xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มศักยภาพท่าเรือแหลมฉบัง ผุดท่าเทียบเรือ-ศูนย์ขนตู้สินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“คมนาคม”ดันก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง และศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟทลฉ. มูลค่า 2,400 ล้านบาท เตรียมชงสศช.และครม.เห็นชอบ เร่งก่อสร้างใน 2 ปี รองรับขนส่งทางน้ำในประเทศเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางจาก 8% เป็น 30% และลดต้นทุน พร้อมสั่งเตรียมพื้นที่รับรางขนาด 1.435 เมตร
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง หรือท่าเทียบเรือ A และโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ค่าก่อสร้างรวม 2,349 ล้านบาท ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า บริษัทที่ปรึกษาได้สรุปผลการศึกษาออกแบบแล้ว โดยจะเสนอแผนการลงทุนโครงการไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป คาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2555 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี
โดยโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง ค่าก่อสร้าง 1,107 ล้านบาท ค่าเครื่องมือยกขน 770.4 ล้านบาท จะสามารถรองรับการขนส่งสินค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะจากภาคใต้ไปยัง ทลฉ. เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งทางถนนลง ซึ่งปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายกว่า 1,000 บาทต่อตู้ เนื่องจากมีพื้นที่สามารถจอดเรือได้พร้อมกัน 2 ลำ ขนาดรองรับได้ 1,000-3,000 ตัน
จากการวิเคราะห์ผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์จากการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง สำหรับอายุ 30 ปี พบว่า จะประหยัดค่าใช้จ่ายยานพาหนะ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,721.93 ล้านบาท ประหยัดเวลาในการเดินทาง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,525.39 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณในการขยายถนนและลดค่าบำรุงรักษา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,377.23 ล้านบาท ลดเงินอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 267.21 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 19.84%
สำหรับก่อสร้างโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังที่มีระยะทาง 5.8 กม. ค่าก่อสร้าง 1,242 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อจากรถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งประสิทธิภาพของรางรถไฟ 6 ราง และลานกอง พร้อมเครื่องมือยกขนปั่นจั่นเดินบนราง จะรองรับการขนส่งทางรางได้ถึง 3 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าเข้าสู่ ทลฉ.ทางรางจากปัจจุบัน 8% เป็น 30% ลดสัดส่วนการขนส่งทางถนนจาก 90% ลงเหลือ 60% โดยคาดว่าปริมาณตู้สินค้าที่ทลฉ.จะเพิ่มขึ้นจาก 5.6 ล้านทีอียูต่อปีเป็น 10 ล้านทีอียูต่อปี
ทั้งนี้ กทท.จะเป็นผู้ลงทุนทั้ง 2 โครงการ โดยกำหนดอัตราค่าภาระคุ้มทุนที่ 470 บาทต่อตู้ จากปัจจุบัน 315 บาทต่อตู้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบให้บริษัทที่ปรึกษาเตรียมพื้นที่ สำหรับรองรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้รางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ตามนโยบายของรัฐบาลไว้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น