ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการจัดสรรแบ่งเค้กตำแหน่ง “หัวโต๊ะ” หรือประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ หลังจากทุกพรรคการเมืองตกลงกันได้ โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ที่ขับเคี่ยวดึงเกมกันไปมา จนเวลาล่วงเลยมากกว่า 2 เดือน หลังเปิดสภาฯ และผ่านการเปิดโต๊ะถกเครียดกันมาหลายยก ถึงขั้นขู่วอล์กเอาต์ ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยก็เคยมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถือว่าสามารถตกลง “ตั้งไข่” กมธ.สภาฯได้เร็วกว่าสภาฯหลายๆชุดที่ผ่านมา อย่างในสภาฯชุดที่แล้ว กว่าจะจัดสรรเก้าอี้แล้วเสร็จ ก็กินเวลานานกว่า 4 เดือน
แต่ก็ถือว่าผิดไปจากความตั้งใจของ “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ผู้รับผิดชอบโดยตรง ที่หวังว่าจะตั้งได้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 1 เดือน หลังมีสภาฯชุดใหม่
จึงถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” สามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างเต็มสูบ โดยเฉพาะในฐานะ“ฝ่ายตรวจสอบ” ผ่านกลไกของกมธ.
โดยเฉพาะเมื่อสภาฯ ชุดที่ 24 นี้จะเป็นชุดแรกที่มีโอกาสได้ใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ.2554 ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “กฎหมายติดดาบ” เพิ่มอำนาจให้ ส.ส.- ส.ว.ในการกวักมือเรียกตัวบุคคลให้เข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุม โดยสามารถคาดโทษได้ หากบุคคลนั้นๆไม่ให้ความร่วมมือ
บทลงโทษก็เบาะๆ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน แถมโทษปรับเงินอีกครึ่งหมื่น และถ้าเป็นข้าราชการ ก็จะพ่วงโทษทางวินัยไปด้วย ทำเอาบรรดาข้าราชการ รวมทั้งรัฐมนตรีขนหัวตั้ง และหมดสิทธิ์ที่จะหลบลี้หนีหน้า หรือหลบเลี่ยง ส่งลูกน้องมาชี้แจงแทนได้เหมือนเคยอีกต่อไป
อำนาจของคณะ กมธ.สภาฯจึงทรงพลานุภาพขึ้นมาอีกโข
หันมาดูในส่วนของโควต้าตำแหน่งประธาน กมธ.ทั้ง 35 คณะ แบ่งสรรตามจำนวนส.ส.แต่ละพรรค ซึ่ง “เพื่อไทย” ที่มี ส.ส. 265 คนได้ไป 19 คณะ “ประชาธิปัตย์” ที่มี ส.ส. 159 คนได้ 11 คณะ “ภูมิใจไทย” ที่มี ส.ส. 34 คนได้ 2 คณะ ที่เหลือ “ชาติไทยพัฒนา - ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน - พลังชล ” ได้ไปพรรคละ 1 คณะ
ส่วน “มาตุภูมิ - รักประเทศไทย - รักษ์สันติ - มหาชน - ประชาธิปไตยใหม่” ที่มี ส.ส.กันพรรคละ 1 - 2 ที่นั่ง ก็อดไปตามระเบียบ เพราะสัดส่วนไม่ถึงเกณฑ์
โดย 19 คณะของ พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย 1. กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน 2. กมธ.กิจการสภาฯ 3. กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ 4.กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ
5. กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ 6. กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค 7. กมธ.การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน 8. กมธ.การต่างประเทศ 9. กมธ. การทหาร
10. กมธ.การท่องเที่ยงและกีฬา 11. กมธ.การปกครองส่วนท้องถิ่น 12. กมธ.การป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และยาเสพติด 13. กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสาธารณภัย 14. กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ 15. กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา 16. กมธ.การแรงงาน 17. กมธ.การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 18. กมธ.การสวัสดิการสังคม และ 19. กมธ. การสื่อสารและโทรคมนาคม
ขณะที่พรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ไป 11 คณะ ประกอบด้วย 1. กมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน 2. กมธ.กิจการชายแดนไทย 3. กมธ.การคมนาคม 4. กมธ.การตำรวจ
5. กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ 6. กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 7. กมธ.การพลังงาน 8. กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน 9. กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ 10. กมธ.ส่งเสริมราคาพืชผลเกษตรกรรม และ 11. กมธ.การศึกษา
