xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศสั่งปลด ‘ยูนุส’ ผู้ได้รางวัลโนเบลจากผลงาน ‘ธนาคารคนจน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โมฮัมหมัด ยูนุส ผู้ก่อตั้งสถาบันการเงินเพื่อคนจน
เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์- แบงก์ชาติบังกลาเทศออกคำสั่งในวันพุธ (2) ปลด มูฮัมหมัด ยูนุส ออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของกรามีนแบงก์ ซึ่งเป็น “ธนาคารคนจน” ที่เขาก่อตั้งขึ้นมาบุกเบิกงานด้านปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย จนทำให้ได้รับรางวัลโนเบล อย่างไรก็ตาม ทางด้านยูนุสแสดงท่าทีตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า เขาจะต่อสู้กับความพยายามของทางการบังกลาเทศที่มุ่งมั่นจะเล่นงานเขาให้ได้

ยูนุส ซึ่งปัจจุบันอายุ 70 ปี ถูกนายกรัฐมนตรี เช็ก ฮาซินา ของบังกลาเทศ ถือเป็นศัตรูคู่อาฆาตตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน และนับแต่นั้นมาก็เกิดการต่อสู้ชิงอำนาจกันอย่างดุเดือดโหดเหี้ยมขึ้นทุกที ระหว่างธนาคารแห่งนี้กับรัฐบาล

แบงก์ชาติของประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้ ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า บังกลาเทศแบงก์ ระบุในคำสั่งปลดว่า ธนาคารกรามีนไม่ได้ขออนุมัติจากทางแบงก์ชาติก่อน เมื่อตอนที่แต่งตั้งยูนุสเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอีกในปี 2000 ซึ่งเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์ข้อหนึ่ง ที่กำหนดให้บริษัทที่รัฐเข้าถือหุ้นบางส่วนเฉกเช่นกรามีน แบงก์นี้จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบังกลาเทศ

แบงก์บอกว่า ด้วยเหตุนี้การดำรงตำแหน่งของเขาจึงผิดกฎหมาย ดังนั้น “ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส จึงถูกปลดออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของกรามีนแบงก์” ขณะที่ มูซัมเมล ฮัก ผู้ที่รัฐบาลแต่งตั้งให้มานั่งเป็นประธานของธนาคารคนจนแห่งนี้ และแสดงตัวเป็นปรปักษ์กับยูนุสเรื่อยมา บอกกับสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งว่า คำสั่งปลดนี้ “มีผลบังคับในทันที”

ทว่า ทางกรามีนแบงก์ซึ่งรัฐถือหุ้นอยู่ 25% ได้ออกคำแถลงโต้แย้งว่า การแต่งตั้งยูนุสเป็นกรรมการผู้จัดการนั้น ทางธนาคารกระทำตามกฎหมายทุกอย่าง และดังนั้นเขาจึงจะดำรงตำแหน่งต่อไป

เป็นที่คาดหมายกันว่า กรณีความขัดแย้งนี้คงจะต้องยุติลงด้วยการส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมตัดสิน

กรามีนแบงก์ เป็นผู้บุกเบิกเรื่องสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ด้วยการให้เงินกู้ก้อนเล็กๆ แก่พวกผู้ประกอบการในชนบทที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนมาก และผลงานในเรื่องนี้เองทำให้ยูนุสมีชื่อเสียงโด่งดังระดับระหว่างประเทศ ตลอดจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006

อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะรางวัลโนเบลเพียงคนเดียวของบังกลาเทศผู้นี้ กำลังถูกรัฐบาลกดดันอย่างหนักหน่วงให้ออกจากธนาคารกรามีนไป ในเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีคลัง เอ.เอ็ม.เอ. มูฮิธ ได้ขอให้เขาลาออกไปเสีย และนายกรัฐมนตรีฮาซินาก็วิพากษ์สบประมาทผลงานของยูนุส

ความพยายามก่อนหน้านี้ของทางการที่จะบังคับให้เขายอมทิ้งตำแหน่ง เน้นหนักไปที่เรื่องอายุของเขา โดยที่รัฐบาลอ้างว่ายูนุสมีอายุมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งนี้แล้ว

ในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาลำบากยุ่งยากที่ยูนุสต้องเผชิญดูจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่ก็เห็นกันว่ามันมีต้นตอจุดเริ่มเมื่อปี 2007 ตอนที่เขาเสนอตัวจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ถึงแม้อีกไม่นานนักเขาได้เลิกล้มความคิดนี้ไปแล้ว ทว่ามันก็สร้างความไม่สบอารมณ์ให้แก่ ฮาซินา นักการเมืองหญิงทรงอิทธิพล ตลอดจนพวกพันธมิตรทางการเมืองของเธอ

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ฮาซินา กล่าวหายูนุสว่า ปฏิบัติกับกรามีนแบงก์ เสมือนเป็น “ทรัพย์สมบัติส่วนตัว” ของเขา พร้อมกับระบุด้วยว่าธนาคารแห่งนี้ “กำลังสูบเลือดจากคนยากคนจน”

