xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 10

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

        จริยธรรมอยู่เหนือกฎหมายอย่างไร มีตัวอย่างให้ดู

ญี่ปุ่นได้นายกรัฐมนตรีคนที่สามในรอบสองปีไปแล้วอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีที่คนไทยควรเรียนรู้ว่าจริยธรรมนั้นต้องให้ความสำคัญอยู่เหนือกฎหมาย

นับจาก พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น หรือ Democratic Party of Japan สามารถเอาชนะพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ Liberal Democratic Party ไปได้เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2552 แทนที่หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่นคือนายอิชิโร่ โอซาว่า ในขณะนั้นจะได้เป็นนายกฯ กลับกลายเป็นว่าต้องยกตำแหน่งให้นายฮะโตยามะเป็นนายกฯ แทนเพราะตนเองถูกฟ้องร้องในเรื่องการรับเงินบริจาคและแจ้งบัญชีเป็นเท็จ

แต่นายฮะโตยามะก็เป็นนายกฯ ได้เพียงชั่วครู่เพราะไม่สามารถทำตามสิ่งที่ตนเองไปหาเสียงเป็นสัญญาประชาคมกับคนโอกินาวาเรื่องการย้ายฐานทัพสหรัฐฯ เมื่อทำให้คนโอกินาวาไม่ได้ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ นายคังจึงได้เป็นนายกฯ คนต่อมา

นายกฯ คนที่สามผู้นี้ชื่อ นายโยชิฮิโกะ โนดะ มาจากพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่นเช่นเดียวกับนายฮะโตยามะ และนายคัง และเป็นนายกฯ โดยการเลือกเป็นหัวหน้าพรรค เป็นการภายในพรรคก่อนแล้วจึงเสนอชื่อเข้าไปในสภาเพื่อรับรองอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับสองคนก่อนหน้านี้

แม้จะเป็นการเลือกหัวหน้าพรรคอันเป็นกิจการภายในพรรค แต่ก่อนที่นายโนดะจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแทนนายคัง ก็ต้องออกมาแสดงความคิดเห็นหรือ debate ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงวิสัยทัศน์และแนวทางในการบริหารหากได้รับเลือกกับผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนอื่นๆ อีก 5 คนอย่างน้อยเท่าที่เห็นก็มีออกสื่อโทรทัศน์อย่างน้อย 2 ครั้งและยังมีที่ไม่ได้ออกอีก การไม่มาแสดงถึงวาระซ่อนเร้นและความไม่พร้อมให้สาธารณชนตรวจสอบ

สิ่งที่ได้ก็คือแนวคิดที่แต่ละคนมีในการแก้ปัญหาชาติ แม้กฎหมายไม่ได้บังคับแต่ทั้ง 5 คนก็มาโดยพร้อมเพรียงกันไม่ต้องมีตัวแทนมาโต้แทน ทำให้รู้ว่านายโนดะคิดต่างจากคู่แข่งที่เหลืออย่างชัดเจนในเรื่องที่มาของเงินที่จะไปช่วยผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิที่เขาเห็นว่าต้องมาจากการขึ้นภาษีเพราะภาระจะได้ไม่ต้องตกไปสู่รุ่นต่อไปเหมือนการออกพันธบัตรที่ทำให้คนรุ่นนี้สบายแต่ภาระไปตกอยู่กับคนรุ่นหลัง

จากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อฯ ตัวเก็งได้แก่ นายไกเอดะ ที่มีสมาชิกสังกัดกลุ่มนายโอซาว่าที่มีจำนวนมากที่สุดในพรรคสนับสนุนอยู่ กับนายมายเอฮาระ แต่เมื่อนายไกเอดะได้เสียงไม่ถึงครึ่งคือได้ 143 เสียงจากทั้งหมด 398 เสียงในรอบแรก ขณะที่นายโนดะเป็นม้ามืดได้ 102 เสียงและตัวเก็งนายมายเอฮาระได้เพียง 74 เสียง ทำให้ต้องมีการเลือกรอบสองระหว่างนายไกเอดะกับนายโนดะ
 
ผู้เข้าชิงหัวหน้าพรรคจากซ้าย นายมายเอฮาระ นายมะบุชิ นายไกเอดะ นายโนดะ และนายคะโน
ผลการเลือกรอบสองปรากฏว่านายโนดะชนะขาดได้ 215 เสียงขณะที่นายไกเอดะได้เพียง 177 เสียงเท่านั้น

