xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมเพราะถนนสูง?

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

จู่ๆ วันหนึ่ง นานมากว่าสิบปีแล้วกระมัง ผมคิดเรื่อยเปื่อยไปตามประสาคนชอบคิดว่า ..ทำไมถนนจึงต้องถูกยกผิวให้สูงมากกว่าผิวดินรอบข้างด้วย บางแห่งยกสูงกันสามเมตรโน่นเทียว

คนเมาๆ ขับรถมา ตกลงไปคอหักตายกันมามากแล้ว โดยเฉพาะตอนที่ตำรวจมาตั้งด่าน “บริการประชาชน” อยู่กลางถนน กลางดึก แบบไม่คาดคิด

สมอง (ที่ไม่ได้เรียนมาทางสร้างถนน) ก็เดาว่า...อาจเป็นว่า วิศวกรเขาป้องกันน้ำท่วม..กลัวถนนขาดเพราะน้ำท่วม และป้องกันไม่ให้รถถูกน้ำท่วมไปพร้อมกัน พอไปสอบถามเอากับสหายที่เรียนมาทางสร้างถนนก็ได้ความว่า.. ใช่ รวมทั้งมีเหตุผลอื่นๆ อีกเช่น การอัดแน่นกระทำได้ง่าย การปรับผิวเรียบก็ทำได้ง่าย การทำเป็นหลังเต่าเพื่อไล่น้ำออกจากผิวถนนก็สะดวก

แต่คนอย่างเรา ไม่วายตะแบงต่อไปว่า การยกสูงเพื่อกันน้ำท่วมนี้ถ้าจะไม่ใช่เสียแล้ว เพราะในเมืองฝรั่งก็ไม่เห็นเขายกสูงมากมายอะไรหนักหนา สักฟุตสองฟุตเท่านั้นเอง เลยไปกวาดหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต ตำราฝรั่งบอกว่าที่ต้องยกสูงเล็กน้อยนั้นเพื่อป้องกันการลื่นไถลเข้ามาของ “หิมะ” (snow drift) (ซึ่งบ้านเราไม่มี)

และถึงแม้ตำราฝรั่งจะบอกว่ายกสูงเพื่อกันน้ำท่วม ผมก็ยังขอตะแบงอยู่ดีว่าคงไม่ใช่ ฝรั่งคงคิดผิดไปแล้วหละ (ผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อฝรั่งมานานแล้ว เพราะจับผิดได้หลายเรื่องแล้ว) โดยผมเห็นว่าการถมถนนสูงนี้จะยิ่งทำให้น้ำท่วมถนนมากขึ้น (และท่วมบ้านเรือนนาไร่ก็มากขึ้นด้วย)

การเอาถนนไปกั้นทางน้ำที่ไหลเทไปตามภูมิประเทศโดยธรรมชาตินั้น พอน้ำมันถูกกั้นไว้ด้วยถนน มันก็ไม่รู้จะไหลไปไหน มันก็เลยไหลไปตามแนวถนน จนไปออกันอยู่แอ่งที่ต่ำที่สุดในบริเวณรอบๆ ภูมิประเทศนั้น จนทำให้เอ่อนองท่วมถนนบริเวณนั้นในที่สุด รวมทั้งจะเกิดกระแสไหลกัดเซาะถนนให้ขาดได้อีกด้วย แล้วไหลไปท่วมบ้านท่วมเรือน ไร่นารอบๆ ในที่สุด

อย่างนี้สู้ปล่อยให้น้ำมันไหลไปสู่ที่ชอบๆ ของมันให้มากที่สุดตามธรรมชาติที่พวกมันวิวัฒนาการมาหลายพันปีแล้ว จะไม่ดีกว่าหรือ คือให้มันไหล “ข้าม” ถนนไปเลยมันก็จะไม่เกิดอาการดังที่ว่ามา พอฝนตกก็จะเกิดฟิล์มน้ำบางๆ ไหลข้ามถนนไป อาจทำให้รถวิ่งลำบากมากขึ้นนิดหน่อยตอนฝนตก (เพราะมีฟิล์มน้ำหนากว่าการยกถนนสูง) ก็คงพอทน ก็วิ่งช้าลงหน่อย

