xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 8

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง

          คนต่างจากสัตว์ที่ปกครองกันด้วยกฎหมาย
                 มิได้ปกครองกันด้วยคน

กระบวนการยุติธรรมที่สามารถลงโทษนักการเมืองขณะที่ยังอยู่ในอำนาจได้นั้น ถือได้ว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศนั้นมีนิติรัฐที่มิได้ปกครองกันด้วย “คน” แต่อย่างใด หากแต่อาศัย “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในการปกครองคนในประเทศ มิเช่นนั้นคนที่กำปั้นใหญ่ ตัวใหญ่ หรือมีเงินมากกว่าก็จะเป็นอภิสิทธิชนในสังคม

ไต้หวันก็เป็นตัวอย่างที่ดีของนิติรัฐที่กระบวนการยุติธรรมสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้โดยไม่มีข้อยกเว้น แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร เช่น ประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งมาโดยตรงจากประชาชนก็ตาม

เฉิน ซุยเปียน หรือที่รู้จักในชื่อเล่นว่า อาเปียน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเลือกให้เป็นประธานาธิบดี แต่เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกลับใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบ อาศัยตำแหน่งหน้าที่คอร์รัปชันร่วมกันทั้งเมียนาง อู๋ ซู่เจิน นายเฉิน จื้อจง ลูกชาย นางเฉิน ซิ่งอี๋ว์ ลูกสาว และลูกเขย เจ้า เจี้ยนหมิง จนเป็นที่มาของการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอาเปียน เมีย และลูกๆ ก็ได้รับผลกรรมแตกต่างกันไปได

การที่อัยการสามารถกล่าวโทษประธานาธิบดีได้นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาว่า เหตุใดอัยการจึงสามารถยึดเอากฎหมายเป็นที่ตั้งดำเนินการฟ้องร้องกล่าวโทษไปตามพยานหลักฐานโดยไม่สนใจว่าผู้ที่ถูกกล่าวโทษจะเป็นใคร เหมือนดั่งสัญลักษณ์ของความยุติธรรมที่มักเป็นรูปผู้หญิงที่มือข้างหนึ่งถือตาชั่งและอีกข้างหนึ่งถือดาบที่เปรียบเสมือนการแสวงหาความยุติธรรมและการลงโทษ ขณะที่มีผ้าผูกตานั่นคือไม่มองที่คน ในขณะที่บ้านเราทำได้ยากมาก

หากจะตอบอย่างง่ายๆ ก็คือ มีหลายองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ความเป็นอิสระ ระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ ที่เข้ามามีบทบาท แต่ที่น่าจะมีความสำคัญสูงสุดก็คืออำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านศาลหรือสภาอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

อาเปียน ก็ไม่ได้ต่างกับ อาแม้ว ซักเท่าใดนัก เมื่อถูกกล่าวหาก็พยายามตอบโต้ว่าเป็นเรื่องการให้ร้ายทางการเมืองทั้งๆ ที่เป็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่ตนเองกระทำโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ แต่เมื่อจวนตัวก็อาศัยกฎหมายที่ตนเองบอกว่าไม่ยุติธรรมนี่แหละเป็นเครื่องคุ้มกันตนเองเพราะรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองไม่อาจดำเนินคดีประธานาธิบดีได้ในระหว่างดำรงตำแหน่ง แต่อำนาจของประชาชนนี่แหละที่ออกมาประท้วง เพราะ อาเปียน ทรยศต่อความไว้วางใจที่ประชาชนให้จนทำให้ต้องลาออก และเผชิญหน้ากับชะตากรรมตามกระบวนการยุติธรรมในที่สุด

ที่ต่างกันก็คือ อาเปียน ขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตเพราะเกรงว่าจะหลบหนีไปต่างประเทศ แต่ อาแม้ว นอกจากจะทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนแล้วยังทรยศต่อความไว้วางใจของศาลที่ให้เกียรติประกันตัว แต่กลับหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา อย่างนี้จะเรียกว่าท่านนายกฯ ได้อีกต่อไปหรือปู

รูปที่เห็นนี้คือกราฟแสดงความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อนายกฯ คังของญี่ปุ่นตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่ผ่านมาลดลงมาเป็นลำดับจากที่เคยมีมากกว่าร้อยละ 60 เมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่จนถึงปัจจุบันที่เหลือเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นเองที่ประชาชนญี่ปุ่นอยากเห็นนายคังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ แต่มีผู้ไม่พอใจนายคังเพิ่มขึ้นและเป็นเหตุให้เขาต้องลาออกก่อนจะหมดวาระ

นายคังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เพราะส้มหล่นก็ว่าได้ เนื่องจากพรรค DJP ที่นายคังอยู่ชนะเลือกตั้งได้เสียงมากกว่าพรรค LDP ก็เพราะนายอิชิโร่ โอซาว่าหัวหน้าพรรคคนก่อนเป็นสำคัญ แต่นายโอซาว่าต้องเผชิญกับอุปสรรคที่สำคัญทำให้ไม่ได้เป็นนายกฯ ทั้งที่หาเสียงมาแทบตายจนต้องยกตำแหน่งให้นายฮะโตยามะนายกฯ คนก่อนหน้านายคังจากพรรคเดียวกันเป็นแทน แต่นายฮะโตยามะก็ต้องลาออกตามไปเกือบจะพร้อมๆ กันเนื่องจากไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในตอนหาเสียงว่าจะย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ที่เกาะโอกินาวาไปยังที่อื่นที่ไม่ใช่แหล่งชุมชนเช่นปัจจุบัน เมื่อคนโอกินาวาทวงถามก็อยู่ไม่ได้ นายคังที่เป็นนักการเมืองโนเนมจึงได้เป็นนายกฯ แบบส้มหล่นเพราะตัวเต็งก่อนหน้าทั้งสองคนต้องมีอันเป็นไปหมดนั่นเอง

จากซ้าย รูปจำลองเทพีแห่งความยุติธรรมกรีก Themis นายฮะโตยามะ นายคัง และนายโอซาว่าก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 2552 ภาพจาก google.com

สิ่งที่น่าสนใจก็คืออะไรคืออุปสรรคที่ทำให้นายโอซาว่า ขาใหญ่ทางการเมืองอดีตหัวหน้าพรรคที่นายคังเป็นลูกน้องไม่ได้เป็นนายกฯ คำตอบอยู่ที่ประชาชนธรรมดา 11 คน

นายโอซาว่าถูกกล่าวหาว่ารับเงินบริจาคทางการเมืองเพื่อเอาไปใช้หาเสียงอย่างผิดกฎหมายและทำรายงานทางการเงินเท็จซึ่งเป็นข้อหาที่นักการเมืองญี่ปุ่นมักจะได้รับ แม้แต่นายฮะโตยามะก็โดนแต่เขาให้การว่าแม่ของเขาซึ่งเป็นเศรษฐินีบริจาคเงินให้ นายโอซาว่าปฏิเสธและอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องเพราะขาดหลักฐาน เรื่องดูไปก็น่าจะจบ

แต่ที่ไม่จบก็คือ คณะกรรมการอิสระที่ตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องของอัยการหรือ 検察審査会 อ่านว่า เคนซัดซึชินซะไค (Committee for the Inquest Prosecution) คณะที่ 5 ของกรุงโตเกียวจำนวน 11 คนที่เป็นหน่วยงานอิสระตามกฎหมายมีความเห็นว่า การที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายโอซาว่านั้นไม่เหมาะสม สมควรให้ดำเนินคดี นายโอซาว่าจึงเป็นนักการเมืองคนแรกที่ถูกหวยจากประชาชนคนธรรมดา 11 คนที่มาทำให้ชวดไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วยังอาจมาจบชีวิตทางการเมืองด้วยโทษจำคุกอีกด้วย

ระบบการตรวจสอบและคานอำนาจของอัยการนี้มีที่มาจากสหรัฐฯ เช่นกัน เมื่อครั้งญี่ปุ่นแพ้สงครามและสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปการเมืองการปกตรอง รูปแบบของอัยการเป็นประเด็นหนึ่งที่สหรัฐฯ เข้ามาปฏิรูปโดยเสนอให้อัยการมาจากการเลือกตั้งหรือจากระบบลูกขุน แต่อัยการผู้มีส่วนในการปรับปรุงเห็นว่าไม่เหมาะกับสภาพสังคมญี่ปุ่น ระบบตรวจสอบฯ และให้อำนาจประชาชนในรูปของคณะกรรมการฯ ที่มีที่มาจากภาคประชาชนจึงเกิดขึ้นมาแทน