ส่วนพรรคภูมิใจไทย 2 คณะ ได้แก่ กมธ.การปกครอง และ กมธ.การสาธารณสุข พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คณะ ได้แก่ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 1 คณะ ได้แก่ กมธ.อุตสาหกรรม และ พรรคพลังชล 1 คณะ ได้แก่ กมธ.การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่ได้สัดส่วนประธาน กมธ. ก็ยังได้ “โบนัส” สมนาคุณเป็นตำแหน่งสำคัญใน กมธ.จากพรรคใหญ่ ที่แสดงความเอื้ออาทรให้ เพื่อให้สงบท่าทีไม่ “ก่อหวอด” ตีรวน ต่อรองเก้าอี้ประธาน กมธ.กันอีก
โดย “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ได้ตำแหน่งรองประธาน กมธ.ตำรวจ คนที่ 1 “พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน” หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ได้ตำแหน่งประธานที่ปรึกษา กมธ.ทหาร และ “ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ ลงตัวกับตำแหน่งประธานที่ปรึกษา กมธ.เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
ขณะที่ 2 พรรคใหญ่ และพรรคอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการสรรหา หรือปล่อยให้ลูกพรรค “วิ่งเต้น” เพื่อยึดครองตำแหน่งประธาน กมธ.กันอยู่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มมีความชุลมุน “แย่งชามข้าว” ภายในพรรคกันแล้ว เพราะจำนวน 19 เก้าอี้ประธาน กมธ.ที่ดูเหมือนมาก แต่ในความเป็นจริงนั้นคงไม่เพียงพอต่อจำนวน ส.ส.ที่มีมากถึง 265 คน เป็นแน่
โดยเฉพาะบรรดา “คนอกหัก” จากเก้าอี้รัฐมนตรี ที่จะเปลี่ยนเป้าหมายหันมาเมียงมองเก้าอี้ประธาน กมธ. เข้าสูตร “กำขี้ดีกว่ากำตด” จนบรรยากาศอาจจะเดือดกว่าการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยซ้ำ
แต่เรื่องเช่นนี้ กลับไม่เกิดกับ พรรคภูมิใจไทย ที่ค่อนข้างชัดเจนในส่วนของคนที่จะมาเป็นประธาน กมธ.ในโควต้าของพรรค ซึ่งก็หนีไม่พ้น 2 ผู้เฒ่าของพรรค อย่าง “ชัย ชิดชอบ - ชวรัตน์ ชาญวีรกูล”
โดย “ปู่ชัย” หลังจากพลาดจากตำแหน่งประธาน กมธ.กิจการสภาฯ ที่พรรคเพื่อไทยไม่ยอมปล่อยให้ ก็ยอมลดดีกรีจากที่เคยเป็ย “ประมุข” ฝ่ายนิติบัญญัติ มาจับจองเก้าอี้ประธาน กมธ.ปกครอง
ขณะที่ “ปู่จิ้น” ก็ไม่น้อยหน้า ที่เคยเป็นถึง “รักษาการนายกรัฐมนตรี” ก็มีแนวโน้มลดตัวมานั่งประธาน กมธ.สาธารณสุข
คาดว่าไม่เกินวันที่ 5 ต.ค.นี้ ก็จะได้เห็นหน้าค่าตา “ทั่นประธาน” ทั้ง 35 คน อย่างแน่นอน หรือไม่แน่ในสัปดาห์หน้า คงมีชื่อหลุดออกจนเกือบครบ
ความสำคัญ และบทบาทหน้าที่ของ กมธ.สภาที่ผ่านๆ มานั้น ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้เป็น “เกราะ” ป้องกันการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้ “ระบอบทักษิณ” นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี “เกราะ” ชนิดพิเศษ เพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในการปกป้องพิทักษ์ ในกรณีที่รัฐบาลพลาดพลั้ง ดำเนินนโยบายในทางสุ่มเสี่ยง รวมทั้งรักษาผลประโยชน์ของตัวเองในบางคราวด้วย
แต่สำหรับฝ่ายค้าน ถือเป็นเวทีการทำงานที่มีความสำคัญมาก ในวันที่ไม่มีอำนาจอยู่ในมือ แถมมีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมาย ดีกว่าการตั้ง “ครม.เงา” ที่ไร้ตัวตนเป็นไหนๆ
สำหรับประชาชนตาดำๆ ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นความหวังในการทำงานของ “ผู้แทนราษฎร” ที่จะปกปักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะงานของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น นอกจากการตรากฎหมายอันเป็นงานหลักแล้ว ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลคู่ขนานกันไป ผ่านกลไกของ กมธ.ต่างๆ ทั้ง 35 คณะอีกด้วย
หลายคนอาจมองว่ากมธ. เป็นเพียง “เสือกระดาษ” ไม่สามารถคาดหวังอะไรที่เป็นมรรคเป็นผลได้มากนัก รวมทั้งถูกมองว่าเป็นการตั้ง กมธ. “บังหน้า” เพื่อหาเรื่องไปดูงานต่างประเทศ หรือ ส.ส.บางคนที่นำตำแหน่ง กมธ.ไปใช้ข่มขู่ หาผลประโยชน์ตามแหล่งอบายมุข จนตกเป็นข่าวใหญ่ก็เคยมีให้เห็นมาก่อน
แต่ที่สลัดไม่หลุด คงเป็นบทบาท “องครักษ์” พิทักษ์นาย ตามถนัดของคนพรรคเพื่อไทย