ASTVผู้จัดการรายวัน - "ปู"ปักหลักใช้ "ดอนเมือง" เป็น "วอร์รูม" ถกวิกฤตน้ำท่วมทั่วไทย ตั้ง "ประชา" นั่ง "ผอ.ศูนย์ช่วยผู้ประสบภัย" ด้านสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเก่ายังวิกฤต หวั่นป้อมเพชรฐานรากพังทลายคันกั้นน้ำปทุมฯ พังทะลักท่วม "กนอ."สั่งปิดนิคมอุตฯอยุธยา 5 วัน "กรุงเทพโพลล์" เผยคนกรุงเริ่มเครียดน้ำท่วมมากขึ้น "ยิ่งลักษณ์" ออกทีวีจ้องโพยแจงน้ำท่วม เฝ้าระวังน้ำ 7 พันล้านลูกบาศก์เมตร กำลังไหลมาจากภาคเหนือ
เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (7 ต.ค.) ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมรัฐมนตรีและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายยงยุธท วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คศส.)นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข และนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือโดยการประชุมครั้งนี้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าวด้วย
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 21.00 น.คืนวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายกิตติรัตน์,พล.อ.อ.สุกำพล,นายปลอดประสพ และนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไปตรวจสภาพน้ำท่วมที่ถนนเอเซีย กม.28 ภายหลังกรมชลประทานได้รายงานว่าปริมาณน้ำจะท่วมสูงขึ้นหลังเที่ยงคืน ซึ่งจากการไปตรวจระดับน้ำในช่วงเวลา 22.00-02.00 น.พบว่าถนนสายเอเซียขาเข้ามีปริมาณน้ำสูง 70 ซม.ขาออก 30 ซม.จึงแก้ไขปัญหาด้วยการนำแบริเนอร์หรือแท่งปูนมาทำเป็นคันกั้นน้ำ เพื่อกู้วิกฤตน้ำในเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม นายกฯได้สั่งการให้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำที่ห้องประชุมท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเคยเป็นที่ประชุม ครม.สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ได้มีการตั้งศูนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้ที่นี่ พร้อมกันนี้ศูนย์ที่เคยตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยก็จะย้ายมาอยู่ที่ดอนเมืองด้วย เพื่อให้ที่นี้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติการ
รายงานข่าวแจ้งว่า นายปลอดประสพ อ้างว่า คืนวันที่ 6 ต.ค.ได้หารือกับรัฐมนตรี 5 คนบนถนนสายเอเชียจนถึงเวลบา 00.20 น.และไทรศัพท์ปลุกนายกฯเพื่อขอเป็นมติ ครม.ให้มีการตั้ง“ศูนปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯจะได้มึคำสั่งให้เริ่มทำคันดินป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่คลอง 1 (คลองรังสิต)ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.นี้
**ตั้ง"ประชา"นั่งผอ.ศูนย์ช่วยผู้ประสบภัย
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังว่า จากกรณีเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยขึ้น โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์และมีรัฐมนตรีทุกคนร่วมปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกับเป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้ ประชาชนสามารถโทรศัพท์รายงานสถานการณ์และขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1111 กด 5 ซึ่งหลังจากนี้จะแจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และจะมอบหมายให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดนำรูปแบบนี้ไปปฏิบัติในทุกจังหวัดด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยอพยพไปยังศูนย์ที่หน่วยงานราชการรองรับในแต่ละจังหวัด ซึ่งบุคคลที่ไม่ยอมอพยพนั้นจะทำให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือได้อย่างยากลำบาก
**คันกั้นวัดกษัตราฯ-วัดเขียนกรุงเก่าพัง
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังวิกฤตหนัก โดยเฉพาะเมื่อช่วงเวลา 05.00 น.วานนี้ (7 ต.ค.) คันดินกั้นน้ำวัดกษัตราธิราช วรวิหาร ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวังหลังหรือวังสวนหลวงได้พังลง ทำให้น้ำไหลข้ามฟากเข้าท่วมหมู่บ้านวรเชษฐ์ โดยทาง อบต.ได้ประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านขนของขึ้นน้ำสูง ส่วนถนนหน้าวัดเจดีย์ น้ำสูงขึ้นอีกกว่า 50 เซนติเมตร ทำให้หน้าโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา น้ำสูงขึ้นอีกกว่า 1 เมตร