เป้าหมายก็เพื่อที่จะตรวจสอบการทำงานของอัยการว่าสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ สิ่งที่เข้ามาตรวจสอบก็คือการสั่งไม่ฟ้องของอัยการว่าทำไปโดยถูกต้องมีเหตุผลหรือไม่ ที่มาของกรรมการมาจากการสมัครและเลือกโดยการจับฉลาก และมีคุณสมบัติที่ไม่ต้องห้าม เช่น ไม่เคยต้องโทษ ไม่เป็นข้าราชการ มีการศึกษา อายุไม่เกิน 70 ปี เป็นต้นแล้ว อายุการทำงานของกรรมการมีแค่ 6 เดือนๆ ละครึ่งหนึ่งต้องออกเมื่อคณะกรรมการทำงานไปได้ 3 เดือน ดังนั้นด้วยจำนวนที่เลือกเข้ามาโดยสุ่มจำนวนมากและหมุนเวียนกันเข้าออกไม่มีใครได้อยู่นานทำให้ไม่มีใครสามารถเป็น “ขาใหญ่” ยึดติดกับคณะกรรมฯ นี้เพื่อให้คุณให้โทษใครได้

อำนาจของคณะกรรมการฯ จึงมีคล้าย ป.ป.ช.ที่สามารถเรียกพยานและไต่สวนด้วยตนเองได้ตามกฎหมาย และที่สำคัญหลังจากการแก้กฎหมายไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ความเห็นแย้งของคณะกรรมการฯ ที่มีต่อการสั่งไม่ฟ้องของอัยการมีผลตามกฎหมายมิใช่เป็นแต่เพียงความเห็นอีกต่อไป นั่นคือหากคณะกรรมการฯ เห็นแย้งก็สามารถแต่งตั้งทนายฟ้องร้องในคดีที่อัยการไม่ฟ้องได้เช่นเดียวกับอำนาจที่ ป.ป.ช.มีนั่นเอง

แต่ที่เหนือกว่า ป.ป.ช.ก็คือการได้มาของกรรมการโดยง่ายกว่าและมีจำนวนมากกว่า ดังนั้นจึงสามารถทำงานกลั่นกรองและรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการสั่งไม่ฟ้องของอัยการได้รวดเร็วกว่า นายโอซาว่าจึง “ถูกหวย” แม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง แต่ถูกกรรมการฯ มากกว่า 8 คน (หากจะเห็นแย้ง) จาก 11 คนเห็นสมควรฟ้องเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ดังนั้นการที่นายโอซาว่าไม่ลาออกเมื่อถูกฟ้องและนายคังก็ไม่กล้าปลดออกจึงเป็นเหตุหนึ่งทำให้คะแนนความนิยมของพรรคและตัวนายคังลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย หากต้องเลือกตั้งในเร็ววันนี้ก็อาจแพ้เพราะทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนที่หันมาลงคะแนนให้

สมควรแล้วหรือยังที่ต้องมีการตรวจสอบในเรื่องดุลพินิจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการไทย เพราะดูไปแล้วไม่มีกลไกใดเลยที่ให้อำนาจประชาชนในการทบทวนตรวจสอบคำสั่งของอัยการว่าทำงานตามเจตนาที่ประชาชนต้องการหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีของนักการเมืองที่มักจะมีบทสรุปคล้ายๆ กันว่าขาดพยานหลักฐานพอเพียงที่จะฟ้องร้อง ทำให้เหมือนคดีเพลิงไหม้ที่สาเหตุมักจะสรุปว่ามาจากไฟฟ้าลัดวงจรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประชาชนไม่มีทางรู้ข้อเท็จจริงเลย

การที่อัยการอ้างว่าหน่วยงานตนเองมีอิสระในการตัดสินใจ แต่ขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบ ดูจะเป็นตรรกะที่ขัดแย้งกันในทำนองเดียวกับตำรวจ เพราะความเป็นอิสระนั้นหมายถึงอิสระในการตัดสินใจตามตัวบทกฎหมายมิใช่หมายความว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็ได้

จะให้ประชาชนแน่ใจได้อย่างไรว่า ประเทศไทยปกครองด้วยกฎหมายที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเสมอกัน หากขาดซึ่งความโปร่งใส อย่าลืมว่าท่านก็เป็นข้าราชการทำงานเพื่อประชาชนมิใช่เพื่อนักการเมืองเพราะเป้าหมายของนักการเมืองอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ

****************
*1 The Japan Foundation Fellow บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น