xs
xsm
sm
md
lg

La Pivellina : หนูจ๋า...อย่าร้องไห้/โสภณา

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


La Pivellina น่าจะเป็นหนังที่ผู้ชมให้การต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งที่สุด และเสียงตอบรับดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ในบรรดาหนังที่มาฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ครั้งที่เพิ่งจบไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

หนังเป็นการร่วมทุนสร้างของประเทศออสเตรียและอิตาลี ผลงานการกำกับร่วมกันของ ทิซซา โควี และ ไรเนอร์ ฟริมเมล ซึ่งก่อนหน้านี้เคยจับคู่ทำหนังด้วยกันมาแล้ว 2 ครั้ง คือ Das Ist Allas (2001) และ Babooska (2005) ที่ล้วนเป็นหนังสารคดีทั้งคู่

La Pivellina ใช้กรุงโรมเป็นฉากหลังของเรื่อง เค้าโครงเนื้อหน้าโดยคร่าวเล่าถึงสามี-ภรรยานักแสดงในคณะละครสัตว์คู่หนึ่ง ซึ่งวันหนึ่ง จะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้ายไม่ทราบได้ ฝ่ายภรรยาเกิดไปพบเด็กหญิงวัย 2 ขวบคนหนึ่งถูกทิ้งไว้ตามลำพังในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจพาเด็กหญิงกลับบ้าน หลังจากนั้นก็เกิดเป็นภาระผูกพันทำให้เธอและสามีต้องเลี้ยงดูเด็กคนนี้ไว้ จนกว่าจะถึงวันที่แม่ที่แท้จริงของหนูน้อย –ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้ว่าคือใคร- จะหวนคืนมารับลูกกลับไปดูแลด้วยตัวเอง

อันที่จริง หนังที่มีโครงเรื่องเนื้อหาทำนองนี้ –กล่าวคือ พูดถึงความสัมพันธ์ของคนต่างวัยที่เริ่มต้นอย่างบังเอิญ ก่อนจะพัฒนากลายเป็นความรักความผูกพันในเวลาต่อมา- มีให้เห็นกันมาแล้วนักต่อนัก เท่าที่พอจะนึกออกอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็เช่น Central Station หนังสัญชาติบราซิลที่ได้เข้าถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้ายในการชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ ประจำปี 1999 หรือเรื่องราวของคู่เจ้าหนูจุนโนะสุเกะผู้อาภัพ กับนักเขียนการ์ตูนต๊อกต๋อยใน Always: Sunset on Third Street ก็จัดว่าอยู่ในหมวดหมู่หนังกลุ่มเดียวกันนี้ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างประการสำคัญระหว่าง La Pivellina กับหนังสองเรื่องที่ยกตัวอย่างข้างต้น ก็คือ วิธีการที่ผู้กำกับเลือกใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมด

เพราะในขณะที่ Central Station และ Always วางตัวเองไว้ในฐานะหนังเมโลดรามาที่มีเป้าหมายสำคัญในการเร้าอารมณ์ผู้ชม มีการปรุงแต่งและแทรกใส่เหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาในช่วงเวลาที่ผ่านการคาดคำนวณมาแล้วว่าเหมาะสม เพื่อโน้มน้าวผู้ชมให้เกิดความรู้สึกสารพัดสารพันสุดแท้แต่ผู้กำกับมุ่งหวังจะให้รู้สึก (และทั้งสองเรื่องก็ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้อย่างยอดเยี่ยม)

แต่กับ La Pivellina น่าจะเป็นเพราะผู้กำกับทั้งสองของหนังถนัด ชื่นชอบ และมีประสบการณ์ในการทำหนังสารคดีมาก่อน หนังจึงมีการหยิบยกวิธีการแบบสารคดีมาใช้อย่างเต็มที่

ทั้งการไปถ่ายทำในสถานที่จริง นักแสดงทุกคนในเรื่องมีพื้นเพปูมหลังเหมือนกันกับตัวละครที่ตนรับบทบาท (ซึ่งหมายความว่า สามี-ภรรยาที่เป็นนักแสดงในคณะละครสัตว์ในหนังนั้น ในชีวิตจริงก็เป็นนักแสดงในคณะละครสัตว์เช่นกัน และหนังยังใช้ชื่อจริงของพวกเขาเหล่านั้นเป็นชื่อตัวละครด้วย) บางช่วงหนังถึงกับถ่ายภาพกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนเหล่านั้นแล้วนำมาไว้ในหนัง

นอกจากนั้น หนังยังถ่ายด้วยกล้องแฮนด์เฮลด์ตลอดทั้งเรื่อง และบทสนทนาแทบจะทั้งหมดก็ยังใช้วิธีการด้นสด (improvise) เป็นหลัก

วิธีการทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ส่งผลให้ La Pivellina เป็นหนังที่ดู ‘จริง’ และ ‘เป็นธรรมชาติ’ อย่างยิ่ง และแม้ว่าผู้กำกับจะบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดด้วยวิธีการแบบ ‘เล่าไปเรื่อย’ โดยไม่พยายามบีบคั้นเร้าอารมณ์ให้มากมาย ทว่า La Pivellina ก็ไม่ใช่หนังที่จืดชืด แห้งแล้ง ไร้อารมณ์แต่อย่างใด ตรงข้าม มันเป็นหนังที่สามารถทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งเศร้าหน่อยๆ ตลกนิดๆ และเหตุการณ์ในบางช่วงก็ชวนให้ผู้ชมหดหู่โดยไม่ตั้งใจ

