xs
xsm
sm
md
lg

อสส.แถ! ยึดหลักนิติธรรม ไม่ฎีกา “หญิงอ้อ” เลี่ยงภาษี ซัด ป.ป.ช.จุ้นไม่เข้าเรื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุลสิงห์ วสันตสิงห์
“จุลสิงห์” ลั่นกลางที่ประชุม กมธ.งบฯ วุฒิสภา อ้างเหตุไม่ฎีกา “หญิงอ้อ-บรรณพจน์” ยึดหลักนิติธรรม โยนบาปศาลตัดสินขัดกันไม่จำเป็นต้องฎีกาเสมอไป ยกตำตัดสินศาลอุทธรณ์มีเหตุผลที่สุด หมดปัญญาหักล้าง โวย ป.ป.ช.จุ้นไม่เข้าเรื่อง เหตุไม่เกี่ยวคดีนี้กลับทำหนังสือสั่งให้ฎีกา ทั้งที่ยังไม่เห็นคำพิพากษาศาล

วันนี้ (10 ต.ค.) ที่รัฐสภา ในมีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา โดยมี นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ในฐานะประธาน กมธ.เป็นประธาน ในการประชุม ได้มีการเชิญ นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าชี้แจงในกรณีที่ อสส.มีคำสั่งไม่ฎีกาคดีการหลีกเลี่ยงภาษีหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาท ของคุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ และพวก

โดย นายจุลสิงห์ ได้มอบเอกสารข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับคดีดังกล่าวให้ กมธ.พร้อมชี้แจงว่า เหตุที่ อสส.ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ เพราะยึดหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ที่ระบุว่า การยื่นฎีกา คือ การคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งต้องมีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอ กรณีนี้อัยการไม่มีเหตุผลเพียงพอในการคัดค้านศาล ส่วนที่บอกว่า คำตัดสินของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ไม่ตรงกัน แล้วเป็นบรรทัดฐานว่า อสส.ต้องฎีการ้อยละ 99 นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย และจากสถิติตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีคดีที่ศาลอุทธรณ์หักล้างคำตัดสินของศาลชั้นต้น จำนวน 4,297 คดี และมีคดีที่ อสส.ไม่ยื่นฎีกาถึงกว่า 2,000 คดีด้วยกัน

“การที่บางคนบอกว่าอย่างไรก็ต้องฎีกาเพื่อเป็นบรรทัดฐานนั้น ไม่ใช่หลักนิติธรรมที่แท้จริง หลักนิติธรรม คือ ต้องวินิจฉัยสั่งฟ้องโดยสุจริตเป็นธรรมกับทุกคนทุกคดี ไม่ใช่ถูลู่ถูกังสั่งคดีถึงศาลฎีกาทุกเรื่อง ต้องอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ละเอียด แต่ท่านไม่อ่านแล้วให้อัยการฎีกาตรงนี้ผิดหลักนิติธรรมอย่างรุนแรง” นายจุลสิงห์ กล่าว

นายจุลสิงห์ ยังได้อธิบายด้วยว่า อสส.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาทุกเรื่องที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งเรื่องมาให้ คณะทำงานอัยการประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่รองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการหลายคน ทุกขั้นตอนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ฎีกา ยืนยันว่า ไม่ได้ทำคนเดียว มีทีมงานที่คอยดูเรื่องตลอดและเสนอเรื่องกันตามลำดับชั้น