ปี ๒๕๕๓ น้ำท่วมหนักที่โคราช ผมได้ขับรถออกตระเวนสำรวจภูมิประเทศ ได้พบเห็นกับตาเลยว่า น้ำฝั่งซ้ายของถนนท่วมมากกว่าฝั่งขวา..นี่แสดงว่าถนนมันกักกั้นน้ำไว้จนเป็นปัจจัยเสริมการท่วมได้จริงๆ อีกทั้งยังพบการที่ถนนถูกน้ำท่วมเป็นจุดๆ บริเวณที่เป็นแอ่งต่ำ ตามที่ผมได้บรรยายไว้ข้างต้นแล้ว ท่วมจนกระทั่งรถวิ่งไปไม่ได้ จนรถติดยาวเป็นกิโล

ผมว่าถึงเวลาปฏิวัติการสร้างถนนไทยได้แล้ว เลิกถมถนนให้สูงด้วยดินเป็นแสนๆ คิว จนต้องมีการ “กินค่าหัวคิว” กันหลายต่อได้แล้ว นักวิชาการต้องกล้าคิดนอกกรอบและเปิดใจกว้างมาเสวนากันดูสักที

การถมถนน..ยังทำลายระบบนิเวศได้อีกมากมายมหาศาล เช่น ไปเปลี่ยนทางน้ำธรรมชาติ ทำให้บางแห่งแล้งกว่าปกติ บางแห่งชุ่มชื้นผิดปกติ ทำให้ดินเค็ม เช่น ถนนมิตรภาพบริเวณ อ.พิมาย ด้านซ้ายด้านขวาของถนนจะมีดินเค็มแตกต่างกัน...ในอ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ก็มีรายงานว่าเมื่อก่อนดินปกติดี พอมีการสร้างถนนสูงรอบหมู่บ้าน ดินฟากหนึ่งเกิดการเค็มจนทำนาไม่ได้ พันธุ์พืช-สัตว์ อุตุนิยมเฉพาะที่จะเปลี่ยนไปหมด

นี่ยังไม่นับผลทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียค่าถมถนน ค่าถมที่ริมถนนเพื่อสร้างบ้านเรือนและโรงงาน ส่งผลให้สินค้าไทยและค่าดำรงชีวิตของคนไทยมีต้นทุนสูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้สูญเสียศักยภาพในการเแข่งขันทางการค้าในเวทีโลกโดยอ้อม

ส่วนไอ้รถขนดินก็ทำงานหนักเกินจำเป็น ทำให้เกิดถนนฝุ่นขึ้นทั่วประเทศด้วยเศษดินที่ร่วงหล่นในขณะขนถ่ายมาทำถนน ยังต้องทำลายป่าเพื่อขุดหน้าดินมาทำถนนกันอีกมากมาย

ในการยกถนนสูงนั้น ถ้าไม่ทำกันชุ่ยๆ หรือเพื่อกินค่าหัวคิว แต่ทำให้ดีๆ มีสมองกำกับสักหน่อย อาจเป็นประโยชน์ก็ได้ เช่น ควรมีการสำรวจการลาดเทของพื้นที่ ประกอบกับเศรษฐศาสตร์ของพื้นที่ว่าเมืองอยู่ทิศใด นาไร่อยู่ทิศใด แล้วยกถนนสูงกักกั้นน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งเมืองและนาไปพร้อมกัน

ถ้าทำแบบนี้ ถนนจะช่วยกันน้ำท่วมเมืองและยังได้แอ่งน้ำเอาไว้ทำนาได้ปีละสองสามครั้ง เป็นต้น ดินที่ขุดจากแอ่งก็เอามาถมทำถนนที่เป็นเขื่อนกักน้ำได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น