xs
xsm
sm
md
lg

‘อาเซียน’ต้องช่วยแก้ไขความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: อู วิรัก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

ASEAN adrift in Thai-Cambodian conflict
By Ou Virak
06/05/2011

ใน “สงครามสกปรก” อันนองเลือดที่ปะทุขึ้นอยู่เป็นระยะๆ ตามแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา มีการกล่าวหากันเป็นประจำในเรื่องการใช้อาวุธชนิดที่ละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ, การละเมิดสิทธิมนุษยชน, ตลอดจนการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ถ้าหากสมาคมอาเซียนที่กำหนดพบปะหารือกันในสุดสัปดาห์นี้ที่อินโดนีเซีย ยังไม่สามารถลบล้างภาพลักษณ์ความเป็นเสือกระดาษไร้เขี้ยวเล็บของตน และแสดงบทบาทอันหนักแน่นยิ่งขึ้นแล้ว การพิพาทดังกล่าวนี้ก็อาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่มีขอบเขตกว้างขวางใหญ่โตมากขึ้นอีก

พนมเปญ – การปะทะกัน 2 ระลอกในปีนี้ระหว่างไทยกับกัมพูชาสืบเนื่องจากการช่วงชิงปราสาทและดินแดนตามแนวพรมแดนร่วมของทั้งสองฝ่าย ได้ทำให้มีทหารเสียชีวิตไปแล้ว 29 คน ขณะที่พลเรือนจากทั้งสองฟากของชายแดนเป็นจำนวนสูงถึง 85,000 คนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยตั้งแต่ที่ความเป็นปรปักษ์กันกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ในวันที่ 22 เมษายน การสาดอาวุธและคำพูดเข้าตอบโต้กัน และการที่แต่ละฝ่ายต่างดูเหมือนไม่เต็มใจที่จะแก้ไขสถานการณ์ ได้ทำให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศอยู่ในฐานะล้มละลายไม่สามารถที่จะอวดอ้างความเหนือกว่าในทางศีลธรรมใดๆ ในประเด็นปัญหานี้

ด้วยสภาพภูมิหลังเช่นนี้เอง การประชุมหารือในช่วงสุดสัปดาห์นี้ของบรรดาผู้นำแห่งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับองค์การแห่งนี้ที่จะกระทำการในสิ่งที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาประสบความล้มเหลว ด้วยการยึดถือหลักการที่ต้องให้ความสำคัญแก่ประชาชนก่อนการเมือง แล้วผลักดันให้เกิดมาตรการอันเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อยุติความทุกข์ยากเดือดร้อนของมนุษย์อันมีสาเหตุจากการปะทะต่อสู้กันที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

พวกนักวิจารณ์จำนวนมากได้เสนอทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวแรงแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการปะทะเหล่านี้ขึ้นมา โดยมีข้อสรุปว่าเป็นเพราะใกล้เวลาที่ประเทศไทยจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว เรื่องนี้ย่อมเป็นการบ่งชี้ว่า การปะทะกันที่เกิดขึ้นนั้นเอื้อประโยชน์ให้แก่จุดหมายทางการเมืองภายในบางอย่างบางประการของรัฐบาลไทยที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือไม่ก็ของพวกนายพลชาตินิยมที่แตกแถวบางผู้บางคน

นักวิจารณ์คนอื่นๆ เสนอแนะว่า การสู้รบกันดังกล่าวเป็นแผนการของนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน แห่งกัมพูชา เพื่อปลุกระดมกระแสความรู้สึกชาตินิยมขึ้นมา ในความพยายามที่จะหันเหความสนใจออกไปจากปัญหาภายในประเทศหลายๆ ประการ เป็นต้นว่า การขับไล่ประชาชนจำนวนมากออกจากที่ดินทำกินของพวกเขา ตลอดจนกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้และยังอีกหลายฉบับที่เตรียมจะออกตามมา ซึ่งล้วนมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือไม่ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนเกียรติภูมิบารมีทางการทหารของ ฮุน มาเน็ต บุตรชายของฮุนเซน ผู้ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเพื่อเป็นทายาทสืบตำแหน่งของเขาโดยที่เมื่อเร็วๆ นี้เอง ฮุน มาเน็ต ก็เพิ่งได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลระดับ 2 ดาว รวมทั้งเป็นผู้ที่ถูกพูดถึงว่าเป็นผู้รับผิดชอบบังคับบัญชาทหารในบริเวณชายแดนที่เกิดการปะทะกับไทย

ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอะไรกันแน่ (บางทีสาเหตุจริงๆ อาจจะเป็นการผสมผสานกันของปัจจัยเหล่านี้หลายๆ ปัจจัยก็เป็นได้) รัฐบาลของทั้งสองประเทศดูเหมือนมีความเต็มใจที่จะแก้ไขประเด็นปัญหานี้และผ่อนคลายความตึงเครียดลงมา น้อยกว่าการที่พวกเขากำลังเติมเชื้อโหมไฟให้คุโชนยิ่งขึ้นอีก ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทุกๆ ครั้งที่ข้อตกลงหยุดยิงถูกละเมิด แต่ละฝ่ายก็จะเสนอคำอธิบายในลักษณะที่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดและควรที่จะต้องถูกประณาม สิ่งที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านี้อีกก็คือ การที่แต่ละฝ่ายต่างกำลังยกระดับการกล่าวหากันและกันว่า ตลอดระยะแห่งการทำศึกกันคราวนี้ อีกฝ่ายหนึ่งมีการใช้อาวุธและยุทธวิธีที่ผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนก่อให้เกิดอันตรายอย่างเกินเหตุเกินความสมควร

พวกแหล่งข่าวฝ่ายไทยกล่าวหากัมพูชาว่า มีการใช้ปืนใหญ่และเครื่องยิงจรวดขนาดหนัก, มีการใช้วัดวาอารามเป็นค่ายทหารและใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์เพื่อยกระดับความขัดแย้ง จะได้ใช้เป็นข้ออ้างให้นานาชาติเข้าแทรกแซงและประณามประเทศไทย ส่วนกัมพูชาก็อ้างว่าเครื่องบินของไทยได้บินละเมิดน่านฟ้าของเขมร รวมทั้งทหารไทยมีการใช้อาวุธชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างเกินความสมควร เป็นต้นว่า ลูกปืนใหญ่ที่บรรจุแก๊สพิษ และระเบิดลูกปรายที่จะปล่อยระเบิดลูกจิ่วๆ ออกมาครอบคลุมพื้นที่กว้าง อาวุธระเบิดลูกปรายยังมักไม่ระเบิดในเวลาที่กระทบพื้น แต่จะสามารถระเบิดได้ในเวลาต่อไปข้างหน้า

ไทยนั้นไม่ยอมรับว่ามีการใช้ระเบิดลูกปรายในการต่อสู้กันในช่วงหลังๆ นี้ อย่างไรก็ดี ด้วยข้อมูลที่ได้มาจากการสอบสวนสถานที่เกิดเหตุ 2 ครั้ง 2 ครา ในหมู่บ้าน สวาย ชรุม (Svay Chrum Village), หมู่บ้าน เซน เชย์ (Sen Chey Village), และรอบๆ ปราสาทพระวิหารภายหลังการปะทะกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 กลุ่มพันธมิตรต่อต้านการใช้ระเบิดลูกปราย (Cluster Munition Coalition) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหราชอาณาจักร ก็มีข้อสรุปว่า ประเทศไทยได้ใช้อาวุธประเภทนี้ในระหว่างการปะทะกันในช่วงดังกล่าว และต่อมาพวกเจ้าหน้าที่ไทยก็ออกมายืนยันยอมรับ

ขณะที่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้จัดส่งกระแสไฟฟ้าให้แก่พื้นที่จำนวนมากของภาคตะวันตกของกัมพูชา คือผู้รับผิดชอบต่อเหตุไฟฟ้าขัดข้อง 3 ระลอกซึ่งเกิดขึ้นมาในระหว่างที่มีการสู้รบกันเมื่อเร็วๆ นี้ แต่จากคำพูดการแสดงทัศนะของรัฐมนตรีพลังงาน และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของไทยในช่วงหลังๆ นี้ ก็ดูบ่งบอกให้เห็นว่า ยังคงกำลังมีการหารือในเรื่องการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้ากันอยู่ หาใช่เรื่องที่ไม่มีมูลอะไรเอาเลย

เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ความถูกต้องในข้อกล่าวหาของแต่ละประเทศ ตลอดจนที่จะวินิจฉัยว่าประเทศใดคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดการตกลงหยุดยิงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะผู้สังเกตการณ์ที่มาจากฝ่ายที่สามยังไม่สามารถเข้าไปในบริเวณดังกล่าวได้ แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่ากำลังมีการกล่าวหาเช่นนี้เข้าใส่กัน ย่อมหมายถึงว่านี่เป็นสงครามสกปรกทั้งในทางการกระทำและในทางคำพูด หรือก็คือความประพฤติของแต่ละฝ่ายในความขัดแย้งคราวนี้ ตลอดจนการกล่าวถึงศึกคราวนี้ของแต่ละฝ่าย

