xs
xsm
sm
md
lg

ปาหี่เปิดฟลอร์ "ฟอกขาว" กันเอง ถึงเวลาถอดถอน "ทนายแผ่นดิน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณีไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีหุ้น “ชินคอร์ป” ที่มีจำเลยคนดังอย่าง “บรรณพจน์ ดามาพงศ์” และ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้บทบาทของ “อัยการ” ในฐานะ “ทนายแผ่นดิน” ถูกจับตามองด้วยสายตาที่เคลือบแคลงสงสัยทันที
เพราะคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กับศาลอุทธรณ์ มีความเห็นแย้งกัน ทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เกือบทุกประเด็น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก “บรรณพจน์-พจมาน” คนละ 3 ปี รวมไปถึง “กาญจนาภา พงษ์เหิน” เลขาฯส่วนตัว ที่โดนโทษจำคุก 2 ปีด้วย
ขณะที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้อง “พจมาน-กาญจนาภา” ส่วน “บรรณพจน์”เหลือโทษจิ๊บจ๊อยแค่จำคุก 2 ปี-ปรับ 1 แสนบาท และให้รอลงอาญา 1 ปี
ด้วย “ตรรกะ” ง่ายๆของกระบวนการยุติธรรม ที่มีศาลมีให้ต่อสู้ถึง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เมื่อ 2 ศาลแรกมีความเห็นขัดกัน ก็ต้องผล่อยให้เป็ฯหน้าที่ของ “ศาลฎีกา” ที่ต้องพิจารณาทบทวนให้เกิดความกระจ่างชัด
แต่ “ทนายแผ่นดิน” กลับ “ตัดตอน” โดยไม่ยื่นฎีกาเสียดื้อๆ
จึงไม่แปลกที่จะมีข้อสงสัยและคำถามถึง “จุลสิงห์ วสันตสิงห์” อัยการสูงสุด ที่เป็นผู้ทุบโต๊ะสั่งไม่ยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แบบค้านสายตาประชาชน
ทั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ส่งหนังสือทันทีที่ทราบคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฎีกาในทุกข้อหา แต่ “จุลสิงห์” เลือกที่จะไม่รับฟัง
หรือ “เพื่อนเก่า” อย่าง “ถาวร เสนเนียม” ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยกอดคอกันทำงานในสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกันมาก่อน ก็ร้อนรนทนไม่ได้กับบทบาทของอดีตเพื่อร่วมงาน จนต้องยกพลทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อ “จุลสิงห์” เพื่อสอบถามเหตุผลโดยตรง
ซึ่ง “จุลสิงห์” ก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาว แถมอ้างว่า มีคิวต้องเข้าชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการ กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณวุฒิสภา ให้แล้วเสร็กก่อนที่จะให้ข้อมูลตามที่ “ถาวร” กับพวกร้องขอ เพราะต้องใช้เอกสารในการชี้แจงต่อ กมธ.ดังกล่าว
เรียกว่าใช้ชื่อ “กมธ.องค์กรอิสระ วุฒิฯ” บังหน้าก็คงไม่ผิด
ที่น่าแปลกก็คือ เหตุใด “จุลสิงห์” กลับให้ความสำคัญกับ กมธ.องค์กรอิสระ วุฒิสภา มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขู่ฮึ่มๆว่า งานนี้จะเล่นงานถึงขั้นยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุด
แต่พอเปิดชื่อบุคคลที่เป็น ประธานคณะกรรมาธิการฯ ก็ถึง “บางอ้อ” เมื่อปรากฎชื่อ “จิตติพจน์ วิริยะโรจน์” ส.ว.ศรีสะเกษ นั่งเป็นหัวโต๊ะของชุดนี้ เพราะรู้กันดีอยู่ว่า“จิตติพจน์” ยืนอยู่ฝั่งไหน สวมเสื้อสีอะไร เพราะตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ในสภาสูง ก็แสดงบทบาทเป็น “ลูกคู่” ของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เป็นฝ่ายค้าน จนได้มาเป็นรัฐบาลแบบเปิดเผยอย่างชัดเจน ที่สำคัญกับบทบาทในการปกป้องกลุ่มคนเสื้อแดง ผ่านการทำงานในฐานะ ประธานคณะกรรมการติดตามสถานกาณ์บ้านเมือง ที่คอยเป็น “หอก”ทิ่มแทงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้นอยู่ตลอดเวลา