ต่อมาเวลาประมาณ 07.00 น.คันดินกั้นน้ำวัดเขียนตลาดหัวรอ ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา ได้พังลงมาอีก 1 จุด ทั้งนี้ นายกเทศบาลเมืองอโยธยา ได้ประกาศเตือนประชาชนให้เร่งขนย้ายของขึ้นที่สูง เพราะมีการคาดการณ์ไว้ว่ามวลน้ำจะทะลักเข้าท่วมทุกพื้นที่ฝั่งอโยธยาช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน
**โบราณสถานป้อมเพชรวิกฤต-น้ำเพิ่ม
นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากรว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสูงขึ้นมาก ทำให้โบราณสถานป้อมเพชรอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากน้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมตัวป้อมเพชร และปริมาณน้ำจะสูงขึ้นอีกกว่า 50 เซนติเมตร คาดว่า จะสูงขึ้นถึงระดับถนนและทำให้ป้อมเพชรต้องแช่น้ำ ถือเป็นสิ่งที่น่าห่วง เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นจุดศูนย์รวมของแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ลพบุรี และป่าสัก ไหลมารวมกันทำให้กระแสน้ำวน ไหลเชี่ยว และจะทำให้ฐานรากของป้อมเพชรพังทลาย
นางสุกุมล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ยูเนสโก ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำท่วมโบราณสถาน ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา แหล่งมรดกโลกแล้ว โดยเฉพาะที่วัดไชยวัฒนารามที่ได้รับความเสียหายหนัก หากได้รับการช่วยเหลือจากยูเนสโก ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีต่อการบูรณะซ่อมแซม โดยในระหว่างนี้กระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินบูรณะโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วม ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาราชดำเนิน ชื่อบัญชีโครงการบูรณะโบราณสถาน กรมศิลปากร เลขที่ 081-0-09603-6
**กนอ.สั่งปิดนิคมอุตฯอยุธยา 5 วัน
วันเดียวกัน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา หลังสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อขอความร่วมมือให้หยุดการประกอบกิจการชั่วคราว เป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 7-11 ต.ค.นี้เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และลดผลกระทบที่จะเกิดความเสียหาย รวมไปถึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับ กนอ.ในการดำเนินการป้องกันไม่ให้น้ำจากภายนอกเอ่อเข้าท่วมภายในบริเวณนิคมฯ ทั้งนี้ หากกรณีเกิดเหตุน้ำท่วม ทาง กนอ.จะตั้งศูนย์อำนวยการที่ สำนักนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และหากเหตุการกลับสู่สภาวะปกติจะดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกอบการ ทราบอีกครั้งหนึ่ง
**คันกระสอบทรายแตกทะลักท่วมปทุมฯ
ส่วนที่ จ.ปทุมธานี รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงเวลาประมาณ 23.00 น.ของวันที่ 6 ต.ค.คันกระสอบทรายกั้นน้ำบริเวณหน้าตลาดสดเทศบาลเมืองปทุมธานี ต.บางปรอก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ได้พังลงเป็นช่องกว้างประมาณ 2 เมตรทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชน และอาคารพาณิชย์ในตลาดปทุมธานีที่มีอยู่นับร้อยห้อง โดยระดับน้ำที่ไหลเข้ามานั้นสูงประมาณกว่า 1 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในตลาดนับ 100 คน ต้องช่วยกันนำกระสอบทรายมาเสริมเปิดช่องที่พังลงกันอย่างอลหม่าน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานน้ำที่ไหลแรงไว้ได้ ทำให้ร้านค้าหลายร้านเก็บข้าวของหนีน้ำไม่ทัน สินค้าภายในร้านเปียกน้ำได้รับความเสียหาย บางร้านเสริมแนวกั้นอิฐบล็อกไว้ แต่น้ำก็ล้นจากแนวกั้นอิฐบล็อกหน้าร้านท่วมเข้าภายในร้านได้รับความเสียหายเช่นกัน
ต่อมาเวลา 10.00 น.นายธวัชชัย อึ้งอัมพรวิไล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี ได้รับแจ้งว่าบริษัทไทยบาร์จ-คอนเทนเนอร์ เชอร์วิส จำกัด เลขที่ 102 ม.1 ต.บางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คันกั้นน้ำได้พังทลายลงเมื่อช่วงกลางคืนวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่คนงานช่วยกันปิดกั้นน้ำได้ และมาเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค.แนวกั้นน้ำรอบบริษัทได้เกิดพังลงมาอีกเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมภายในของบริษัทที่รับส่งสินค้าเป็น เครื่องจักกล เครื่องจักรไฟฟ้าและมอเตอร์ไฟฟ้า ได้ถูกน้ำท่วมหมดทั้งโกดัง 3 หลังได้รับความเสียหายหลายสิบล้านบาท