นอกจากนี้ การสั่งคดีหรือไม่นั้น ไม่ใช่ดูเนื้อหาอย่างเดียว ต้องดูกระบวนการว่าถูกต้องหรือไม่ อัยการสูงสุดไม่ใช่ทำตามอำเภอใจได้ เมื่อคณะกรรมการมีความเห็นแล้วไม่ควรอุทธรณ์ ประกอบกับพิจารณาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มีเหตุผลจึงเห็นว่าไม่ควรยื่นฎีกา จึงเป็นเหตุเป็นผลเป็นเรื่องปกติ ส่วนที่ระบุว่าประเทศชาติจะเสียหาย เพราะไม่ได้รับเงินค่าภาษีนั้น ต้องแยกจากกัน เพราะเรื่องภาษีเป็นส่วนของคดีทางแพ่ง การสั่งคดีเป็นเรื่องทางอาญา ที่สำคัญ เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้สั่งประเมินความเสียหายจากภาษีการขายหุ้นเป็นเงิน 250 ล้านบาท แต่ต่อมาศาลพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกเลิกการประเมินไปในชั้นคดีแพ่ง จึงยุติตั้งแต่ปี 2551 และตามประมวลรัษฎากรก็ไม่มีสิทธิ์กลับมาประเมินใหม่

ส่วนกรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่า อสส.ทำตัวเป็นศาลฎีกาเสียเอง และไม่สร้างศรัทธากับประชาชนนั้น นายจุลสิงห์ กล่าว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ประกอบ พ.ร.บ.อัยการฯ กำหนดให้อัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่สั่งคดีตามดุลพินิจ การตัดสินใจแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง เมื่ออัยการมีดุลพินิจอิสระเที่ยงธรรม ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมย่อมถือว่าดำเนินการถูกต้องแล้ว คดีนี้อัยการเห็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพราะมีข้อมูลหลักฐานใหม่ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเด็นการประเมินภาษีที่ขัดต่อกฎหมาย และคำให้การในชั้นศาลของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งให้การเพิ่มเติมว่า การโอนหุ้นให้กันโดยทำเป็นการซื้อขาย เป็นเรื่องธรรมดาใครๆ ก็ทำกันเพื่อไม่ต้องเสียภาษีนั้น การเบิกความตามนี้เอื้อสมกับการต่อสู้ของจำเลยที่ให้การตรงกัน คณะทำงานที่ปรึกษาของ อสส.ยังทำความเห็นเสนอว่า หากเสนอฎีกาไปอาจเป็นฎีกาที่ไม่มีสาระ เพราะไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์

“การโอนหุ้นทำตามปกติเมื่อตรวจสอบบัญชีซื้อขายหุ้นเป็นไปตามระบบไม่มีสิ่งผิดปกติ ข้อวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ นอกจากเห็นว่า ไม่ควรฎีกาแล้ว ผมยังเห็นว่าฎีกาไม่ได้ด้วย การจะสั่งฎีกาหรือไม่ อัยการตัดสินใจเองได้ไม่ต้องไปถามใครหรือพรรคการเมืองใด การฎีกามีซ้ายมีขวา เลือกฝั่งไหนก็ถูกตำหนิทั้งนั้น” อัยการสูงสุด ระบุ

ในส่วนกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้อัยการยื่นฎีกานั้น นายจุลสิงห์ ชี้แจงว่า ทราบจากข่าวเช่นกัน โดยศาลอุทธรณ์มีคำตัดสิน เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ฎีกาวันที่ 25 ส.ค.54 แต่เรื่องมาถึงโต๊ะทำงานของตนในวันที่ 15 ก.ย.ที่สำคัญ ในหนังสือยังระบุขอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ด้วย แสดงว่า ป.ป.ช.ไม่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลเลย แต่กลับให้ยื่นฎีกา อีกทั้งในควมเป็นจริง ป.ป.ช.ไม่ถือว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ คตส.ส่งมาให้ อสส.เลย ไม่ได้เป็นงานที่ ป.ป.ช.รับเรื่องมาจาก คตส.อย่างที่เข้าใจ เพียงแต่ ป.ป.ช.อยากให้ฎีกาเท่านั้น ดังนั้นตามอำนาจประมวลวิฯอาญา โจทก์คืออัยการ จะฎีกาหรือไม่เป็นดุลพินิจอิสระของ อสส.
กำลังโหลดความคิดเห็น