใช้เป็นกลไกทางอุดมการณ์เพื่อขยายอาณาเขตอำนาจของตนเองออกไป

ลัทธิทางการเมืองที่ว่านี้คือ “ลัทธิแดงนิยม” (redism) ลัทธินี้ใช้หลักการประชาธิปไตยบางอย่างคือหลักเสียงส่วนใหญ่บังหน้า แต่เนื้อหาอันเป็นแก่นแท้ที่แฝงอยู่คือ “ลัทธิเผด็จการทุนอุปถัมภ์นิยม” ลัทธิแดงนิยมได้นำอุดมการณ์เรื่องไพร่ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างสังคมแบบอุปถัมภ์ เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนมวลชน บรรดามวลชนเสื้อแดงคือไพร่ที่สังกัดมูลนายในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด และมูลนายแต่ละจังหวัดก็สังกัดมูลนายใหญ่อีกที

มูลนายใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิแดงนิยม เป็นนายทุนใหญ่ที่ร่ำรวยมหาศาล เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของลัทธินี้ ลัทธิแดงนิยมเชื่อในอำนาจของมูลนายใหญ่ สิ่งที่มูลนายใหญ่บอกและสั่งคือสิ่งที่ถูกต้อง มวลชนไพร่คนใดหรือกลุ่มใดที่แตกแถวจากเส้นทางที่มูลนายใหญ่กำหนด แกนนำลัทธิแดงก็จะประณามว่าเป็น “แดงเทียม” ซึ่งหากไม่ถูกขจัดออกไปจากลัทธิแดง ก็จะต้องปรับความเชื่อและพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าลัทธิแดงนิยม

ลัทธิแดงนิยมไม่เชื่อในเรื่องความเสมอภาคและความสามารถตามหลักคุณธรรมแบบประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้ามลัทธิแดงนิยมเชื่อในอำนาจและความไม่เท่าเทียม รวมทั้งเชื่อในหลักความจงรักภักดีและประจบสอพลอต่อนายใหญ่ ใครประจบและแสดงความจงรักภักดีต่อนายใหญ่มาก โอกาสที่จะได้รับการประทานความก้าวหน้าจากนายใหญ่ก็จะมีมาก ดังเห็นได้จากการแต่งตั้งผู้คนไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ของเจ้าลัทธิแดง

ลัทธิแดงไม่เชื่อในเรื่องสันติวิธีและความอดกลั้นในระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงข้ามลัทธิแดงเชื่อในความรุนแรงว่าเป็นวิธีการที่จะนำสู่การครองอำนาจและการรักษาอำนาจ เมื่อเจ้าลัทธิแดงสั่งให้มีการชุมนุมทางการเมืองเพื่อประท้วงรัฐบาลที่พวกเขาตีตราว่าเป็นอำมาตย์ใน พ.ศ. 2552 และ 2553 พวกเขาก็ใช้ความรุนแรงอย่างเต็มพิกัด สะสมอาวุธ และมีกองกำลังติดอาวุธ ระหว่างการชุมนุม และยังสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของผู้ชุมนุมเพื่อนำมาใช้เป็นประเด็นในการทำลายล้างความชอบธรรมของคู่แข่ง และหากมีผู้ใดไม่เห็นด้วยกับความคิดพวกเขา ก็จะส่งคนไปคุกคามและข่มขู่ ดังที่ข่มขู่คณะกรรมการเลือกตั้ง และผู้สื่อข่าว เป็นต้น

ลัทธิแดงนิยมไม่เชื่อในหลักนิติรัฐและนิติธรรม ในทางตรงข้ามกลับเชื่อในกฎหมู่และการใช้มวลชนกดดันเพื่อให้บรรลุความต้องการ เมื่อแกนนำลัทธิแดงมีอำนาจรัฐใน พ.ศ.2554 จึงพยายามทำลายหลักนิติรัฐอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพยายามทำให้เจ้าลัทธิซึ่งกระทำผิดฐานทุจริต กลายเป็นคนไม่มีความผิด ใช้มวลชนในการยื่นฏีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษแก่เจ้าลัทธิ ตีความกฎหมายในทางที่เอื้อประโยชน์แก่คนเอง และโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม

กล่าวโดยสรุป โครงสร้างสังคมแบบอุปถัมภ์อำนาจนิยม นำไปสู่การเลือกตั้งที่มีการซื้อขายเสียงและการใช้นโยบายประชานิยมครอบงำผู้คน ส่งผลให้การเข้าถึงอำนาจการเมืองไทยจำกัดเฉพาะกลุ่มทุนผูกขาดและพวกพ้อง อันนำไปสู่การแพร่ระบาดของการทุจริตอย่างกว้างขวางในการบริหารประเทศ และเมื่อกลุ่มทุนผูกขาดได้พยายามขยายขอบเขตอำนาจในการครอบงำสังคม พวกเขาจึงได้ร่วมกันสถาปนาลัทธิแดงนิยมขึ้นมาเป็นเครื่องมืออีกประการหนึ่ง ลัทธิแดงนิยมอาศัยหลักประชาธิปไตยบางประการคือหลักเสียงส่วนใหญ่เป็นสิ่งบังหน้า แต่เนื้อแท้คือลัทธิเผด็จการทุนอุปถัมภ์นิยม เพราะทั้งความเชื่อ อุดมการณ์ และวิถีปฏิบัติของลัทธิแดงนิยม ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับหลักการสำคัญหลายประการของระบอบประชาธิปไตย

บรรดาปรากฎการณ์ทางสังคมการเมืองที่เชื่อมโยงกันเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยเชื่อว่าเป็นเหตุแห่งการทำลายสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมไทย ทั้งในด้านคุณค่าทางจริยธรรม คุณค่าของหลักประชาธิปไตย และคุณค่าของสถาบันทางสังคม ดังนั้นมันจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สร้างและบ่มเพาะความขัดแย้งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพในการพัฒนากลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงเป็นระยะ
กำลังโหลดความคิดเห็น