อะไรที่ทำให้นายไกเอดะไม่ชนะ แม้ว่าน่าจะมีการตกลงกันอย่างลับๆ ระหว่างนายโนดะกับนายมายเอฮาระแล้วว่าหากฝ่ายใดชนะก็จะได้คะแนนเสียงของอีกฝ่ายหนึ่งไปในการเลือกตั้งรอบสองที่หากมี แต่ก็ยังไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญเท่ากับ นายไกเอดะมีนายโอซาว่าสนับสนุนอยู่ที่แม้จะเป็นจุดแข็งเพราะมีจำนวนมากกว่าใครในพรรคแต่ก็เป็นจุดอ่อนในเวลาเดียวกันเพราะนายโอซาว่านี้สังคมยังไม่ได้ให้การยอมรับเนื่องจากมีมลทินถูกฟ้องร้องในเรื่องการรับเงินมาใช้หาเสียงอย่างผิดกฎหมาย (ดูรายละเอียดในตอนที่ 8) และกำลังต่อสู้คดีอยู่ในศาล

นายโอซาว่าแม้จะเป็น ส.ส.เป็น “ขาใหญ่” ของพรรคมีสิทธิเหนือคนทั่วไปที่ออกเสียงในสภาได้ แต่กลับไม่สามารถเข้าร่วมโหวตเลือกหัวหน้าพรรคที่ตนเองออกแรงตั้งขึ้นมาได้เพราะถูกถอนสมาชิกภาพพรรคเป็นการชั่วคราว

แรงกดดันของสังคมที่มีทางการเมืองและจริยธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญอยู่เหนือกฎหมายที่เป็นเงื่อนไขบังคับที่ต่ำกว่า พรรคเพื่อไทยจะกล้ายอมระงับสมาชิกภาพของ “ปู” หรือไม่ในเมื่อ “ปู” พูดโกหกต่อศาล หรือ “ปู” และนักการเมืองไทยทั้งหลายจะอ้างแต่กฎหมายในการแต่งตั้งคนที่มีมลทินมาทำงานทางการเมืองใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนที่ต้องการคนที่ปราศจากมลทินมากกว่าที่เป็นอยู่

จะอ้างแต่เพียงว่าศาลยังไม่ตัดสินฉะนั้นยังไม่เป็นผู้ผิดนั้นใช้ไม่ได้สำหรับบุคคลสาธารณะที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐ เช่น นักการเมืองที่มักจะอ้างเสมอว่าเป็นชนชั้นผู้มาออกกฎหมาย ดังนั้นจะใช้กฎหมายที่ตนเองออกกับมือมาเอาผิดได้อย่างไร รักจะเป็นชนชั้น “เทพ” ก็ต้องใช้กฎของ “เทพ” จะมาใช้กฎของ “คน” ได้อย่างไร

ผิดถูกชั่วดีนักการเมืองญี่ปุ่นก็คงไม่แตกต่างจากนักการเมืองไทยเท่าใดนัก แต่หากสังคมญี่ปุ่นไม่กดดันให้ต้องเอาจริยธรรมเป็นที่ตั้งมิใช่เอากฎหมายซึ่งบังคับคนทั่วไปมาเป็นที่ตั้ง ดังนั้นการลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบจึงดูแล้วง่ายดายเสียเหลือเกินหากนำมาเปรียบกับนักการเมืองไทยไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน ไม่เช่นนั้นนายโอซาว่า นายฮะโตยามะ นายคัง จะยอมสละจากตำแหน่งนายกฯ ที่ตนน่าจะได้เป็นหรือเป็นแล้วได้โดยง่ายดอกหรือ

สังคมไทยควรจะเริ่มต้นไม่เคารพนับถือนักการเมืองที่มีมลทินไม่ว่าจะมีตำแหน่งใหญ่โตขนาดไหน ไม่ยืน ไม่ไหว้ ไม่เรียก ฯพณฯ หรือ ท่าน เป็นสิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่ที่จะเคารพใครหรือไม่ เป็นการแสดงออกถึงการลงโทษทางสังคมที่รุนแรงกว่าโทษทางกฎหมาย

ผู้อ่านรู้จัก นายอูเซน โบลท์ (Usain Bolt) หรือไม่ หากไม่รู้จักก็เสียใจที่ท่านพลาดที่จะรู้จักมนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกคนหนึ่งไป

นายโบลท์เป็นเจ้าของสถิติเป็นทางการวิ่ง 100 เมตรด้วยเวลา 9.58 วินาที 200 เมตรด้วยเวลา 19.19 วินาทีที่ยังไม่มีใครทำลายได้ และสถิติโลก 4 คูณ 100 เมตร ใหม่ด้วยเวลา 37.04 วินาที หากคิดเป็นความเร็วแล้วน่าจะมากกว่า 30 กม.ต่อชม.