ในเดือนที่แล้ว องค์กรการกุศลและบุคคลสาธารณะจากทั่วโลกรวม 50 ราย รวมถึง แมรี โรบินสัน อดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกระบุว่า “มีการวางแผนประสานงานกันในแวดวงการเมือง” เพื่อดำเนินการรณรงค์ต่อต้านยูนุส

อดีตนักวิชาการ ผู้ซึ่งเกิดแรงบันดาลใจเริ่มต้นกิจการปล่อยสินเชื่อรายย่อยขึ้นมา ภายหลังพบเห็นสภาพการณ์ในชนบทของบังกลาเทศขณะเผชิญภัยอดอยากผู้นี้ ยังถูกเรียกให้ไปขึ้นศาลในคดีต่างๆ 3 คดีเมื่อเดือนที่แล้ว โดยทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวข้องอยู่บ้างกับกรามีน แบงก์

เขายังถูกรัฐบาลสอบสวนในเรื่องการใช้เงินช่วยเหลือจากนอร์เวย์

ทั้งนี้ มีสารคดีโทรทัศน์ที่จัดทำโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวนอร์เวย์ผู้หนึ่งและออกเผยแพร่ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ได้กล่าวหาวยูนุสว่าใช้เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากทางนอร์เวย์อย่างมิชอบในช่วงทศวรรษ 1990 ทว่าผลการสอบสวนของรัฐบาลนอร์เวย์ได้ออกมาแล้วว่า เขามิได้กระทำความผิดใดๆ ทั้งสิ้น

แรงบีบคั้นของรัฐบาลต่อยูนุสในช่วงหลังๆ นี้ ยังทำให้ เจมส์ มอริอาร์ตี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำบังกลาเทศ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติต่อยูนุสด้วยความเคารพ และในวันพุธ สถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ก็แถลงว่า “รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง” จากการที่มีผู้พยายามถอดถอนยูนุส

ทางด้าน ซาลาอุดดีน อามินุซซามาน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธากา ของบังกลาเทศ ก็แสดงความเห็นว่า รัฐบาลพยายามปลดยูนุส ด้วยการอ้าง “กฎหมายที่ความจริงได้ถูกเพิกเฉยไม่แยแสกันมานานเต็มทีแล้ว”

“ศาสตราจารย์ยูนุสไม่ใช่เป็นนายแบงก์ เขาเป็นความภาคภูมิใจระดับชาติของบังกลาเทศ การปลดเขาจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ” อามินุซซามานกล่าว

ปัญหาที่เกิดขึ้นยูนุส ยังปะทุขึ้นในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมสินเชื่อรายย่อยที่เขาเป็นผู้บุกเบิกกำลังถูกคุกคามอย่างหนักอีกด้วย

ในอินเดีย จวบจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึงราว 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนี้ ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตคนยากคนจนของแดนภารตะ ด้วยการปล่อยเงินกู้เฉลี่ยรายละ 250 ดอลลาร์แก่ผู้ขอกู้หลายล้านราย ซึ่งไม่อาจกู้ยืมจากภาคธนาคารกระแสหลักได้

ทว่า การที่ระยะหลังๆ มานี้ พวกกิจการปล่อยสินเชื่อรายย่อยในอินเดีย สามารถทำกำไรได้สูงลิ่ว ท่ามกลางข้อกล่าวหาที่ว่ามีการเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเกิน 30% ต่อปี อีกทั้งใช้เจ้าหน้าที่เรียกเก็บหนี้สินซึ่งนำเอามาตรการสุดโหดมาบีบบังคับจนลูกหนี้ฆ่าตัวตายกันไปหลายราย จึงก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งดังขึ้นทุกที รวมทั้งเกิดปฏิกิริยาในทางลบจากสมาชิกรัฐสภาและจากพวกลูกหนี้

ธนาคารพาณิชย์จำนวนมากได้จำกัดการปล่อยกู้ให้แก่พวกสถาบันสินเชื่อรายย่อย ขณะที่รัฐบาลนำเอาระเบียบกฎหมายใหม่ๆ ออกมาใช้ เพื่อจำกัดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตลอดจนเงินกู้ที่สามารถปล่อยกู้ได้

เมื่อเดือนที่แล้ว ตัวยูนุสเองก็ยังออกมาแถลงประณาม “พวกนายทุนหน้าเลือด” ที่ปลอมแปลงเป็นสถาบันสินเชื่อรายย่อย

“พอพวกเขาเริ่มคิดที่จะหาผลกำไร พวกเขาก็กลายเป็นพวกนายทุนหน้าเลือด” ยูนุสกล่าวเช่นนี้ในการประชุมสัมมนานัดหนึ่งที่นครมุมไบ “วัตถุประสงค์สูงสุดของผู้ปล่อยสินเชื่อรายย่อยก็คือ การทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาว่าคนยากจนจะสามารถเข้าถึงเม็ดเงินได้ ไม่ใช่มุ่งที่จะสร้างผลกำไร”
กำลังโหลดความคิดเห็น