xs
xsm
sm
md
lg

“ทองคำ ค่าเงิน หุ้น” บทเรียนอีกครั้งจากการทุบถล่มแล้วช้อนซื้อของ “เฮดจ์ฟันด์!?”

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สัปดาห์ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโดยเฉพาะในตลาดทุนนั้นถือได้ว่ามีความผันผวนอย่างหนักและต่อเนื่อง หุ้น น้ำมัน ทองคำ และค่าเงิน ซึ่งเหล่าเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลายได้เข้าไป “ปั่น” ก่อนหน้านี้มาอย่างยาวนาน ต่างก็ได้ถูกเทขายทำกำไรอย่างพร้อมเพรียงกัน

การเทขายในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างหนักหน่วงที่ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงเหว ก็ได้ทำให้นักเล่นหุ้นประเภทที่เล่นมาร์จิ้น และเล่นฟิวเจอร์ ต้องถูกบังคับขายตามกฎเกณฑ์ทำให้กองทุนหัวใสเข้าช้อนซื้อตอนที่เหล่าแมลงเม่าไทยต้องเจ๊งระเนนระนาดและทำให้ราคาหุ้นและทองคำดีดตัวกลับ

“ทองคำ” ก็เช่นกันได้ถูกกองทุนเฮดจ์ฟันด์เทขายสัญญาทองคำออกมานอกตลาด และทำให้ราคาทองคำทั่วโลกดิ่งลงอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และทำให้นักเล่นทองประเภทฟิวเจอร์โกลด์ต้องถูกบังคับขายเจ๊งกันไปอีกจำนวนมากเช่นกัน แม้แต่สมาคมทองคำของไทยก็ฉวยโอกาสกำหนดราคาซื้อขายและค่าธรรมเนียมเกินกว่าปกติจากที่เคยใช้สูตรคำนวณของราคาทองคำตลาดโลกเพื่อกลบผลขาดทุนของตัวเอง

แต่การที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่นัดหมายกันทั่วโลกเทขายกันอย่างพร้อมเพรียงกันนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจของโลกที่ต้องเผชิญหน้าอยู่ในเวลานี้ก็คือปัญหาหนี้สินอันมโหฬารและปัญหาทางเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ทำทีว่าจะเป็นลูกโซ่ใหญ่โตกว้างขวางลามปามกระทบไปทุกประเทศทั่วโลก

โดยเฉพาะ “ธนาคาร” ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หลายแห่งถูกทยอยลดความน่าเชื่อถือลงอย่างพร้อมเพรียงกัน และธนาคารเหล่านี้ก็เป็นแหล่งทุนอันสำคัญที่ทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ต้องขายทำกำไรคืนโดยเร็วเพื่อถือเป็นเงินสดรองรับกับสภาพวิกฤตที่กำลังจะมาถึง

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ก็คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาพิมพ์แบงก์ออกมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากธนาคาร (QE 1) และเพื่อซื้อแทรกแซงตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกา (QE2) ตามมาด้วยมาตรการเทขายพันธบัตรระยะสั้นแล้วมาซื้อพันธบัตรระยะยาวโดยมุ่งหวังจะกดอัตราดอกเบี้ยให้ลดลง (Operation Twist) ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าสหรัฐอเมริกาออกอาวุธทางเศรษฐกิจใกล้หมดแล้ว แต่อัตราการว่างงานก็ยังสูงอยู่ในระดับ 9.1%

ซึ่งความจริงแล้วการพิมพ์แบงก์ดอลลาร์สหรัฐอเมริกานั้นก็เหมือนการ “ชักดาบ”เบี้ยวหนี้ทางอ้อม เพราะทำให้หนี้ของสหรัฐฯ ในแต่ละประเทศเป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศเจ้าหนี้เหล่านั้น ตรงนี้เองทำให้เหล่าเฮดจ์ฟันด์เห็นโอกาสอันมหาศาลที่จะเร่งแปลงสินทรัพย์ของตัวเองจากดอลลาร์ให้เป็นสินทรัพย์อย่างอื่นในประเทศอื่นๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

มาตรการของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาแทนที่จะทำให้อัตราว่างงาน กลับเร่งทำให้ธนาคารสหรัฐอเมริกามีเงินเหลือล้นกลับไปลงทุนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์มากขึ้น นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ เข้าซื้อและปั่นหุ้นในประเทศภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย (ที่มีแนวโน้มว่าค่าเงินบาทจะแข็งและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง) เงินนอกร้อนไหลเข้าประเทศทำให้ราคาหุ้นดีดตัวสูงขึ้นชนิดที่นักการเมืองเอาไปคุยโวกันอย่างสนุกสนานและเอิกเกริก จนไม่มีใครสนใจฟังคำเตือนเรื่องการควบคุมกองทุนจากต่างประเทศที่หวังการลงทุนระยะสั้นแบบตีหัวเข้าบ้านที่จะมาทำให้เศรษฐกิจไทยต้องปั่นป่วน

