กรุงเทพโพลล์ สำรวจพบประชาชนคนเมืองหลวงยุค “ยิ่งลักษณ์” เครียดปัญหาเศรษฐกิจ สินคัาราคาแพง ค่าครองชีพสูง
เนื่องในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เป็นวันสุขภาพจิตโลก ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “สุขภาพจิตของคนกรุงในช่วงเริ่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพฯจำนวน 1,189 คน พบว่า คนกรุงเทพฯ ระบุเรื่องที่ทำให้เครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์มากที่สุดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเริ่มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือ สินค้ามีราคาแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ร้อยละ 35.7 รองลงมาเป็นเรื่อง การจราจรติดขัด ร้อยละ 8.3 การเป็นหนี้เป็นสิน ร้อยละ 7.9 กลัวบ้านน้ำท่วม ร้อยละ 6.4 และกลัวจะไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท หรือเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 ตามนโยบายที่รัฐเคยหาเสียงไว้ ร้อยละ 6.3
โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 46.2 ให้ความเห็นต่อเรื่องที่ทำให้เครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์มากที่สุดในข้างต้นว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ขณะที่ร้อยละ 15.9 ระบุว่ามีสาเหตุมาจากรัฐบาล และร้อยละ 10.3 ระบุว่า มีสาเหตุมาจากตัวเอง
สำหรับบุคคลที่คนกรุงเทพฯ คิดว่า จะปรึกษาหรือเป็นที่พึ่งทางใจ ในยามเครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์มากที่สุดคือ คนในครอบครัว ร้อยละ 57.1 รองลงมาเป็น เพื่อน ร้อยละ 19.5 และคนรัก ร้อยละ 10.8 ขณะที่ร้อยละ 8.6 ไม่ได้ปรึกษาใครและแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงกิจกรรมที่ทำมากที่สุด เพื่อลดความเครียด ความวิตกกังวล หรือเป็นทุกข์ พบว่า ร้อยละ 14.8 ระบุว่ากินข้าวกับครอบครัว ร้อยละ 14.2 ระบุว่านั่งสมาธิ เข้าวัด ฟังธรรม และร้อยละ 13.8 ระบุว่า เล่นอินเทอร์เน็ต แชต
ส่วนความคิดเห็นต่อการไปพบจิตแพทย์เมื่อเกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือเป็นทุกข์ พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 71.1 คิดว่าจะไม่ไป โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ไม่มีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือเป็นทุกข์ถึงขนาดที่ต้องไปพบจิตแพทย์ ขณะที่ร้อยละ 28.9 คิดว่าจะไป
สำหรับปัญหาความเครียด วิตกกังวล หรือเป็นทุกข์ที่ผ่านมา ทำให้ท่านเคยคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายบ้างหรือไม่ คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 94.4 ระบุว่าไม่เคยคิด มีเพียงร้อยละ 2.9 ระบุว่าเคยคิดทำร้ายตัวเอง และร้อยละ 2.7 ระบุว่าเคยคิดฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงสุขภาพจิตโดยรวมของคนกรุงเทพฯ พบว่า ร้อยละ 87.8 ระบุว่า ตัวเองมีสุขภาพจิตดี มีเพียงร้อยละ 12.2 ที่ระบุว่าตัวเองมีสุขภาพจิตไม่ดี