**ประสานเขื่อนภูมิพลชะลอระบายน้ำ
สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ยังไม่คลี่คลายเนื่องจากก้อนน้ำเหนือเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 6 ต.ค.น้ำไหลเข้าอ่างน้ำสิ้น 183 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เขื่อนต้องเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 และระบายในปริมาณรวมกันแล้วจำนวน 100 ล้าน ลบ.ม.โดยเหลืออีก 142 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์น้ำจะล้นอ่าง ในขณะที่น้ำจากแม่น้ำวังที่ไหลลงมาจาก จ.ลำปาง ลงมาสมทบที่แม่น้ำปิงอีก 86 ล้าน ลบ.ม.ทำให้ขณะนี้มีน้ำลงสู่แม่น้ำปิง 186 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าแม่น้ำปิงจะรับไหวเพราะ มีน้ำไหลผ่านวินาทีละกว่า 2,300 ลูกบาศก์เมตร
นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ประสานทางเขื่อนภูมิพล ขอให้พิจารณาลดการระบายน้ำลงจากเดิมที่ระบายวันละ 100 ล้าน ลบ.ม.เพราะน้ำจากแม่น้ำวังไหล มาสมทบในปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ และไหลลงสู่แม่น้ำปิงช้าเพราะแม่น้ำวังมีระดับต่ำ กว่าแม่น้ำปิงจะไปดันน้ำวังให้ไหลช้าลง ทำให้กระแสน้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ต.ยกกระบัตร ต.วังหมัน และ ต.วังจันทร์ ของ อ.สามเงา
**กลาโหมสั่งทหาร8พันนายช่วยน้ำท่วม
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทหารจากกองทัพภาคที่ 1 และ 2 ทหารช่าง หน่วยทหารพัฒนา รวมทั้งหมด 8,000 คน ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และนอกจากนี้ยังได้ขอให้กำลังตำรวจมาช่วยอีกด้วย เนื่องจากภาระหน้าที่ของทหารมีเป็นจำนวนมากอีกทั้งต้อง บำบัดฟื้นฟูทางจิตเนื่องจากวันนี้ชาวบ้านกลัวจนไม่กล้าออกจากบ้าน จึงเกรงว่ากำลังทหารจะไม่เพียงพอ
**มาร์คแนะให้รมต.เคลียร์พื้นที่ขัดแย้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลเอาใจใส่ในการทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้นเกี่ยวกับการระบายน้ำ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชน ซึ่งล่าสุดก็มีชาวปทุมธานีปิดถนนเรีนกร้องให้มีการระบายน้ำเข้า กรุงเทพฯ และขณะนี้ยังมีช่องว่างระหว่างรัฐบลกับประชาชนในเรื่องนี้และยังมีความสับสนอยู่ เมื่อปัญหาเคลื่อนตัวเข้ามามากขึ้นก็ควรระดมฝ่ายการเมืองไปดูแลในพื้นที่ที่เป็นปัญหามาก ๆ
**คุณชายสั่งตั้ง “หนองจอกโมเดล”
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวระหว่างนำคณะผู้บริหาร กทม. เดินทางมายังสำนักงานเขตหนองจอก เพื่อประชุมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่เขต ว่า ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างเขตหนองจอก และฝั่งตะวันออกของ กทม.โดยเฉพาะวันที่ 15-17 ต.ค.คาดว่าจะมีน้ำทะเลสูงขึ้น หรืออาจจะมีน้ำเหนือและน้ำฝนเข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติม จึงขอให้ทุกฝ่ายเตรียมการรับมือ ขณะนี้สถานการณ์หนักหน่วง ต้องช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ขอให้เป็นกรอบในการทำงานในพื้นที่ หรือเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาให้ฝั่งตะวันออก เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้บอกกับตนว่า หาก กทม.ต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถประสานมายังรัฐบาลได้ ซึ่งตนก็รู้สึกดีใจที่รัฐบาล จะให้ความช่วยเหลือ แต่ กทม.ไม่อยากพึ่งใคร เพราะอยากพึ่งตนเอง เนื่องจากเรามีสรรพกำลังของตัวเอง อีกทั้งในต่างจังหวัด ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมยังอยู่ในสถานการณ์ที่เดือดร้อนกว่าคน กทม. จึงอยากให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือมากกว่า เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรีอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความจำเป็น กทม.ดูแลตัวเองได้