แต่การเทขายระลอกใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำให้แมลงเม่าไทยและแมลงเม่าทั่วโลกตกกลายเป็นเหยื่อของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งได้สูบความมั่งคั่งของแต่ละประเทศกลับไปโดยได้ทำกำไรจากการเทขายในหุ้น ทองคำ และน้ำมันของตัวเองที่ได้ปั่นเอาไว้แล้ว ยังได้กำไรค่าเงินของแต่ละประเทศกลับไปอีกด้วย (โดยแลกกลับได้เงินดอลลาร์ไปมากขึ้น) โดยไม่ต้องมีการผลิตใดๆ ทั้งสิ้น

ความจริงแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ใช่นักเล่นหุ้นก็อาจจะคิดว่าไม่เดือดร้อนอะไร แต่ในความเป็นจริงการปล่อยให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์เข้าไปเล่นค่าเงินบาทได้ก็คือการทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นถือเป็นการบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันภาคการผลิตไปด้วย ในอีกทางหนึ่งการสูบความมั่งคั่งจากคนในประเทศไทยได้ก็คือ “การสูบกำลังซื้อของคนภายในประเทศ” ให้ลดลงแล้วตกไปอยู่ในมือของชาติอื่นโดยไม่จำเป็น

กลยุทธ์ของเฮดจ์ฟันด์ก็คือ “ปั่นขึ้นให้สูงแล้วเทขาย ทุบให้ต่ำแล้วกลับเข้าช้อนซื้อ” ยังคงเป็นวัฏจักรที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายระลอก โดยเฉพาะในสภาวะที่ธนาคารในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีปัญหามาก ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้เหล่าเฮดจ์ฟันด์เร่งขบวนการสูบความมั่งคั่งจากประเทศต่างๆ ให้เร็วขึ้นเป็น “วันต่อวัน” และปัจจุบันเร็วกว่านั้นเป็น “นาทีต่อนาที” โดยเน้นการทำกำไรจากพวกเล่นหุ้นแบบมาร์จิ้นและฟิวเจอร์ที่ต้องถูกบังคับขายหากราคาต่ำกว่าที่กำหนด เพียงแต่บทเรียนสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะทำให้นักลงทุนและแมลงเม่าทั่วโลกได้สติมากขึ้น (สักระยะหนึ่ง)

แต่ปัญหาในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปน่าจะหนักและสาหัสยิ่งกว่าอเมริกา เพราะพิมพ์เงินขึ้นใช้ตามใจชอบไม่ได้เหมือนสหรัฐอเมริกาและยังมีการคานอำนาจระหว่างกันโดยหลายประเทศ

แผนภูมิภาพแสดงความสัมพันธ์เชิงหนี้จากนิวยอร์กไทมส์ที่แสดงผลเมื่อสิ้นปี 2553 ก็จะเห็นได้ว่า กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี โปรตุเกส และสเปน ซึ่งถือว่าเป็น 5 ประเทศที่กำลังมีปัญหาธนาคารสั่นคลอนและรัฐบาลหนี้สินท่วมท้นนั้น หากมีปัญหา “ชักดาบ” หรือ “ธนาคารล้ม” ก็จะลามไปยังเจ้าหนี้รายใหญ่ทั้งธนาคารและรัฐบาลของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี อย่างแน่นอน
แผนภูมิการเชื่อมโยงหนี้ระหว่างกันของ 5 ประเทศที่เศรษฐกิจสั่นคลอน กรีซ อิตาลี ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน โดยมีเจ้าหนี้รายใหญ่คือ เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส
 
 
ตัวเลขครึ่งปีแรกของปีนี้ กรีซมีหนี้ต่างประเทศ (ทั้งในส่วนของธนาคารและภาครัฐ) เพิ่มขึ้นเป็น 5.32 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 6.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 77 เท่าของทุนสำรอง), อิตาลี มีหนี้ต่างประเทศรวม 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 1.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 13 เท่าของทุนสำรอง), สเปน มีหนี้ต่างประเทศรวม 1.89 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 3.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 55 เท่าของทุนสำรอง), โปรตุเกส มีหนี้ต่างประเทศรวม 4.98 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 2.22 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 22 เท่าของทุนสำรอง) , ไอร์แลนด์ มีหนี้ต่างประเทศ 1.15 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 2.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 54 เท่าของทุนสำรอง)

รวมหนี้ต่างประเทศของ 5 ประเทศนี้คือ 5.235 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ประเทศทั้ง 5 ประเทศเหล่านี้ มีหนี้ต่างประเทศมากกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศหลายสิบเท่าตัว และเป็น 5 ประเทศที่ต่างขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักทั้งสิ้น เปรียบเสมือนว่า 5 ประเทศนี้มีหนี้สินต่างประเทศมหาศาลมากกว่าสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แล้วค้าขายต่างประเทศยังขาดทุนทุกปีอีกไม่รู้จะเอารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ไหนมาชำระหนี้ (สถานภาพคล้ายประเทศไทยก่อนปี 2540)

