ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.นำสื่อลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย พร้อมเปิดแผน “ฮับโคราช” ศูนย์ขนส่ง-กระจายสินค้า เชื่อมสู่ท่าเรือแหลมฉบัง
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เส้นทางก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เพื่อเป็นประตูเชื่อมต่อไปเป็นการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะทำให้จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ (ฮับ) ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าผ่านระบบราง
ทั้งนี้ ได้มีแนวคิดที่จะจัดทำเส้นทางรถไฟความเร็วสูงออกเป็น 2 เส้นทาง มีจุดแยกที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งรถไฟความเร็วสูงสำหรับขนส่งสินค้าจะสร้างรางรถไฟเลี่ยงเส้นทางเข้ากรุงเทพฯ มุ่งหน้าตรงสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนรถไฟความเร็วสูงขนส่งผู้โดยสารจะใช้เส้นทางที่เคยศึกษา มุ่งเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งแผนดังกล่าวจะมีการหารือกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกระทรวงคมนาคมต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา (สำหรับผู้โดยสาร) ที่รัฐบาลเร่งรัดให้ดำเนินการด่วนที่สุดนั้น ขณะนี้ผลการศึกษาโครงการเสร็จสิ้นแล้ว และคาดว่าหากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการก็จะสามารถเปิดประกวดราคาได้ภายใน 6 เดือน
ขณะเดียวกัน ได้ทำการสำรวจพื้นที่ของการรถไฟขนาด 290 ไร่ บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย เพื่อเตรียมดำเนินการก่อสร้างศูนย์การขนส่งและกระจายสินค้า (ICD) แห่งที่ 2 ต่อจากศูนย์ฯ ลาดกระบังในบริเวณดังกล่าว ในวงเงินดำเนินการกว่า 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก 700 ล้านบาท
ระยะที่ 2 วงเงิน 1,300 ล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 ปี และจะเริ่มระยะแรกในปี 2555 โดยจะใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ ขนาด 107 ไร่ สร้างศูนย์รวบรวมตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์ยาร์ด) สำหรับรองรับตู้สินค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ลาว จีน ที่จะเพิ่มขึ้นตามการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นหลังมีรถไฟความเร็วสูง และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ประเมินว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะอยู่ใกล้พื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ซึ่งมีการขนถ่ายสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาล แป้ง ยางพารา และมีพื้นที่กว้างพอที่จะพัฒนาเป็นศูนย์การขนส่งและกระจายสินค้า และจะเป็นการสร้างงานให้กับคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้
ทั้งนี้ ICD ที่จังหวัดหนองคายจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าในประเทศได้ราว 5,000 TEU (Twenty-foot Equivalent Unit) สินค้าจากลาว 20,000 TEU และสินค้าจากจีน 4,000 TEU รวมทั้งสิ้นคาดว่าจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้มากถึง 30,000 TEU ต่อปี และมีอัตราตู้สินค้าผ่านศูนย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 183 ไร่ ร.ฟ.ท.มีแผนจะจัดทำเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบราง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร และระบบรางของประเทศไทยในอนาคต
ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ล่าสุด การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมีความก้าวหน้าไปมาก และตามสัญญาก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2555 แต่อย่างไรก็ตาม รฟท.ยังไม่สามารถหาขบวนรถมาวิ่งให้บริการได้ เพราะจำเป็นต้องรอโครงสร้างพื้นฐานโครงการสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่จะแล้วเสร็จในปี 2558 ก่อน และหากรัฐบาลอนุมัติการจัดหาขบวนรถไฟ วงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท แล้ว ก็จะต้องรอการผลิตอีกอย่างน้อย 2 ปี จึงจะมีการจัดส่งและนำมาวิ่งทดสอบได้ ซึ่งคาดว่ากว่าประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ก็ประมาณปี 2558 หรือปี 2559