**กทม.ยกเลิกพิธีไล่น้ำ 8 ต.ค.
นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกทม. กล่าวว่ากรณีที่กรุงเทพมหานครได้แจ้งไปยังสื่อมวลชนทุกแขนง ถึงการยกเลิกทำพิธีไล่น้ำที่ศาลหลักเมืองในวันที่ 8 ต.ค.นี้ ว่า พิธีดังกล่าวม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ขอทำพิธีเป็นในนามส่วนตัว โดยใช้งบประมาณของตนเองในการดำเนินการทั้งหมด อีกทั้งไม่ต้องการมีการเชิญสื่อมวลชน หรือเจ้าหน้าที่ของกทม.เข้าร่วมในการทำพิธีดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทวิตเตอร์ว่าการทำพิธีดังกล่าวนี้ กทม.แก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ไม่ตรงจุด นายเจตน์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าเป็นสิทธิ์ของทุกคน แต่ไม่ขอออกความเห็นใดๆ
**โพลล์ชี้คนกรุงเครียดน้ำท่วมบ้าน
เนื่องในวันที่ 10 ต.ค.ที่จะถึงนี้เป็นวันสุขภาพจิตโลก ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์)ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “สุขภาพจิตของคนกรุงในช่วงเริ่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์”พบว่า คนกรุงเทพฯระบุว่าเรื่องที่ทำให้เครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์มากที่สุดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งคือ 6.4% กลัวบ้านน้ำท่วม ขณะที่กลัวจะไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทหรือเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 ตามนโยบายที่รัฐเคยหาเสียงไว้ 6.3% ส่วนสินค้ามีราคาแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น 35.7% การจราจรติดขัด 8.3% และการเป็นหนี้ เป็นสิน 7.9%
***ปตท.ตั้งศูนย์ฯช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการฉุกเฉินช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยมีศูนย์หลักที่สำนักงานใหญ่ ปตท. และ ให้หน่วยงานในพื้นที่ เช่น คลัง ปั๊มน้ำมันต่างๆ รายงานสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันท่วงทีและดูแลพลังงานทั้งน้ำมันและแอลพีจีไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน
การช่วยเหลือของ ปตท. ได้ดำเนินการ 3 ระยะ คือ ในระยะแรก ได้ให้ความช่วยเหลือ ด้วยการมอบถุงยังชีพ 5 พันถุงต่อวัน ระยะที่ 2 คือ การป้องกันและให้ความช่วยเหลือด้วยการบริจาคถุงทราย 100,000 ถุง บริจาคน้ำดื่ม และแจกคู่มือป้องกันภัยพิบัติ ในศูนย์บริการเคลื่อนที่ พื้นที่ภาคกลาง 4 จุด ได้แก่ พุทธมณฑล รังสิต-นครนายก ประตูน้ำพระอินทร์ สมุทรปราการและในส่วนภูมิภาคมีการจัดตั้งศูนย์บริการเคลื่อนที่ 5 ศูนย์ ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ที่. อ.เมือง จ.ปทุมธานี อ.โรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ.บ้านหมอ อ.ท่าหลวง อ.บ้านครัว จ. สระบุรี อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และ จ.พิษณุโลก โดยมีการให้ความช่วยเหลือในโครงการ ให้การบริการที่ชาร์จแบตโทรศัพท์ มือถือ, บริการตรวจสุขภาพ บริการอาหารสำเร็จรูป โครงการสุขาเคลื่อนทีโครงการแจกชุดช่วยฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย เทียน ยารักษาโรค โครงการเสริมสร้างสุขภาพจิต เช่น สันทนาการ พระเทศน์ ฯลฯ โครงการ EM BALL ปรับสภาพน้ำเสีย และจัดทำโครงการน้ำมัน ปันน้ำใจ 84 วัน มูลค่า 84 ล้านบาท โดยมอบน้ำมันฟรีแก่ผู้ประสบภัย เบนซิน ถังเล็ก ขนาด 15 ลิตร 15,000 ถัง ดีเซลขนาด 18 ลิตร จำนวน 15,000 ถัง เป็นต้น
