xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 15

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง

โดย...ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

             นักการเมืองนั้นเขาว่าเป็นสัตว์กิน “เงิน”
มหากาพย์ระหว่างนักการเมืองกับไปรษณีย์ “ขุมทรัพย์”
             ทางการเงินจึงเกิดขึ้น


สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นมิใช่ธนาคารพาณิชย์ที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็น commercial bank หากแต่เป็นไปรษณีย์ที่ทำหน้าที่นอกจากการสื่อสารระหว่างคนผ่านจดหมายและโทรเลขแล้วยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางทางการเงินหรือ financial intermediary อีกด้วย

รูปแบบของการใช้ไปรษณีย์ทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินเกิดจากการประหยัดซึ่งขนาดและหน้าที่ (economy of scale and scope) เพราะในญี่ปุ่นที่ทำการไปรษณีย์มีอยู่เกือบจะทุกแห่งของประเทศรองไปจากสถานีตำรวจ การส่งเงินผ่านโทรเลขหรือการส่งตั๋วแลกเงิน (ธนาณัติ) เป็นหน้าที่อันหนึ่งของไปรษณีย์ที่ทำอยู่แล้ว ดังนั้นหากจะเพิ่มบริการฝาก/ถอนเงินด้วยการเปิดบัญชีหรือบริการประกันภัยเข้าไปด้วยในสถานที่แห่งเดียวกันนี้ก็จะเป็นความสะดวกและประหยัดต่อผู้ให้และผู้ใช้บริการเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในบริเวณเขตชนบทที่ธนาคารพาณิชย์มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าไปให้บริการได้ทั่วถึงเท่ากับไปรษณีย์

อาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาด้วยการสร้างระบบโทรคมนาคมที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วย “รางรถไฟและสายโทรเลข” ต่อเนื่องกันมายาวนานอันทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย คน สิ่งของ และข้อมูลไปยังที่ต่างๆ ได้ทั่วประเทศได้ถูกและรวดเร็ว

แม้ว่าระบบการส่งข้อมูลแบบอนาล็อกด้วยโทรเลขจะล้าสมัยไปแล้วเมื่อเทียบกับระบบแบบดิจิตอลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่หน้าที่การเป็นตัวกลางทางการเงินของไปรษณีย์ยังสามารถแข่งขันกับระบบธนาคารพาณิชย์ได้ด้วยความสะดวกเพราะมีเครือข่ายกว้างขวางใกล้บ้านของผู้ใช้บริการมากกว่าธนาคารพาณิชย์

ในปัจจุบันรางรถไฟอาจะสู้ถนนไม่ได้ในแง่ความอ่อนตัว ขณะที่สายโทรเลขที่วางคู่ไปกับรางรถไฟจะสู้เครือข่ายใยแก้วนำแสงหรือระบบไร้สายผ่านดาวเทียมไม่ได้ในด้านความรวดเร็ว แต่ไปรษณีย์ก็ยังมีเครือข่าย “ที่ทำการ” ที่ได้ลงหลักปักฐานมาเป็นเวลานาน ทำให้การระดมเงินออมด้วยการรับฝากเงินที่เป็นจุดแข็งที่เหนือกว่าธนาคารพาณิชย์

หน้าที่ของการเป็นสถาบันการเงิน ณ ที่ทำการไปรษณีย์จึงระดมเงินออมได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์เพราะมีเครือข่ายทุกหนแห่งทั่วประเทศ เป็นเหมือนร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันนั่นเอง ธนาคารไปรษณีย์ (Post Bank) ของญี่ปุ่นจึงเป็นเหมือนธนาคารออมสินบวกกับไปรษณีย์