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะความจริงและเป็นธรรมชาติของมันนั่นเอง ที่เป็นแรงดึงดูดสำคัญให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังและผูกพันกับตัวละคร เพราะเรารู้สึกราวกับว่า บุคคลที่เราเห็นบนจอนั้นเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจริงๆ ราวกับพวกเขากำลังประสบชะตากรรมเหล่านั้นจริงๆ ไม่ใช่แค่นักแสดงที่มารับบทบาทเป็นตัวละครสมมติ ในเรื่องราวที่ถูกขีดเขียนสมมติขึ้นเท่านั้น (ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมเอาใจช่วยและหลงรักหนังเรื่องนี้กันนัก ก็คือ เด็กหญิงวัย 2 ขวบในเรื่อง หนูน้อยหน้าตาน่ารักและเป็นธรรมชาติมากเสียจนหลายคนสงสัยว่าผู้กำกับทำอย่างไรถึงบันทึกภาพของเธอในอากัปกิริยาและอารมณ์ที่หลากหลายได้เช่นนั้น)

คราวที่คุณไรเนอร์ ฟริมเมล หนึ่งในผู้กำกับของหนังเดินทางมาร่วมเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ทางเทศกาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สนทนาถาม-ตอบกับคุณฟริมเมลหลังจากที่หนังฉายด้วย คำถามหนึ่งที่ผู้ชมในทั้ง 2 รอบ ต่างก็ถามตรงกัน ก็คือ จุดใหญ่ในความสำคัญที่เขาต้องการบอกกล่าวผ่านหนังเรื่องนี้ คืออะไร?

คุณฟริมเมลอธิบายว่า ในหลายๆ ประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลีนั้น ผู้คนที่ทำมาหากินในคณะละครสัตว์เช่นตัวละครในเรื่อง รวมถึงชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ซึ่งหลักๆ คือพวกยิปซี มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาคนทั่วไปมาแต่ไหนแต่ไร (คำเตือนลำดับต้นๆ ที่ใครก็ตามที่กำลังจะเดินทางไปอิตาลีได้รับ ก็คือ ให้ระวังพวกยิปซีไว้ให้ดี เพราะพวกนี้มักจะบุกมาประชิดตัวเราแล้วแอบล้วงกระเป๋า) ตามคำบอกเล่าของคุณฟริมเมลหากพบเจอพวกนักแสดงละครสัตว์หรือยิปซีเดินกับเด็กหน้าตาแปลกๆ คนมักจะทึกทักไว้ก่อนว่า พวกนี้ต้องลักพาตัวเด็กมา และจะนำไปทำมิดีมิร้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน

คุณฟริมเมลบอกว่า เขาทำ La Pivellina ขึ้นก็เพื่อจะบอกกับผู้คนว่า ในความเป็นจริงแล้ว มันอาจไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป และมันไม่ถูกที่เราจะตั้งกำแพงอคติกับใครไว้ล่วงหน้า ทั้งที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กับบุคคลนั้นๆ เลยแม้แต่น้อยนิด

ด้วยเหตุนี้ ภาพของคณะละครสัตว์ที่ปรากฏในหนัง จึงเป็นภาพของสังคมเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยน้ำใจและความอบอุ่น ในขณะเดียวกัน หนังก็สะท้อนให้เห็นความยากลำบากในการดำรงชีวิตของผู้คนเหล่านี้ ทั้งการขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การถูกตรวจเข้มโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นครั้งคราว รวมถึงธรรมชาติของงานที่ในแต่ละปีพวกเขาจะมีฤดูทำงานเพียงปีละไม่กี่เดือนเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ และดิฉันทึกทักเอาเองเป็นการส่วนตัวว่ามันเกี่ยวข้องกับสาระดังกล่าวของหนัง คือ การที่หนังเลือกใช้กรุงโรมในช่วงฤดูหนาวเป็นฉากหลังของเรื่อง

ข้อสังเกตดังกล่าว ขยายความก็คือ โดยปรกติ เมื่อพูดถึงประเทศอิตาลี ภาพลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง ก็คือ ประเทศที่แดดจ้าฟ้าใส ผู้คนอัธยาศัยเป็นเลิศ บ้านเมืองสวยงาม เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม อิตาลี –หรือกล่าวอย่างจำเพาะเจาะจงคือ กรุงโรม- ที่ปรากฏใน La Pivellina นั้น กลับอึมครึม ขุ่นมัว ฟ้าเป็นสีเทามากกว่าสีฟ้า อีกทั้งยังเฉอะแฉะเพราะมีฝนตกพรำแทบจะตลอดเวลา (ซึ่งเป็นสภาพปรกติของฤดูหนาวในอิตาลี) พูดง่ายๆ ก็คือ มันตรงข้ามกับภาพของอิตาลีที่ฝังหัวผู้คนส่วนใหญ่อยู่อย่างสิ้นเชิง

ทั้งหลายทั้งปวง - La Pivellina จึงเป็นเหมือนการนำเสนออีกด้านหนึ่งของเหรียญให้ผู้ชมได้เห็น
แม้ท้ายที่สุดมันอาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในวงกว้าง ทว่านั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะปฏิเสธการรับรู้ถึงการมีอยู่ของมัน







กำลังโหลดความคิดเห็น