xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศ ความงามของกรามีนแบงก์!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

เพิ่งกลับมาจากการไปดูงานที่สาธารณรัฐบังกลาเทศกับคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ถือเป็นกรรมาธิการแห่งสภานิติบัญญัติของไทยคณะแรกที่ไปดูงานที่นั่น เหมือนกับที่เมื่อ 3 เดือนก่อนเราก็เป็นกรรมาธิการคณะแรกที่ไปดูงานที่ราชอาณาจักรภูฏาน

คำถามแรกก่อนเดินทางจากผู้คนทั่วไปคือ ไปทำไมที่นั่น?

แค่คำเตือนจากเอกสารแนะนำก่อนเดินทางก็ทำให้หวาดๆ อยู่บ้างแล้ว เพราะเป็นการไปเยือนประเทศที่ถ้าไม่ยากจนที่สุดก็เกือบที่สุด มีประชากรถ้าไม่หนาแน่นที่สุดก็เกือบที่สุด และมีคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้านที่อยู่ในกลุ่มเลวที่สุด โดยเฉพาะการจราจรจลาจลบนท้องถนนในกรุงธากาที่เมื่อกลับมาแล้วเกิดความรู้สึกใหม่ๆ กับการจราจรในกทม.บ้านเราชนิดเลิกบ่นไปเลย

คำตอบคือไปดูงาน “ธนาคารคนจน” กรามีนแบงก์ - Grameen Bank ครับ!

กรามีนแบงก์และดร.มูฮัมหมัด ยูนูสผู้ก่อตั้งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ 5 ปีก่อน ท่านที่อยู่ในแวดวงข่าวสารคงจะพอจำได้ ท่านที่เป็นเอ็นจีโอทำงานกับคนยากจนคงจะรู้ดีกว่าผมเยอะ ส่วนท่านผู้อ่านทั่วไปก็ขอได้โปรดเข้าใจว่านี่คือธนาคารพาณิชย์กระแสรองที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างตรงกันข้ามกับธนาคารพาณิชย์กระแสหลัก แต่ก็ยังคงหลักการของความเป็นธนาคารพาณิชย์อยู่ไม่ได้แปรไปเป็นองค์กรการกุศล ธนาคารพาณิชย์กระแสหลักทั่วไปตั้งอยู่บนแนวคิดสั้นๆ ง่ายๆ ที่ว่า...

ยิ่งมีเงินเท่าไร ก็ยิ่งได้เงินมากเท่านั้น หรือมากยิ่งขึ้น!

ซึ่งความหมายที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันก็คือ ถ้าไม่มีเงิน หรือมีเงินน้อย จะไม่ได้อะไรเลย และไม่มีทางที่จะได้เข้าไปเป็นลูกค้าของธนาคาร ทั้งด้านลูกค้าเงินฝาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าเงินกู้ แต่เมื่อชีวิตต้องดำเนินต่อไป ก็ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบก่อให้เกิดปัญหานานัปการตามมา

กรามีนแบงก์ปล่อยเงินกู้แก่คนจนในชนบทเท่านั้น ไม่มีสัญญา ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงไม่เคยมีการดำเนินคดี ลูกค้าส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 96 เป็นผู้หญิงเป็นแม่บ้าน

แม้แต่คนขอทานก็เป็นลูกค้าเงินกู้กรามีนแบงก์ได้!

เรื่องขอทานเป็นลูกค้ากรามีนแบงก์นี่เป็นที่น่าสนใจในคณะของเรามาก ทราบมาว่าเขาเริ่มต้นจูงใจให้ขอทานร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโดยอธิบายให้เข้าใจว่าสามารถเอาของชำเล็ก ๆ น้อยๆ ไปขายตามบ้านที่ไปขอทาน หรือไม่ก็วางขายไว้ข้างๆ ตัวตอนนั่งขอทานอยู่กับที่ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้ขอทานดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีมากขึ้น แทนที่จะขอทานอย่างเดียว เมื่อโครงการดำเนินไประยะหนึ่งก็ปรากฏว่าลูกค้าที่เป็นคนขอทานจำนวนหนึ่งเลิกการขอทานไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย โดยการสนับสนุนของกรามีนแบงก์ทั้งทางด้านสินเชื่อและการฝึกวิชาชีพ

