เอเอฟพี - ศาลสูงสุดบังกลาเทศพิพากษาวันนี้ (5) ให้ยกคำร้อง ความพยายามครั้งสุดท้ายของ มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2006 ผู้ก่อตั้งธนาคารคนจน ที่ต้องการให้ศาลเพิกถอนคำสั่งปลดเขาออกตำแหน่งกรรมการบริหารธนาคารที่ก่อตั้งขึ้นมากับมือ
คณะทนายความของมูฮัมหมัด ยูนุส ได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณา เพิกถอนคำสั่งปลดเขาออกจาก กรามีนแบงก์ หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว การอุทธรณ์ของยูนุสไม่เป็นผล ในศึกแย่งชิงอำนาจกับรัฐบาลบังกลาเทศที่ต้องการควบคุมกรามีนแบงก์ ธนาคารที่มูฮัมหมัด ยูนุส พัฒนามโนทัศน์เกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้รายย่อยให้กับคนรากหญ้า เพื่อแก้ปัญหาความยากจน
“ศาลสูงสุดได้ยกคำร้องครั้งสุดท้ายของยูนุส” มาห์บูบีย์ อลัม อัยการสูงสุดบังกลาเทศ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีที่ใช้เวลาเพียงไม่นาน ซึ่งยูนุสไม่ได้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี “ด้วยคำสั่งนี้ ยูนุสไม่อาจยึดติดกับตำแหน่งของเขาอีกต่อไป”
ทั้งนี้ ศาลสูงสุดบังกลาเทศตัดสินว่า กรามีนแบงก์เป็นสถาบันหนึ่งของรัฐ ไม่ใช่ธนาคารเอกชนดังเช่นที่ยูนุสและทีมกฎหมายของเขาดูแลอยู่ นั่นหมายความว่า ลูกจ้างของธนาคารต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของรัฐที่กำหนดให้เกษียณอายุการทำงาน เมื่ออายุครบ 60 ปี
มูฮัมหมัด ยูนุสในวัย 70 ปี ถูกปลดออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารกรามีนแบงก์ จากคำสั่งธนาคารกลางบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ทว่าเขาดื้อแพ่งต่อคำสั่งดังกล่าว และกลับไปทำงานตามปกติ พร้อมกันนั้นได้ยื่นฟ้อง เพื่อขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งปลดอันไม่เป็นธรรม
ยูนุสและกรามีนแบงก์ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปี 2006 “จากความความมุมานะที่จะสร้างเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมจากระดับรากหญ้า”
รูปแบบของธนาคารเงินกู้รายย่อยนี้ได้รับการนำไปปฏิบัติตามในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ และผู้สนับสนุนนานาชาติต่างวิพากษ์วิจารณ์การปลดยูนุสออกจากตำแหน่งในวงกว้าง โดยกลุ่มผู้สนับสนุนระบุว่า ยูนุสตกเป็นเหยื่อของนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ซึ่งเขาเคยเข้าไปขวางทางการเมือง เมื่อยูนุสได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อปี 2007 ระหว่างการปกครองของรัฐบาลทหาร
เมื่อเดือนธันวาคม หลังจากสถานีโทรทัศน์ของนอร์เวย์เผยแพร่สารคดีที่กล่าวหามูฮัมมหัด ยูนุสอย่างร้ายกาจ นายกรัฐมนตรีฮาซินาก็ได้ตอกย้ำว่าเขา “สูบเลือดสูบเนื้อจากคนจน” และใช้กลโกงเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า อิทธิพลมหาศาลของกรามีนแบงก์ในบังกลาเทศ และการขยายเครือข่ายไปสู่ธุรกิจเซลล์สุริยะ โทรศัพท์มือถือ และสินค้าอื่นๆ ทำให้รัฐบาลชีค ฮาซินาเกิดอาการอิจฉาตาร้อน