xs
xsm
sm
md
lg

SCBชี้วิกฤติโลกกระทบน้อย เตือนรับมือตลาดเงิน-ทุนป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ไทยพาณิชย์ประเมินวิกฤติยุโรป-สหรัฐ กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่มาก เหตุธุรกรรมทางการเงินร่วมกันน้อย และกระจายสินค้าส่งออกไปยังตลาดใหม่แล้ว แต่ห่วงตลาดเงิน-ตลาดทุนผันผวนหนัก จากการกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมากนัก มีธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารยุโรปในจำนวนที่มาก ประกอบเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง ทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานและเสถียรภาพทางการเงิน-การคลัง โดยระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำราว 42% ของจีดีพี ทำให้ภาครัฐยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยกับภาคส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

"ผลกระทบต่อการส่งออกมีจำกัด เพราะมีการกระจายตลาดส่งออกไปภูมิภาคอื่นมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ สินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ยางพารา รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าอื่นๆโดยเฉพาะอาหาร ได้รับผลกระทบน้อยเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น มีต้นทุน การผลิตต่ำกว่า และอำนาจต่อรองของไทยในตลาดโลกมีอยู่มาก"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่จะได้รับผลกระทบผลกระทบค่อนข้างมาก จะเป็นด้านตลาดเงิน ตลาดทุน และค่าเงิน จากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ตลาดทุน-ตลาดเงิน มีความผันผวนมากขึ้น และหากปัญหารุนแรงขึ้น ก็มีความเสี่ยงก็อาจเห็นการถอนการลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่กลับไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงผันผวน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 55 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 4% โดยพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ชดเชยการชะลอตัวของการส่งออก ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อจะมีแรงกดดันที่ลดง แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน จากราคาน้ำมันที่ไม่น่าจะปรับตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ความกดดันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยผ่อนคลายลงเช่นกัน

"ในปีหน้าภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นความผันผวนจากปัจจัยภายนอกต่างๆ ไปได้จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังแข็งแกร่ง"

นางสาวสุทธาภากล่าวอีกว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ มาจากหลายด้านด้วยกัน ทั้งจากปัญหาการกลับมาชะลอตัวของสหรัฐฯ ซึ่งแม้ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะออกมาตรการเยียวยาสถาบันการเงิน และอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบ แต่ปัญหาก็ยังลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจจริง สะท้อนจากการกู้ยืมในระบบที่ยังไม่ฟื้นตัว และกฎระเบียบของสถาบันการเงินที่เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น ขณะที่การว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากขึ้น

ขณะที่ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากได้ลุกลามสู่ประเทศใหญ่ๆ อย่างสเปนและอิตาลี และเป็นปัญหาที่กระทบต่อภาคการเงินโดยตรง เนื่องจากสถาบันการเงินมีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสูง เมื่อรัฐบาลประสบปัญหาก็จะส่งผลให้ความเสี่ยงของภาคธนาคารเพิ่มขึ้นตาม

"ยุโรปจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากในการดำเนินมาตรการใดๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากประเทศสมาชิก แม้เยอรมนีอนุมัติเพิ่มอำนาจให้กองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงิน(EFSF) ให้เงินกู้ได้เพิ่มขึ้น แต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจยุโรปได้ และยังมีปัญหาหนี้สาธารณะรออยู่ข้างหน้า ทำให้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปได้ยากเนื่องจากยังขึ้นกับปัจจัยทางการเมืองว่าจะสามารถร่วมมือกันได้มากน้อยเพียงใด)

ทั้งนี้ กลุ่มตลาดเกิดใหม่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลังการส่งออกไปยังตลาดหลักชะลอตัว รวมถึงจะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น และภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคผันผวน

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารในยุโรปซึ่งเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ประสบปัญหา ก็จะส่งผลให้ตลาดเกิดใหม่ขาดแหล่งเงินทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนขนาดใหญ่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น