xs
xsm
sm
md
lg

เจตนารมณ์ 7 ตุลา “บทเรียนและการต่อสู้ของประชาชน” (1)

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

พัฒนาการทางการเมืองของไทย นับตั้งแต่ปี 2475 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดในปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร ดังปรากฏในคำปรารภของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 

ต่อมาเมื่อสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎร ได้จัดให้มีการเรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสร็จสิ้น และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อ 10 ธันวาคม 2475 มีคำปรารภที่สำคัญตอนหนึ่งความว่า “ทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมจักรีวงศ์ ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชย์ผ่านสยามพิภพ ทรงดำเนินพระราโชบายปกครองราชอาณาจักร ด้วยวิธีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายในทศพิธราชธรรมจรรยา ทรงทำนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมาครบรอบ 150 ปีบริบูรณ์ ประชาชนชาวสยาม ได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ

จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฎฐาภิบาลโนบาย สามารถนำประเทศชาติของตน ในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกโดยสวัสดี สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนร่วมมีเสียงความเห็นดีเห็นชอบ ในการจรรโลงประเทศสยามให้วัฒนาการในภายภาคหน้า” และ “ขอให้พระบรมราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งทหารพลเรือน ทวยอาณาประชาราษฎร จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ ให้ยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชปณิธาน ทุกประการเทอญ” 

เมื่อพิจารณาจากคำปรารภแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว อันเป็นหลักการที่เป็นปฐมบทของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ย่อมเห็นซึ่งเจตนารมณ์ของพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และคณะราษฎรได้ดีว่า ต้องการให้ข้าราชการ, ทหาร, พลเรือน และประชาราษฎร ร่วมกันบริหารบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ตามสากลอารยธรรมแห่งโลกภายใต้รัฐธรรมนูญ

แต่โดยความเป็นจริงของบ้านเมืองไทยกลับหาได้เป็นดั่งพระบรมราชปณิธานนั้นไม่ การเมืองไทยจากปี พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น 26 ครั้ง (15 พ.ย. 2476- 3 ก.ค. 2554) มีการปฏิวัติ-รัฐประหาร และกบฏมาแล้ว 24 ครั้ง (2475-2549) การเมืองการปกครองไทย ยังคงจมปลักอยู่กับความล้าหลัง มิอาจบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศแต่อย่างใด ซ้ำร้ายกลับพัฒนาไปสู่ความตกต่ำ เลวร้ายยิ่งขึ้นอย่างน่ากลัว ใกล้กลียุคเข้าไปทุกที

ตลอดระยะเวลา 79 ปี นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2475-2554) พอสรุปภาพรวมทางการเมืองของประเทศไทยได้ว่า เป็นความขัดแย้ง และการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการปกครองระหว่างตัวแทนกลุ่มทุนสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ตัวแทนกลุ่มทุนขุนนาง-ศักดินา หรือกลุ่มทุนเก่า-อำนาจเก่า หรือที่นักวิชาการเสื้อแดง บัญญัติศัพท์ใหม่ว่า “อำมาตย์” กับกลุ่มทุนนิยมสมัยใหม่ ที่พัฒนาตัวเองมาจากพ่อค้า-พลเรือน หรือขุนนาง-ข้าราชการ จนพัฒนาเป็นทุนขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับทุนนิยมของโลก

การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองทั้งสองขั้วอำนาจ เป็นไปตามพัฒนาการของทุนนิยมที่ต้องการขยายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ ตามระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก การปะทะกันในทางอำนาจมีทุกรูปแบบ ทางการเมืองผ่านพรรคการเมือง การเลือกตั้ง การทหาร ผ่านการปฏิวัติ-รัฐประหารและการกบฏ และด้วยการลุกขึ้นสู้ของมวลชนในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น 14 ตุลาคม, พฤษภา’35, การชุมนุมของคนเสื้อแดง และการชุมนุมของพันธมิตรฯ ฯลฯ

การเกิดขึ้นของระบอบทักษิณ ระหว่างปี 2544-2554 เป็นผลิตผล และพัฒนาการของการต่อสู้ทางการเมืองของสองขั้วอำนาจใหญ่ในสังคมไทยดังกล่าว “ระบอบทักษิณ” คือ การก้าวสู่อำนาจสูงสุดของกลุ่มทุนสมัยใหม่ขนาดใหญ่ ที่รุกไล่ คุกคาม กินพื้นที่ล่วงล้ำไปในปริมณฑลของกลุ่มทุนเก่าอย่างน่ากลัว และเป็นที่หวาดวิตกอย่างยิ่งของกลุ่มทุนอำนาจเก่า จึงได้เกิดการปะทะ และตีโต้อย่างรุนแรง ผ่านการอาศัยสถานการณ์การลุกขึ้นสู้ของพันธมิตรประชาชนและนำไปสู่รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ในที่สุด

เพราะระบอบทักษิณเป็นระบอบการปกครอง และยึดกุมอำนาจการปกครองประเทศ ที่มีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้

(1) รวมศูนย์อำนาจการบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยยึดกุมอำนาจทั้งฝ่ายบริหาร, ครอบงำอำนาจนิติบัญญัติทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา, ควบคุมกลไกขององค์กรอิสระทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญ และแทรกแซงครอบงำอำนาจฝ่ายตุลาการอีกด้วย

(2) มีลักษณะเผด็จการนิยมของทุนนิยมสมัยใหม่ และเป็นตัวแทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ สามารถควบคุมสั่งการ กลไกราชการ ทหาร และสื่อมวลชนไว้โดยเด็ดขาด (ยกเว้นกองทัพที่เกือบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด)

(3) มีการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน ลักษณะทุจริตเชิงนโยบาย แสวงประโยชน์เพื่อตนเอง พวกพ้อง โดยทุจริตแย่งชิงทรัพยากร และสมบัติของชาติ เพื่อตนเองและกลุ่มทุน

(4) คุกคามต่อสถาบันสูงสุด ทำลายฐานอำนาจของกลุ่มทุนเก่า แยกสลายประชาชน ที่เป็นฐานค้ำจุนต่อสถาบันให้หันเหความภักดี เข้าพึ่งพากลุ่มทุนใหม่ และตัวแทนอำนาจรัฐของกลุ่มทุน แยกสลายกองทัพ ศาลและราชการ ซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญของกลุ่มอำนาจเก่าให้อ่อนแอลง เปลี่ยนทัศนคติจาก “10 พ่อค้าไม่สู้หนึ่งพระยาเลี้ยง” ไปสู่ทัศนคติ “10 พระยาหรือจะสู้หนึ่งพ่อค้าเลี้ยง”

(5) ระบอบการเมืองของประเทศชี้ขาดแพ้ชนะในการเลือกตั้งด้วยอำนาจเงินเป็นใหญ่ ใช้เงินซื้ออำนาจ และเอาอำนาจไปหาเงินและผลประโยชน์ “ระบอบทักษิณ” จึงเป็นการเมืองแบบ “ธนาธิปไตย” อันเป็นการพัฒนาทางการเมืองสูงสุดแห่งความเลวร้ายของระบอบทุนในประเทศไทย (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น