แต่พอหันมาดู 3 ประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ของ 5 ประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดย ฝรั่งเศส มีหนี้ต่างประเทศ 4.698 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.82 แสนล้านเหรียญ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 26 เท่าของทุนสำรอง) ส่วนอังกฤษหนักสุดมีหนี้ต่างประเทศ 8.98 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 1.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 79 เท่าของทุนสำรอง) และทั้ง 2 ประเทศนี้ก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักทุกปีเช่นกัน

ส่วนเยอรมนีดูฐานะดีกว่าเพื่อนในกลุ่มนี้ เป็นประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปีละ 1.62 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีทองคำมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีอยู่ประมาณ 3.4 พันตัน แต่ก็ยังมีหนี้ต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนรวมสูงถึง 4.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 2.31 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 20 เท่าของทุนสำรอง)

การล้มละลายของยุโรปครั้งนี้จึงย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่ว่าจะดิ่งลงแรงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับ “หนี้ระยะสั้น” ของแต่ละประเทศนั้นถูกทวงคืนเร็วมากน้อยแค่ไหน และปรับโครงสร้างหนี้ยืดระยะยาวออกไปได้หรือไม่ เพราะยิ่งออกพันธบัตรกู้เงินตราต่างประเทศออกมามากในยามที่ทั่วโลกเห็นสภาพนี้แล้ว ถ้าไม่ถูกโก่งราคาอัตราดอกเบี้ยสูงอย่างหนักก็อาจจะหมดหนทางกู้ ผลก็คือการ “ชักดาบ” เบี้ยวหนี้ หรือบีบเจ้าหนี้ให้ “ลด-ยืดหนี้” หรืออาจถึงขั้นไม่ชำระหนี้เอาดื้อๆ ซึ่งผลร้ายจะทำให้ธนาคารหลายแห่งโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นได้รับผลกระทบลามเป็นลูกโซ่ไปเป็นจำนวนมาก

และหากความเสียหายของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเกิดขึ้น ก็ย่อมส่งผลลามไปถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะถ้าเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาถดถอยกำลังซื้อหดตัวก็เท่ากับตลาดส่งออกของทั่วโลกย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่จีนและประเทศไทย

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารในยุโรปและอเมริกาในช่วงนี้ และการเข้าออกเร็วขึ้นของเฮดจ์ฟันด์จึงเป็นเพียง “ยอดภูเขา” ของน้ำแข็งที่เพิ่งเริ่มแสดงอาการออกมาเท่านั้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ระบุว่าทางรอดของธนาคารในยุโรปต้องเพิ่มทุนสูงถึง 4.6 แสนล้านยูโร (6.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารหลายแห่งในยุโรปเรียกเงินคืนบางส่วนจากเฮดจ์ฟันด์เพื่อมาพยุงฐานะและเพิ่มทุนให้กับธนาคารในยุโรป

ทั้งนี้ นางคริสตี ลาการ์ด กรรมการผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ยอมรับเมื่อการประชุมวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554 ที่กรุงวอชิงตันว่า “ศักยภาพการปล่อยกู้ของเราที่มีมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านดอลลาร์เป็นตัวเลขที่พอดีสำหรับเศรษฐกิจทุกวันนี้ แต่อาจจะไม่พอหากเกิดวิกฤตการเงินรุนแรงในประเทศต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟในเวลาเร่งด่วน”

แปลว่าหากมีเงินไม่พอก็มีโอกาสที่ไอเอ็มเอฟ อาจจะเทขายทองคำบางส่วนจากที่มีอยู่ 2,800 ตันออกมาได้อีก

ประเทศไทยจึงต้องเตรียมตัวรับกับสภาพวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน รัฐบาลควรต้องพิจารณาถึงการจัดการกับขบวนการสูบความมั่งคั่งของเฮดจ์ฟันด์ และควรสร้างเสริมอุปนิสัยให้กับคนไทยรู้จักการออมและการประหยัดใช้เงินอย่างมีเหตุผล และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเพื่อเตรียมเงินสำรองเอาไว้รองรับวิกฤตที่กำลังจะมาถึง ไม่ใช่เน้นแต่ส่งเสริมกระตุ้นให้ประชาชนสร้างหนี้เร่งใช้จ่ายเพื่อหวังการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเพื่อ “ใช้เป็นตัวเลข” ที่จะได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ขาดดุลกันได้มากขึ้น

ท่ามกลางเศรษฐกิจทุนนิยมสุดขั้วกำลังทำร้ายและทำลายตัวเองอยู่ในขณะนี้ ปรากฏการณ์นี้ยิ่งเป็นการยืนยันในพระอัจฉริยภาพอีกครั้งหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งจะทำให้ผู้นำไปปฏิบัตินั้นสามารถอยู่รอดได้ในยามวิกฤต
กำลังโหลดความคิดเห็น