ส่วนโครงการระยะที่ 3 จะดำเนินการภายหลังน้ำลด ในส่วนของการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือ โดยยปตท..จะจัดทำโครงการต่อเนื่องหลายโครงการ ได้แก่ โครงการจูนอัพ บริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง,โครงการจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นราคาพิเศษลด 50% โครงการตรวจสอบความปลอดภัยถังก๊าซหุงต้ม ถังก๊าซหุงต้มและอุปกรณ์ 1,000 ชุด โครงการสนับสนุนการซ่อมถนน โครงการตรวจสอบความปลอดภัยระบบไฟฟ้า อาทิ ปลั๊กไฟ โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และโครงการน้ำสะอาดเพื่อผู้บริโภค จุดจ่ายน้ำบริโภค เป็นต้น
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถโทร มาได้ที่คอลเซ็นเตอร์ของ ปตท. ที่ 1365 โดยจะมีการส่งความช่วยเหลือเข้าไปหาผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด
**ปูจ้องโพยเขม็งแจงสถานการณ์ออกจอ
เวลา 20.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รายงานสถานการณ์อุทกภัยและเตรียมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม ผ่าน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า รัฐบาลขอแจ้งให้ทราบว่าสถานการณ์อุทกภัยขณะนี้ถือว่ากำลังก้าวเข้าสู่ขั้นวิกฤติและรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดผลกระทบต่อประชาชนครอบคลุมถึง 59 จังหวัดและมีกระทบรุนแรง 28 จังหวัด โดยมีจุดที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟู 23 จังหวัด โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 512 ราย และขณะนี้กำลังส่งผลโดยตรงเข้าสู่ กทม. ซึ่งในพื้นที่บางแห่งเผชิญน้ำท่วมมากว่า 2 เดือนแล้ว และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ต้องเผชิญน้ำป่า ดินถล่ม และยังให้เกิดความเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องยอมรับว่ามีความรุนแรงและหนักหนากว่าทุกปี โดยเฉพาะน้ำมากขึ้นเทียบเท่ากับปี 2538 ที่กทม.ต้องจมน้ำและเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ขณะนี้หน่วยงานต่างๆได้ตระเตรียมป้องกันอุทกภัยเหมือนกับที่เคยทำมา แต่ก็ยังไม่สามารถรับมือได้เท่าที่ควร เพราะน้ำเข้ามามากเกินความคาดหมาย ทำให้ทุกเขื่อนมีน้ำสูงเกินกว่า 100%
"เรากำลังก้าวเข้าอยู่ภาวะวิกฤติอย่างยิ่ง ประตูระบายน้ำบางแห่งพังทลายแบะส่งผลกระทบซ้ำเติม ความจำเป็นเร่งด่วนคือ เร่งระบายน้ำทะเลให้มากที่สุดก่อนที่นำระลอกใหม่จะมาถึง ขณะนี้กำลังจะมีน้ำก้อนใหญ่ 7,000 ล้านลบ.ม. มาจากทางเหนือ กำลังจะเข้าสู่นครสวรรค์ ถ้าไม่สามารถจัดการน้ำได้จะสร้างความเสียหายเป็นบริเวรณกว้าง ขณะเดียวกัน จะมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย ซึ่งถ้าเข้ามา ทั้ง 2 อย่างพร้อมๆ กันจะเกินความสามารถของการรับน้ำของเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนเจ้าพระยาจะต้องเร่งระบายน้ำโดยเร็ว มิเช่นนั้นพื้นที่ตอนล่างของเขื่อนเช่น อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเมื่อบวกกับน้ำทะเลหนุนซึ่งจะหนุนสูงสุดในช่วงวันที่ 15-17 ต.ค. จะทำให้ระบายน้ำลงทะเลได้ยากลำบากยิ่งขึ้น"