เงินออมจำนวนมหาศาลที่ไปรษณีย์ระดมมาได้กลายเป็นขุมทรัพย์ของนักการเมืองที่ได้นำเอาเงินออมเหล่านี้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพราะไปรษณีย์เป็นของรัฐ นักการเมืองจึงสามารถสร้างหนี้ได้ด้วยการสั่งให้ไปรษณีย์ “ลงทุน” ซื้อพันธบัตรรัฐบาลและนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้โดยไม่มีขีดจำกัดจากการต้องพึ่งพารายได้จากภาษีมาเป็นเวลานานหลายสิบปีจนหนี้สาธารณะเพิ่มพูนขึ้นมาอย่างรวดเร็วเกือบสองเท่าของรายได้ประชาชาติในปัจจุบัน จนทำให้ธนาคารไปรษณีย์ได้กลายมาเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในพันธบัตรรัฐบาล

หากมิให้นำเงินออมที่ได้มานี้ไป “ลงทุน” ในพันธบัตรรัฐบาล ไปรษณีย์ก็มีปัญหาในแง่ความสามารถในการปล่อยกู้แข่งขันสู้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ อาจเกิดหนี้เสียจนอาจแก้ไขไม่ไหวเหมือนดังเช่นธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจทั่วไปแม้ในประเทศไทยที่มักจะปล่อยกู้ตามที่นักการเมืองสั่งการ ผลเสียก็จะตกอยู่กับประชาชนในที่สุดเพราะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่มีทุนที่แน่นอน ทำให้ความรับผิดชอบของรัฐต่อรัฐวิสาหกิจมีไม่จำกัด

เมื่อ “จุดแข็ง” ได้กลายเป็น “จุดอ่อน” จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกิจการไปรษณีย์เสียใหม่โดยการแยกกิจกรรมที่มิใช่หน้าที่โทรคมนาคมออกไปจากไปรษณีย์เสีย ไปรษณีย์ญี่ปุ่นจึงถูกแยกงานออกเป็น 4 หน่วยงานตามหน้าที่คือ Japan Post Network, Japan Post Service, Japan Post Bank และ Japan Post Insurance ทำการกำหนดมูลค่าทุนขึ้นมาและให้มีบริษัทเพื่อการลงทุนหรือ Japan Post Holdings เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัททั้ง 4 นี้เพื่อที่จะได้แปรรูปกิจการที่มิใช่งานไปรษณีย์มากที่สุดคือ Japan Post Bank และ Japan Post Insurance ออกไปเสียเพื่อมิให้เป็นช่องทางให้นักการเมืองสร้างหนี้ให้ประชาชน ในขณะที่หน้าที่ของการให้บริการของรัฐในแง่การคมนาคมยังคงอยู่กับรัฐได้

นักการเมืองที่อาสามาทุบหม้อข้าวตนเองนี้คือ นายจุนอิชิโร่ โคะอิซูมิ (小泉 純一郎) นายกฯ ที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ด้วยทรงผมที่เหมือนสิงโตและมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงริชชาร์ด เกียร์ นายโคะอิซูมิเป็นนายกฯ เพียงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นที่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้เกินกว่า 5 ปี หากนับเวลาจากที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งด้วยการอยู่ครบวาระในปี 2006 แล้วนายกฯ รุ่นหลังเขาโดยเฉลี่ยสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 1 ปีโดยประมาณ

นายโคะอิซูมิใช้เวลาทางการเมืองประมาณ 30 ปีจากปี 1970 จนถึงปี 2001 จึงได้ก้าวสู่จุดสูงสุดทางการเมืองด้วยตำแหน่งนายกฯ เป็นนักการเมืองรุ่นที่สามของครอบครัวต่อจากปู่และพ่อในปัจจุบันมีลูกชายเป็นรุ่นที่สี่ที่เป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งที่ตนเองเคยลงมาก่อน หย่าเมียขณะตั้งท้องลูกชายคนที่สาม เข้าสู่การเมืองเช่นเดียวกับ “เคตะ” พระเอกในเรื่อง Change เพราะพ่อเสียชีวิตขณะที่ศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษหลังจากจบการศึกษาในประเทศจากมหาวิทยาลัยเคโอ

วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของนายโคะอิซูมิที่ได้กลายมาเป็นนโยบายเพื่อหาเสียงเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ก็คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยการปฏิรูปการก่อหนี้สาธารณะและการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ ที่ถือได้ว่าเป็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่ในพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือ LDP ที่เป็นพรรคแนวอนุรักษนิยม ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากการได้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ดูแลกิจการไปรษณีย์เช่นเดียวกับที่ปู่ของเขาเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้เช่นกันมาก่อน

นายโคะอิซูมิได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคฯ ในปี 2001 ซึ่งถือได้ว่าเป็นห้วงเวลาของเศรษฐกิจตกต่ำของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีรัฐบาลและนายกฯ ก่อนหน้านี้มากหน้าหลายตาที่พยายามจะใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐตามแนวเคนส์ (J.M.Keynes) เพื่อชี้นำการใช้จ่ายภาคเอกชนและพลิกเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ฟื้นจากความซบเซาแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะประชาชนไม่ตอบสนองใช้จ่ายตามภาครัฐเนื่องจากไม่แน่ใจในอนาคตว่ากิจการของนายจ้างจะยังสามารถจ้างตนเองทำงานต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้หรือไม่

แต่สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ยิ่งรัฐบาลกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่าใดความไม่ไว้วางใจในอนาคตของประชาชนยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น อย่าลืมว่าประชาชนก็คิดเป็นว่ายิ่งกู้มามากก็หมายความว่าเอาเงินอนาคตมาใช้ ตนเอง ลูก หรือหลาน ก็ต้องเป็นผู้ใช้คืนผ่านภาษีที่จะต้องถูกเก็บเพิ่ม เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องรอมาจนกระทั่งมาถึงเวลาของนายโคะอิซูมิ

ข้อเสนอของการปฏิรูปหนี้สาธารณะและการปฏิรูปกิจการไปรษณีย์จึงโดนใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็น “คนเมือง” ที่กำลังโหยหาผู้กล้าทางการเมืองที่มีวิสัยทัศน์เข้ามาปฏิรูปเศรษฐกิจ เพราะผู้ที่เสียภาษีส่วนใหญ่ให้รัฐคือ “คนเมือง” ที่ทำงานนอกภาคเกษตรและอาศัยอย่างแออัดในเขตเมืองซึ่งโดยเปรียบเทียบแล้วมีสิทธิเลือก ส.ส.ได้น้อยกว่า “คนชนบท” ที่ทำงานในภาคเกษตร

นโยบายของพรรคเสรีประชาธิปไตยที่นายโคะอิซูมิสังกัดอยู่ที่ทำมาโดยตลอดจึงมุ่งไปที่ฐานเสียง “คนชนบท” ที่เสียภาษีน้อยแต่ได้รับประโยชน์มากจากการที่รัฐบาลเอางบประมาณไปทุ่มสร้างสาธารณูปโภคและการประกันราคาข้าวให้สูงกว่าความเป็นจริงอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับ “คนเมือง” ที่ต้องเสียภาษีมากกว่าแล้วยังต้องรับภาระกินข้าวแพงอีก ทั้งนี้ก็เพื่อผลทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

แม้ว่าจะได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนโดยการเลือก ส.ส.พรรคฯ ของนายโคะอิซูมิเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2001 แต่การปฏิรูปตามที่ได้หาเสียงไว้ก็ใช่ว่าจะสะดวกราบรื่น นายโคะอิซูมิยังต้องเผชิญกับคนในพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปกิจการไปรษณีย์ของเขาอย่างรุนแรง

รูปซ้ายที่ทำการไปรษณีย์ที่เห็นได้ทั่วไปใกล้บ้านเปรียบเสมือน “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ขณะที่ในเมืองใหญ่ไปรษณีย์ก็มีบริการอันทันสมัยแข่งกับธนาคารพาณิชย์ รูปขวา (ภาพทั้งหมดจาก google)
****************

*1 The Japan Foundation Fellow บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น