เมื่อมองกันในแง่ที่ดีที่สุดก็คงพูดได้เพียงว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ได้แสดงให้เห็นหลักฐานร่องรอยของความจริงใจใดๆ เลยในเวลาที่พวกเขาวาดภาพการปะทะกันเหล่านี้ และยุทธวิธีที่อีกฝ่ายหนึ่งกำลังใช้อยู่ ตลอดจนต่างกำลังมองหาหนทางที่จะทำให้ผู้เฝ้าชมทั้งที่อยู่ภายในประเทศและต่างประเทศเกิดความเข้าใจผิด หรือเมื่อมองกันในแง่ที่เลวร้ายที่สุดแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือกระทั่งทั้งสองฝ่ายอาจจะมีความผิดฐานละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ด้วยการใช้ยุทธวิธีและอาวุธที่ทำให้พลเรือนได้รับอันตราย หรือส่งผลให้ทรัพย์สมบัติทางวัฒนธรรมได้รับความเสียหาย

การที่เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยตัดสินเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่ติดกับปราสาทพระวิหาร อาจจะมีส่วนในการเป็นหนทางแก้ไขขั้นสุดท้ายสำหรับพื้นที่ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามานานแล้วนี้ อย่างไรก็ดี สำหรับในระยะสั้นแล้ว ความเคลื่อนไหวคราวนี้ยังไม่น่าที่จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ โดยที่อาจจะเป็นการโหมความร้อนระอุของกรณีพิพาทให้เพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

รายงานข่าวในช่วงวันหลังๆ มานี้ที่ว่า ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาต่างกำลังอนุญาตให้พลเรือนเดินทางกลับพืนสู่พื้นที่ชายแดน ก่อนที่จะมีการเจรจาเพื่อให้ได้หนทางแก้ไขปัญหาอันน่าพอใจออกมานั้น เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนตามชายแดนมีความวิตกห่วงใยน้อยกว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศ ในเรื่องการเมืองที่พัวพันกับการพิพาทกันคราวนี้

เมื่อบรรดาผู้นำของอาเซียนเปิดการประชุมกันในกรุงจาการ์ตาสุดสัปดาห์นี้ ประเด็นเรื่องความตายของทหารไทยและกัมพูชารวม 29 คน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองฟากของชายแดนจำนวน 85,000 คนที่ต้องกลายเป็นคนพลัดที่นาคาที่อยู่ รวมทั้งการยุติการสู้รบกันในทันที จึงควรที่จะอยู่ในลำดับสูงที่สุดของวาระการหารือของพวกเขา

ไม่ว่าจะมีแรงจูงใจอะไรเป็นพิเศษอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งคราวนี้ก็ตามที มันก็เป็นที่ชัดเจนว่าตัวแสดงของทั้งสองฝ่ายต่างกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองมากกว่าชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนของพวกเขา มันยังเป็นที่ชัดเจนพอๆ กันด้วยว่า ความเป็นศัตรูกันเหล่านี้ไม่น่าที่จะจบสิ้นลงได้ตราบเท่าที่มันยังคงเป็นประเด็นปัญหาระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชา

ความประพฤติของฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศ และความหลอกลวงของรัฐบาลของพวกเขา จักสามารถที่จะกลับเข้าแถวเข้าแนวได้ ก็ด้วยการทำให้ประเด็นปัญหานี้กลายเป็นปัญหาระดับระหว่างประเทศ จวบจนถึงเวลานี้ ความพยายามจากนานาชาติ (รวมทั้งข้อตกลงที่ล้มเหลวลงไป ซึ่งจะยินยอมให้มีผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาเฝ้าติดตามสถานการณ์ในบริเวณสองข้างของชายแดน) ยังคงล้มเหลวไม่สามารถที่จะสกัดกั้นยับยั้งการสู้รบกันได้

เพื่อแสดงให้เห็นว่าอาเซียนยังคงมีเครดิตความน่าเชื่อถือและยังคงมีบทบาทมีคุณประโยชน์ สมาคมนี้จะต้องแสดงความเป็นผู้นำอย่างหนักแน่นจริงจังยิ่งขึ้นในการไกล่เกลี่ยความตึงเครียดคราวนี้ ก่อนที่มันจะบานกลายกลายเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่โตกว้างขวางมากขึ้น และกลายเป็นความหายนะทางด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงยิ่งกว่านี้

อู วิรัก เป็นประธานของศูนย์กลางชาวกัมพูชาเพื่อสิทธิมนุษยชน (Cambodian Center for Human Rights) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงพนมเปญ
กำลังโหลดความคิดเห็น