ตัวเลขของขอทานที่เป็นลูกหนี้กรามีนแบงก์ที่ผมมีอยู่ไม่ทันสมัยนัก ย้อนหลังไป 4 ปีมีจำนวน 85,000 ราย ในจำนวนนี้มี 6,000 รายที่เลิกขอทานไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย

ปรัชญาของกรามีนแบงก์ คือ ความศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ รวมทั้งคนจนและขอทาน สินเชื่อเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง จึงสร้างระบบที่ให้สิทธิพิเศษในการปล่อยเงินกู้กับคนจน โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานการตีค่าสินทรัพย์ของลูกค้า แต่ตั้งอยู่บนศักยภาพของลูกค้า ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปประเมินค่าของทรัพย์สินที่คนหามาได้แล้ว แต่กรามีนแบงก์ประเมินศักยภาพซ่อนเร้นของปัจเจกชนที่รอวันแสดงออก

สาขาของกรามีนแบงกตั้งอยู่ในชุมชนชนบท

หลักการข้อแรกคือ ลูกค้าไม่ต้องไปหาธนาคาร ธนาคารต่างหากที่ต้องไปหาลูกค้า

พนักงานกรามีนแบงก์เดินทางไปให้บริการกับลูกค้า 8.3 ล้านคนใน 81,379 หมู่บ้านทั่วประเทศ ลูกค้าชำระคืนเงินกู้เป็นงวดๆ รายสัปดาห์ เมื่อลูกหนี้ประสบปัญหา กรามีนแบงก์จะพยายามช่วยเหลือลูกหนี้ยามตกทุกข์ได้ยากให้แข็งแรงขึ้นเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไม่มีการคิดดอกเบี้ยหลังจากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จึงไม่มีทางที่จะเกิดสภาวะดอกเบี้ยท่วมเงินต้นเหมือนธนาคารพาณิชย์กระแสหลัก เพราะไม่ว่าลูกหนี้จะหยุดชำระหนี้ไปนานขนาดไหน กรามีนแบงก์จะหยุดคิดดอกเบี้ยทันทีที่ยอดดอกเบี้ยสูงเท่ากับยอดเงินต้น

หลังจากปล่อยกู้ไปแล้ว ระบบของกรามีนแบงก์ยังจะติดตามดูแลการศึกษาของลูกหลานผู้กู้ สภาพที่พักอาศัย สุขอนามัย แหล่งน้ำดื่มสะอาด และความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติและภาวะฉุกเฉินต่างๆ ช่วยลูกหนี้ให้สร้างกองทุนบำนาญของตัวเอง และช่องทางออมเงินอื่นๆ

หากลูกหนี้ตาย นอกจากจะไม่เรียกร้องให้ครอบครัวผู้ตายชำระหนี้แทนแล้ว ยังจะจ่านเงินต้นทั้งจำนวนพร้อมดอกเบี้ยจากโปรแกรมประกันชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเงินกู้อยู่แล้วคืนให้กับครอบครัวไป

เคล็ดความสำเร็จของกรามีนแบงก์คือสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่า “การจัดตั้ง” ในระดับรากหญ้า!

เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุดของกรามีนแบงก์ คือ การให้สินเชื่อรายบุคคลเป็นกลุ่ม!!


