xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยไล่บี้CCTV จี้ดีเอสไอ-ปปช.สอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “เพื่อไทย” จี้ดีเอสไอ-ปปช.เร่งตรวจสอบคดี “ฮั้ว” กล้องซีซีทีวี กู้ภาพลักษณ์องค์กร ให้เป็นคดีตัวอย่าง ส่วน“ปชป.” ซัด อย่าแกล้งโง่ บิดเบือนกลบเกลื่อนบริหารประเทศไร้กึ๋น เชื่อหวังดิสเครดิตแย่งฐานเสียง ผู้ว่าฯกทม. ด้าน“มาร์ค” ไม่หวั่น ดีเอสไอรับลูกเพื่อไทยสอบทุจริต

วานนี้ (25 ก.ย.)ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการตรวจสอบการทุจริต 172 โครงการของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งมีการเปิดประเด็นเรื่องการจัดซื้อกล้องวงจรปิดกล้อง (ซีซีทีวี) พบว่า มีการจัดซื้อที่น่าจะมีการฮั้วประมูล และน่าจะมีการชักเปอร์เซ็นต์ประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ และประสิทธิภาพของศูนย์ข้อมูลกลางของกล้อง ซีซีทีวีน่าจะมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าในสัญญา ทีโออาร์ ที่ระบุเอาไว้ โดยคณะทำงานได้ยื่นเรื่องนี้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอดำเนินการต่อไป เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่สร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชน และเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช.น่าจะเข้าดำเนินการโดยด่วน เพราะภาพลักษณ์ของ ปปช.ก็เสียหายมามากในอดีต เพราฉะนั้น ปปช.น่าจะทำเรื่องนี้เป็นคดีตัวอย่าง

นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า ตนอยากจะฝากไปถึงฝ่ายค้านให้ช่วยกันตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากว่ามีประชาชนได้ร้องเรียนเข้ามามาก ตนก็อยากจะให้ฝ่ายค้านได้เข้ามาทำงานร่วมกันกับทางรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และจะไม่ให้เป็นนั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อผู้บริหารของประเทศ

**ปชป. ซัดแกล้งโง่ บิดเบือนกลบไร้กึ๋น

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยุติการโจมตีประเด็นการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ กทม. เนื่องจากเป็นการทำให้ประชานเกิดความสับสนและใช้ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างน่ารังเกียจ

“เรื่องอย่างนี้คนดี ๆ เขาไม่ทำกัน อย่าแกล้งโง่ทำเป็นไม่เข้าใจหรือสร้างประเด็นบิดเบือนให้ประชาชนสับสน เพราะในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีการติดตั้งกล้องดัมมี่ เพราะมีงบประมาณจำกัดในพื้นที่ภาคใต้แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเอามาเล่นเป็นประเด็นการเมืองเพราะเข้าใจข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และรู้ดีว่าจะกลายเป็นการสร้างผลกระทบด้านความปลอดภัยของประชาชนทำให้ผู้ร้ายไม่เกรงกลัว คนที่ได้รับความเดือดร้อนก็คือประชาชน แต่พรรคเพื่อไทยกลับนำเรื่องนี้มาเล่นการเมือง เพียงเพราะใกล้ช่วงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จึงต้องการทำลายคู่แข่งโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน และยังเป็นความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นที่รัฐบาลไร้ความสามารถในการบริหารประเทศด้วย ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่หวาดกลัวเพราะชี้แจงได้ทุกประเด็น เรื่องไหนที่คิดว่าไม่โปร่งใสก็ขอให้ตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำให้เกิดกระแสจากนั้นก็ปล่อยทิ้งไป เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด เช่นกรณี165 ศพที่จังหวัดระยองที่มีการขนศพไร้ญาติมากว่าสิบปีแล้ว แต่กลับพยายามขุดศพมาใส่เสื้อแดงกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อความจริงปรากฏก็ไม่มีใครรับผิดชอบหรือกล่าวคำขอโทษแม้แต่คำเดียว”โฆากปชป.กล่าว

นายชวนนท์ ยังอธิบายเกี่ยวกับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ผ่านมาจำนวนสี่ฉบับ ในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน มีการทำสัญญาเพียงหนึ่งฉบับ โดยติดตั้งกล้องจริง 347 ตัว ดัมมี่ 242 ตัว ราคาตัวละ 2,900 บาท เป็นเงิน 7 แสนบาท ส่วนสัญญาฉบับที่สองถึงฉบับที่สี่เกิดขึ้นในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร โดย ฉบับที่สองมีการติดตั้งกล้องจริง 533 ตัว กล้องดัมมี่ 373 ตัว ฉบับที่สามมีการติดตั้ง กล้องจริง 490 ตัว กล้องดัมมี่343 ตัว และฉบับที่สี่ ติดตั้งกล้องจริง 676 ตัว กล้องดัมมี่ 367 ตัว รวมทั้งหมดมีการติดตั้งกล้องจริง 2,046 ตัว และกล้องดัมมี่ 1,325 ตัว วงเงินทั้งหมดรวม 330 ล้านบาท ทั้งนี้ราคาของกล้องดัมมี่ก็แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา ในปัจจุบันราคาก็ตกลงไปอีก ดังนั้นผู้ที่ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ควรพูดให้ครบ อย่าหยิบยกแต่บางประเด็นที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองกับตัวเองเท่านั้น