จนถูกขนานนามให้เป็น “หัวหอก” ของ ส.ว.เสื้อแดงไปในที่สุด
โดยถึงวันที่นัดหมายกัน “จุลสิงห์” ถึงขนาดยกทัพใหญ่จากสำนักงานอัยการสูงสุด หนีบ “วุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์” รองอัยการสูงสุด และคณะผู้บริหารระดับสูงมาด้วย ก็เห็นได้ชัดว่า “ให้เกียรติ” กันอย่างมาก แถมบรรยากาศในห้องประชุมก็เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศ “ฉันท์มิตร” ที่ไม่มีการซักไซร้ไล่เรียงเหตุผลในการไม่ยื่นฎีกาคดีที่ดุเดือดรุนแรงอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยมากมาย
กลายเป็นเวทีที่ “จุลสิงห์” แก้ต่างแบบ “วันแมนโชว์” ไม่มีผู้ใดขัดให้เสียจังหวะ จึงไม่แปลกอีกเช่นกันว่าทำไมจึงให้เกียรติ และเลือกเวทีนี้ในการชี้แจง
จึงไม่ต่างกับอาศัยเวทีปาหี่ “ฟอกขาว” ให้ “จุลสิงห์” โดยมี “จิตติพจน์” บบท “เจ้าของวิกยี่เก”
แถมยังมีการชงคำถาม เปิดโอกาสให้พาดพิงเหน็บแนมไปถึงผู้อื่น ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ป.ป.ช. หรืออดีต คตส.บางคน ที่แม้จะออกลูกเก๋าไม่เอ่ยชื่อตรงๆ แต่ก็รู้กันดีว่าพูดถึงใคร
โดยเนื้อหาของการชี้แจงก็ไม่ได้มีอะไรเหนือความคาดหมาย เพราะเป็นการย้ำว่าการตัดสินใจของอัยการถือเป็นที่สุด และมีเหตุมีผลตามหลักกฎหมาย ที่สำคัญยังอยู่บนพื้นฐานของ “หลักนิติธรรม” อีกด้วย
ส่วนคนที่ออกมาวิจารณ์นั้น เพราะไม่ได้อ่านคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ แต่กลับเสนอให้ยื่นฎีกา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่ ป.ป.ช.ที่ทำหนังสือให้ยื่นฎีกานั้น ก็ไม่ได้อ่านคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ก่อน เพราะในหนังสือฉบับเดียวกัน ได้มีการขอเอกสารคำตัดสินของศาลอุทธรณ์จากอัยการ
พร้อมยืนยันว่า คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ “หักล้าง” เหตุผลของศาลชั้นต้นอย่างสิ้นเชิง จนปัญญาที่จะยื่นฎีกา เพราะการยื่นฎีกาถือเป็นการคัดค้านศาล แต่กรณีอัยการไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นเหตุให้อัยการเห็นตรงกันว่า “ไม่ฎีกา” ในที่สุด
แม้จะถือได้ว่า งานนี้อัยการ “กินดีหมี” กล้าตัดสินใจโดยใช้ “ดุลยพินิจ” ที่เป็นอิสระตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่อย่าลืมว่าเป็นการตัดสินใจที่ “สวนกระแส”ความรู้สึกของสังคม แต่มี “บางคน” ได้ผลประโยชน์อย่างชัดเจน
บทส่งท้ายของ “คดีประวัติศาสตร์” อาจสวยงามในมุมมองของ “จุลสิงห์” และคนที่ได้ปะโยชน์ แต่การทำหน้าที่แบบไม่เต็มที่ไม่ต่างจาก “มวยล้ม” ของอัยการครั้งนี้ ก็เป็นการย้ำให้ประชาชนสิ้นหวังกับ “ทนายแผ่นดิน” ที่ควรจะเป็น “เสาหลัก” ที่พึ่งพิงของสังคม และประชาชนตาดำๆ กลับกลายเป็นแค่ “ใบไผ่” ที่ลู่ไปตามแรงลมแห่งอำนาจ โดยไม่ยึดประโยชน์ของประชาชนแลประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
และเมื่อทำหน้าที่ไม่สมศักดิ์ศรี ก็ไม่ผิดที่จะมีผู้ริเริ่มเดินหน้ายื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง “ทนายแผ่นดิน” ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็หวังว่า “นักการเมือง” จะออกหน้ารับหน้าที่นี้ไป ไม่ต้องให้ประชาชนต้องเหนื่อยมาล่าชื่อกันเองให้เสียแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น