xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ชาวพุทธทั่วโลก ประกาศปฏิญญา 13 ข้อ ส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงพุทธและศีลธรรมทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสร็จสิ้นลงแล้วสำหรับการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2554 ครั้งที่ 8 ซึ่งประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัด ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ศูนย์การประชุม สหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ นักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนาจากนานาชาติ และผู้แทนจากองค์กรพุทธ 86 ประเทศทั่วโลก จำนวน 5,000 คน เข้าร่วมประชุม ภายใต้หัวข้อ “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” เพื่อเป็นการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกัน ระหว่างองค์กรและปัจเจกบุคคลต่างๆ จากพระพุทธศาสนาทุกนิกาย

โดยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2554 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเปิดการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2554 ณ ห้องประชุม ม.ว.ก. 48 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการนี้ได้ทรงมีพระดำรัสเปิดงาน ซึ่งมีใจความสำคัญว่า

“...ท่านทั้งหลายคงเห็นพ้องต้องกันว่า การจะพัฒนาสิ่งใดนั้น จะต้องเริ่มต้นที่การพัฒนามนุษย์ก่อนเป็นอันดับแรก และการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาด้านจิตใจให้มีความคิดความเห็นในทางที่ถูกต้อง รู้และเข้าใจสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริง เรื่องการพัฒนาคนที่จิตใจนี้ เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งเห็นได้จากหลักธรรมคำสอนที่เน้นให้บุคคลรู้จักเหตุรู้จักผล สามารถใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องต่างๆได้อย่างถูกต้องถูกถ้วน อันจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ดีที่ชอบที่เป็นประโยชน์แท้ และผู้ได้รับการพัฒนาจิตใจดังที่กล่าวจนเป็นผู้สามารถสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งต่างๆให้เจริญก้าวหน้าได้จริง

การที่พุทธศาสนิกชนจากนานาประเทศมาประชุมพร้อมกัน เนื่องในวันวิสาขบูชา ในโอกาสครบ 26 ศตวรรษแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพื่อหาแนวทางเผยแพร่พุทธธรรมให้กว้างขวางแพร่หลาย กับเพื่อเฉลิมฉลองและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 84 พรรษา นั้น จึงเป็นกรณียกิจที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง...”


และในการประชุมครั้งนี้ ได้มีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจตามรอยพระยุคลบาท” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

ดร.สุมธ กล่าวว่า “ปัจจุบันการบริโภคของผู้คนมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก ในขณะที่กิเลสตัณหาและความโลภเป็นบ่อเกิดของความเสียหายและความทุกข์ที่เกิดขึ้น การพัฒนาควรตระหนักถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น สำหรับองค์พระบาทสมเด็จพระเเจ้าอยู่หัวทรงใช้ธรรมนำพาประเทศไทย ตั้งแต่วันแรกที่ทรงขึ้นครองราชย์ ดังพระปณิธานของพระองค์ ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และทรงใช้ทศพิธราชธรรมในการปกครองบ้านเมือง ที่ไม่เน้นการสร้างความมั่งคั่งที่ก่อให้เกิดปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลกทุกวันนี้ หากเรานำธรรมะมาใช้ในการดำรงชีวิต ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเรื่องการดำเนินชีวิตอย่างง่ายๆ ดังนี้ “พอประมาณ พอเพียง พอดี” เราก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ มีสติ ไม่ประมาท โดยใช้หลักโยนิโสมนสิการ และใช้สติปัญญาบริหารจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติโดยคงความสมบูรณ์ร่มเย็นไว้ได้”

หลังการประชุมเสร็จสิ้น พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร. ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุม ได้อ่านแถลงการณ์ปฏิญญากรุงเทพมหานคร 2011/2554 ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในการส่งเสริมประชาชนทุกระดับชั้นให้รับทราบและดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งให้ชาวพุทธทั่วโลกตื่นตัว นำหลักพุทธธรรมไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วย

ปฏิญญากรุงเทพฯ
การประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ ครั้งที่ 8 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก

ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2542 ผู้แทน 34 ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและสำนักงานประจำภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ 54 วาระที่ 174) ดังนั้น วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี 2543 ด้วยความร่วมมือของชาวพุทธทุกนิกาย เพื่ออนุวัตรตามมติที่ประชุมสหประชาชาติ

พวกเราจาก 85 ประเทศและภูมิภาค จึงได้เดินทางมาฉลองวันวิสาขบูชา เข้าประชุมร่วมกัน ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยมีเจ้าภาพหลักคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย ในการประชุมที่มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่ประชุมได้เสนอหัวข้อการประชุมว่าด้วยเรื่อง “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” อันเป็นการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกัน ระหว่างองค์กรและปัจเจกบุคคลต่างๆ จากพระพุทธศาสนาทุกนิกาย และที่ประชุม ได้สรุปมติเป็นเอกฉันท์ ดังต่อไปนี้

1. เพื่อฉลองพุทธศตวรรษที่ 26 แห่งการตรัสรู้สัมโพธิญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาที่มีคุณูปการแก่มวลมนุษยชาต ที่ประชุมมีมติให้อำนวยความสะดวก และส่งเสริมกิจกรรม ทางด้านวิชาการ วัฒนธรรมและทางศาสนา ตลอดทั้งปี อันถือเป็นงานฉลองพุทธชยันตี ทั้งในระดับชาติและระดับสากล

2. เพื่อเป็นการถวายเป็นราชสักการะ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แห่งประเทศไทย ที่ประชุมจึงมุ่งส่งเสริมประชาชนทุกระดับชั้นให้รับทราบอย่างกว้างขวาง และดำเนินตามรอยพระยุคลบาท วิสัยทัศน์ และพระเมตตาที่พระองค์ทรงมีแก่ปวงประชา ดังตัวอย่างโครงการหลวงมากกว่า 4,000 โครงการ เป็นต้น

3. ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ที่ประชุมจึงสนับสนุนให้มีการจัดประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2554

4. เพื่อเป็นการสนับสนุนให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ประยุกต์ใช้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้ากับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ส่งเสริมให้ทุกคนได้ทราบถึงปรัชญาเศรษฐกิจเชิงพุทธ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมจึงกระตุ้นเตือนให้โลกที่ประกอบธุรกิจเปิดโอกาสแรกให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าและการบริการที่จำเป็น ก่อนการผลิตสินค้าบริโภคที่ไม่จำเป็น

5. ด้วยเป็นที่ทราบกันดีถึงผลกระทบที่เกิดแก่คนทั้งโลกว่า ปัญหาด้านสังคม-เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งนั้น มิใช่ว่าจะจำกัดวงอยู่เพียงในขอบเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบไปถึงหลายๆ ประเทศ ที่ประชุมจึงให้ส่งเสริมศีลธรรมทั่วโลก อันจะช่วยนำทางให้มนุษยชาติ โดยปลูกฝังพุทธจริยธรรมปฏิบัติกรรมฐาน และใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน

6. เพื่อเตือนสติมวลมนุษยชาติ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และทางธรรมชาติ แบบยั่งยืน ที่ประชุมจึงย้ำความจำเป็นด้านความสมดุล ทางสายกลางอย่างเร่งด่วน ระหว่างความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทางด้านวัตถุด้านหนึ่ง กับความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรม ศีลธรรม และทางด้านจิตใจอีกด้านหนึ่ง

7. ด้วยทราบถึงปัญหาทางสังคม ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาศาสนาและการเมือง ที่มวลมนุษย์เผชิญหน้าอยู่ และด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ที่จะขจัดสิ่งท้าทายเหล่านั้นได้ ที่ประชุมจึงย้ำให้เห็นคุณค่าแห่งความกรุณา ความเมตตา ความรัก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้อภัย ความเคารพซึ่งกันและกัน ความเข้าใจอันดีต่อกัน และความเชื่อมั่น รวมทั้งส่งเสริมให้รู้คุณค่าของการพูดอย่างมีสติยั้งคิด การประนีประนอมกัน ความสามัคคีกลมเกลียว และความสงบสันติ