กลุ่มลูกค้าเงินกู้แต่ละกลุ่มจะมี 5 คน แต่ทั้ง 5 คนนี้ไม่ต้องค้ำประกันให้กันและกัน เพียงแต่จะมีหน้าที่ให้กำลังใจกันและกัน ดูแลกันและกันว่าประสบปัญหาใด เพราะถ้าใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มผิดนัดชำระหนี้ ที่เหลือจะไม่ได้รับสิทธิในการได้รับสินเชื่อครั้งต่อไปด้วย จนกว่าลูกค้าคนนั้นจะกลับมาชำระหนี้

จะเรียกว่าเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยพื้นฐานก็คงไม่ผิดนัก

ลูกค้าเงินกู้แต่ละกลุ่มยังต้องรับเป้าหมายพื้นฐานต่างๆ ด้านสังคมไปปฏิบัติหรือพยายามปฏิบัติให้ได้ด้วย ทั้งด้านการศึกษา และสุขภาพ เช่น ให้ลูกหลานได้รับการศึกษา ให้สอนให้ลูกหลานรู้จักการออม ให้มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ให้ปลูกต้นไม้ ให้รับประทานผักสีเขียวเพื่อต้านโรคตาฟางในเด็ก ให้มีแหล่งน้ำดื่มที่สะอาด และ ฯลฯ รวม 16 ประการ กรามีนแบงก์เรียกเป้าหมายพื้นฐาน 16 ประการที่ให้ลูกค้าพยายามนำไปปฏิบัตินี้ว่า...

“The Sixteen Decisions”

จะแปลเป็นไทยว่าอะไรดี การตัดสินใจ 16 ประการ ความมุ่งมั่น 16 ประการ หรือเคยเห็นนักวิชาการบางท่านแปลว่าญัตติ 16 ประการ ได้ทั้งนั้น แต่ผมจะขอเรียกอีกอย่างให้จำง่ายๆ ดีกว่า...

“บัญญัติ 16 ประการ”

ตอนที่กรามีนแบงก์พาคณะของเราไปดูงานที่ Vawal Rajabari, Dist. Gazipur ห่างกรุงธากาออกไป 2 ชั่วโมงครึ่ง (แต่เพียงแค่ 65 กิโลเมตร) ผมเห็นมีการท่องความมุ่งมั่นเหล่านี้ย่อๆ ออกมาด้วย

เป้าหมายหลักของธนาคารพาณิชย์กระแสหลักคือผลกำไรสูงสุด แต่เป้าหมายของกรามีนแบงก์คือการนำบริการของสถาบันการเงินไปสู่คนจน โดยเฉพาะผู้หญิง เพื่อช่วยให้เขาต่อสู้กับความยากจน มีกำไรเลี้ยงตัว และมีฐานะมั่นคง นี่ไม่ใช่แนวคิดสังคมนิยม แต่เป็นอย่างที่ดร.มูฮัมหมัด ยูนูสเรียกว่าเป็นแนวคิดทุนนิยมเชิงบวก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้ และทำสำเร็จ เพราะกรามีนแบงก์ยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ ยังแสวงกำไร และได้กำไร กิจจการขยายใหญ่โตขึ้นมาในรอบเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนยอดสินเชื่อมากกว่าหมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐที่ปล่อยให้ลูกค้ามากกว่า 8 ล้านคน มียอดหนี้เสียไม่ถึง 3%

ไม่อยากเปรียบกับเมืองไทยให้เจ็บปวดหัวใจ!

เมืองไทยบ้านเราธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นปลิงดูดเลือดสังคม ค้ากำไรเกินจริง ขณะที่นักการเมืองแข่งขันกันสร้างนโยบายประชานิยมแจกเงินคนจนเพื่อหวังคะแนนเสียงเฉพาะหน้ามากกว่าคำนึงถึงผลระยะยาว กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่มีหลักการเดียวกับกรามีนแบงก์จึงเป็นเรื่องของประชาชนเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่เท่านั้น ไม่มีทางที่จะได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาเป็นธนาคารพาณิชย์ทางเลือกในระดับประเทศหรอก

นี่คือ “ความงาม” ที่เก็บตกมาจากประเทศที่ยากจนที่สุดมาเล่าสู่กันฟัง
กำลังโหลดความคิดเห็น