นายโบลท์มาแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกที่จัดโดย IAAF ที่เดกูประเทศเกาหลีสามารถวิ่งผ่านเข้ารอบมาเรื่อยๆ อย่างสบายๆ เท่าที่ได้ดูเขาวิ่งเพียง “สามสลึง” เท่านั้นกล่าวคือตั้งแต่ออกตัวจนถึงประมาณ 7-80 เมตรเมื่อไม่มีใครเข้าใกล้ก็ผ่อนวิ่งประคองตัวก่อนเข้าเส้นชัย

นายโบลท์น่าจะได้สร้างสถิติวิ่ง 100 เมตรเป็นข่าวอีกครั้งหนึ่งแต่กลายเป็นว่าเขาสร้างข่าวที่ใหญ่กว่าการวิ่งชนะก็คือ การออกตัวผิดกฎ หรือ false start ในรอบชิงชนะเลิศ
 
นายโบลท์แสดงความผิดหวังเมื่อออกตัวผิดกฎ       ทีม 4 คูณ 100 ของจาไมก้ากับสถิติโลกใหม่
นายโบลท์เข้ามาแข่งในรองชิงชนะเลิศด้วยอาการแบบสบายๆ อากัปกิริยาในตอนเข้าประจำที่ก็เป็นแบบฉบับของตนเองคือเอามือทำกางเขนแบบคริสต์ศาสนิกชนทั่วไปแล้วเหลือบมองพร้อมกับชี้นิ้วไปบนฟ้าเหมือนกับให้พระผู้เป็นเจ้ารับรู้ว่าตนเองกำลังจะวิ่งแข่งอีกครั้งหนึ่ง

กติกาของ IAAF ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ได้แก้ไขเรื่องการออกตัวผิดกฎเป็นออกจากการแข่งขันในทันที จากเดิมที่การออกตัวผิดกฎในครั้งแรกสามารถทำได้โดยไม่ต้องออกจากการแข่งขัน คนที่ทำผิดกฎการออกตัวครั้งต่อไปจะต้องออกจากการแข่งขัน พูดง่ายๆ ก็คือคนออกตัวผิดกฎคนที่สองที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรกต้องออกจากการแข่งขัน การแก้ไขก็เพื่อมิให้มีการเอาเปรียบเพราะมักจะมีการออกตัวผิดกฎในครั้งแรกอยู่บ่อยครั้งเพื่อบีบคู่แข่งขัน เพราะตนเองชิงออกตัวก่อนไปแล้วแม้จะผิดก็ยังไม่ต้องออกจากการแข่งขัน แต่คนดีที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำผิดต้องถูกกดดันเพราะไม่มีโอกาสแก้ตัวใดๆอีกแล้ว

มีผู้เขียนวิจารณ์เรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ผู้ที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่มักให้ความเห็นว่าเป็นกฎที่ “งี่เง่า” สมควรแก้ไข แต่จะมีใครคิดบ้างว่า นายโบลท์ ก็ยังยอมรับโดยดีแม้จะไม่เชื่อว่าตนเองออกตัวผิดกฎในทีแรกก็ตาม

นายโบลท์และทักษิณสามารถคิดได้ว่าตนเองนี้ยิ่งใหญ่กว่ากฎที่มีก็สามารถคิดได้ ดังนั้นจึงสมควรเปลี่ยนกฎเพื่อให้ตนเองไม่ผิด แต่จะทำไปเพื่ออะไรในเมื่อสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปนั้นเป็นอดีตไปแล้ว

นายโบลท์และทักษิณแม้อาจจะสามารถแก้กฎให้ความผิดที่ได้กระทำไปแล้วไม่ผิดได้ แต่สิ่งนายโบลท์และทักษิณทำไม่ได้คือเปลี่ยนอดีตที่ตนเองทำผิดไปแล้ว

นายโบลท์ แม้จะมีการแก้กฎการออกตัวใหม่ แต่ก็ไม่สามารถเรียกชัยชนะที่เดกูกลับคืนมาได้ ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้แล้วว่าแพ้เพราะทำผิดกฎ มีผู้วิ่งคนอื่นเป็นผู้ชนะไม่ใช่ตน

ทักษิณ จึงไม่สามารถทำให้ความผิดที่ตนได้กระทำนั้นให้เป็นถูกได้ ผิดก็ยังเป็นผิดอยู่ดี กลับมาก็ต้องติดคุก ไม่มีใครสามารถแก้ปัจจุบันให้มีผลย้อนไปหาอดีตได้ มีแต่ต้องเริ่มต้นแก้จากปัจจุบันไปหาอนาคตก็เท่านั้นเอง

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างนายโบลท์และทักษิณก็คือนายโบลท์ยอมรับกฎแล้วกลับไปแข่งต่อ ชัยชนะที่เขาได้จึงเป็นชัยชนะที่ทุกคนสามารถยอมรับได้เป็นชัยชนะอย่างแท้จริงเพราะตนเองรักษาและเคารพกฎไม่เอาเปรียบใช้สองมาตรฐานเมื่อตนเป็นฝ่ายผิด

ส่วนทักษิณนั้นก็ยังคงต้องเวียนว่ายเป็นสัมภเวสีที่คอยหลอกหลอนคนไทยต่อไปตราบเท่าที่ไม่ยอมรับกฎ และยังไม่ยอมรับความจริงที่ว่าไม่มีใครแก้ผิดที่ได้ทำไปให้เป็นถูกไปได้ ไม่มีใครจริงๆ

*******************
1 The Japan Foundation Fellow บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น