8. ด้วยเล็งเห็นมิติทางสังคมที่ต้องมีความกลมเกลียวกัน และเพื่อเป็นการเรียกร้องให้นำภูมิปัญญาที่สำคัญของพระพุทธศาสนามาใช้ โดยเน้นถึงสุขภาพจิต ทัศนะทางด้านจิตวิทยา และทางด้านสังคมที่หลากหลาย โดยมุ่งปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น ที่ประชุมจึงส่งเสริมให้มีแต่มิตรภาพ มีวัฒนธรรม ให้ความเคารพ และให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการพึ่งพาอาศัยกันและกัน ตลอดถึงการพัฒนาคุณธรรมด้านการผลิตและการบริโภคอย่างมีสติ

9. เพื่อแสดงความเห็นใจผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ น้ำท่วมและพายุ ไต้ฝุ่นในส่วนอื่นๆ ของโลก และโดยพิจารณาเห็นว่าสิ่งแวดล้อมโลกกำลังถูกทำลายอย่างไม่ตั้งใจ และประสงค์จะให้มวลมนุษยชาติหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ตนและสรรพสัตว์ต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย โดยให้ตระหนักไปที่มลภาวะเป็นพิษ ฝนกรด ผลกระทบเรือนกระจก หลุมชั้นบรรยากาศบกพร่อง และการท้าทาย สภาพแวดล้อมอื่นๆ อันเป็นเหตุให้โลกเสี่ยงภัย ที่ประชุม จึงสัญญาทำงานร่วมกับรัฐ องค์การภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) และสื่อสาขาต่างๆ ในการพัฒนาให้ความรู้ด้านการศึกษาเพื่อรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

10. เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมและรัฐบาลนานาชาติ มุ่งทำงานเพื่อขจัดปัดเป่าความยากจนและความไม่ทัดเทียมกันทางด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเป็นภราดรภาพในมวลมนุษย์ชาติ และร่วมกันปฏิบัติตามหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้า ที่ประชุมจึงปลุกชาวโลกให้ทุกคนรู้จักสิทธิขั้นพื้นฐานของตน เพื่อมีความเป็นอยู่อย่างเป็นสุข

11. เพื่อรำลึกถึงพุทธศตวรรษที่ 26 แห่งการตรัสรู้ เราจะจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสากล ทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ให้เสร็จสมบูรณ์ จัดพิมพ์ และแจกจ่ายให้แพร่หลายโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจหลักธรรมและหลักปฏิบัติของชาวพุทธ ที่ประชุมจึงได้รวบรวมเป็นพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ โดยเชื่อมต่อกับแหล่งคัมภีร์ทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดอีกกว่า 30 แห่ง ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักๆทางพระพุทธศาสนาให้เข้ารวมกันเป็นระบบเดียว ให้ใช้งานได้ในเครือข่ายเดียวกัน ช่วยให้ผู้ใช้ได้เลือกคำแปลได้โดยง่าย

12. ยิ่งกว่านั้น เพื่อฉลองครบรอบพุทธศตวรรษที่ 26 แห่งการตรัสรู้ ที่ประชุมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์การยูเนสโกที่เกี่ยวข้อง ได้เพิ่มความพยายามในการขุดค้น โบราณสถานในพระพุทธศาสนา พร้อมขอให้ช่วยอนุรักษ์ปูชนียสถานที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งจัดให้ความคุ้มครอง และจัดหาแหล่งที่พักที่เหมาะสมให้แก่ผู้แสวงบุญชาวพุทธ

13. เพื่อพิทักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมสำคัญของโลก 2 แหล่ง คือ ลุมพินี สถานที่ประสูติ และพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ที่ประชุมจึงย้ำชุมชนชาวพุทธทั่วโลกให้แสดงความห่วงใยอย่างแท้จริง และขอร้อง ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยป้องกันผลกระทบอันตรายที่เกิดจากภาวะมลพิษรอบๆ ปูชนียสถาน เป็นต้น

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย กองบรรณาธิการ)







กำลังโหลดความคิดเห็น