**"มาร์ค" ไม่หวั่น DSI รับสอบทุจริต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเรื่องที่จะสอบสวนการจัดซื้อกล้องวงจรปิด(ซีซีทีวี) ของกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการต่อว่า คงไม่เป็นปัญหา เมื่อมีหน้าที่ที่จะตรวจสอบก็ตรวจสอบกันไป ยืนยันว่าในส่วนของผู้ว่ากทม.ทั้งอดีตและคนปัจจุบันไม่มีปัญหาแต่อย่างใด การทำงานในสถานะอะไรก็ตามผู้ทำงานต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ไม่อยากให้สังคมสับสน เรื่องกล้องวงจรปิด โดยเรื่องกล้องพรางนั้นเป็นสิ่งที่ใช้และทำมาตั้งแต่เริ่มทำโครงการซีซีทีวีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มไว้ที่ภาคใต้ โดยแยกเป็นกล้องจริงประมาณ 3,000 ตัวและกล้องพลางประมาณ 7,000 ตัว เป็นเรื่องที่ทำกันมาแบบนี้ ต่างประเทศก็ทำเช่นนี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า รู้สึกเสียดายที่พอเรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นขึ้นมา เลยทำให้ความมั่นใจหรือความมีประสิทธิภาพของการใช้ระบบตรงนี้ก็มีผลกระทบด้วย และหากดีเอสไอ หรือหน่วยงานที่ต้องการจะสอบข้อเท็จจริงก็ควรจะสอบให้ลึกลงไปตั้งแต่เริ่มโครงการว่า ใครเข้าไปเกี่ยวข้องตรงไหน หรือมีโครงการอื่นๆที่มีลักษณะเดียวกันก็ควรสอบทั้งหมด ส่วนในเรื่องช่องทางการสอบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิดที่ว่าเรามีงบประมาณจำกัด พื้นที่ที่ต้องการจะติดมีมาก ส่วนใหญ่รัฐบาลก็ใช้วิธีผสมผสานกันไป และมีความชัดเจนตั้งแต่ทำทีโออาร์ ทำสัญญาต่างๆ และตอนที่ตนเป็นรัฐบาลก็สามารถจัดงบประมาณลงไปในโครงการของกทม.ได้มากขึ้น และชุดที่มีกล้องพรางจะเกิดในปี 2550-2551

เมื่อถามว่าจะมีผลกับการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ที่กำลังจะมีขึ้นหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ทราบ แต่ก็ให้ตรวจสอบทำความเข้าใจกันไป และยังอีกนานกว่ามีจะมีการเลือกตั้ง ตอนนี้ทางพรรคกับผู้ว่าก็มีหน้าที่ทำงานให้ดีที่สุด อย่าไปกังวลเรืองต่างๆคงไม่ได้ เพราะตอนนี้ต้องรับมือเรื่องน้ำท่วม และมีโครงการใหญ่ที่จะต้องเร่งรัดอาทิเรืองรถไฟฟ้า การขยายไฟฟ้า-ประปา ที่ผู้ว่ากทม.เคยประกาศไว้

**รอง ผบช.น.แนะควรใช้CCTVของจริง

พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่กำกับดูแลงานจรจร กล่าวถึงกรณีกล้อง ซีซีทีวี ที่อยู่ตามแยกจราจรต่างๆ ว่า กล้งวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ตามแยกต่างๆ ในพื้นที่ กทม. เป็นความรับผิดชอบของ กทม. ที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งกล้องวงจรปิดดังกล่าวนั้น เป็นกล้องที่ต้องใช้งานดูสภาพการจราจรในพื้นที่ต่างๆ นั้น ต้องใช้ของจริงทั้งหมด จะใช้กล้องปลอมไม่ได้ เพราะจะไม่สามารถมองเห็นสภาพการจราจรในพื้นที่ต่างๆ แต่ในส่วนของการตรวจจับความเร็ว การตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรนั้น หากไม่มีงบประมาณเพียงพอ ก็อาจจะใช้กล้องปลอมมาติดตั้งไว้เพื่อหลอกตาผู้ขับขี่รถได้ แต่ในความเห็นส่วนตัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องที่ติดอยู่ตามแยกจราจรต่างๆ หรือ กล้องที่ใช้ในการตรวจตราความปลอดภัย ควรจะใช้กล้องของจริงทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกล้องที่ใช้ในการตรวจตราความปลอดภัย มีศูนย์ที่ดูแลอยู่ตามสำนักงานเขตต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เพราะทางสำนักงานเขตเอง ก็คิดว่าไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาดูแลรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งในเรื่องนี้ ทาง กทม. และตำรวจนครบาล มีการหารือร่วมกันว่า จะประสานความร่วมมือ โดยให้ตำรวจเข้าไปดูแลรับผิดชอบ เกี่ยวกับกล้องตรวจตราความปลอดภัยของทางกรุงเทพมหานคร ที่จะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีหน้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น