ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ทันทีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเห็นชอบ “มาตรการบ้านหลังแรก” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอขออนุมัติ ครม. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา
เสียงก่นด่า..!! วิพากษ์ วิจารณ์ จากประชาชนและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ...ก็ดังสนั่น ทั่วบ้าน ทั่วเมือง เนื่องจากมาตรการที่ออกไม่เป็นดังที่คาดหวัง ของผู้ประชาชนที่รอคอยจะซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งการรอคอยครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 3ไตรมาส
ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 0% นาน 3 ปี -5 ปี และการนำรายจ่ายจากค่าซื้อบ้านมาหักลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา โดยมาตรการบ้านหลังแรกที่ ครม.อนุมัติออกมานั้น กำหนดให้ผู้ซื้อบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาทสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งในส่วนของเพดานราคาบ้าน ที่เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท และยอดเงินหักลดหย่อนภาษีที่เพิ่มจาก 300,000 บาทเป็น 500,000 บาท
การเพิ่มเพดานราคาบ้าน และยอดเงินหักลดหย่อนภาษีในมาตรการดังกล่าวที่ออกมา สร้างความผิดหวังแก่ผู้บริโภคอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ตั้งความหวังรอคอยมาตรการนี้ แต่ที่น่าผิดหวังมากที่สุดจากมาตรการนี้ คือ การไม่มีข้อกำหนดเรื่องการจัดสรรเงินกู้หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 0% นาน 5 ปีตามที่มีการหาเสียงไว้
เนื่องจากมาตรการที่ออกมาอนุมัติให้เฉพาะ การนำเงินรายจ่ายจากการซื้อบ้านไปหักลดหย่อนภาษี ซึ่งไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย ต่างจากมาตรการเงินกู้ % ที่ผู้บริโภคทุกระดับต่างได้ประโยชน์ถ้วนหน้า
ด้วยเหตุนี้เอง มาตรการที่ออกมาดังกล่าว จึงเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ และถูกก่นด่า..กันทั้งบ้าน ทั้งเมือง เนื่องจากถูกมองว่ามาตรการนี้ เลือกปฏิบัติ และให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ..หรือเรียกได้ว่า ยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งได้หักลดหย่อนภาษีได้มาก
จากข้อมูลฐานการจ่ายภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ของกรมสรรพกรพบว่ามีจำนวนผู้ต้องยื่นเสียภาษีในประเทศทั้งหมด 9 ล้านราย แต่มีผู้ที่จ่ายภาษีจริงอยู่ที่ 2.1 ล้านราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่มีรายได้หรือมีความสามารถในการกู้ซื้อบ้านในระดับราคา 5 ล้านบาทได้ตามเกณฑ์การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพียง 16,000 ราย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่มีรายได้ต่อปีในระดับ 4 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นกลุ่มที่ได้สิทธ์เต็มในการหักลดหย่อนภาษีจากการซื้อบ้านได้ถึง 37% ตามเงื่อนไขที่มาตรการกำหนด
ขณะที่ผู้มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องเริ่มจ่ายภาษีหรือมีรายได้ไม่เกิน150,000-500,000บาทต่อปี เป็นกลุ่มที่ซื้อบ้านระดับราคา 1 ล้านบาทนั้น จะหักลดหย่อนภาษีได้ปีละ10% ของยอดเงินซื้อบ้านหรือสามารถหักลดหย่อนได้2,000 บาทต่อปี ส่วนกลุ่มที่มีรายได้500,000 -1,000,000บาทต่อปี สามารถหักภาษีได้ 20% หรือประมาณ 20,000 บาทต่อปี กลุ่มที่มีรายได้1,000,000 -4,000,000 บาทต่อปีจะหักลดหย่อนได้30% หรือ30,000บาทต่อปี ส่วนผู้มีรายได้ 4,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป จะสามารถหักได้สูงสุด 37% หรือปีละ37,000บาทต่อปี
จากตัวเลขการหักลดหย่อยภาษีจากค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน ต่อฐานการจ่ายภาษีดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือมีรายได้เริ่มต้น 1- 150,000 บาทต่อปีนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์จากการซื้อบ้านหลังแรกเลย เนื่องจากได้รับการยกเว้นการเสียภาษีจากรัฐบาล ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจึงไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการมีบ้านของตนเองแม้แต่น้อย
ล่าสุด นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมายืนยันถึงการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. ว่าเมื่อรัฐบาลไม่ได้นำเรื่องการจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 0% เข้าร่วมไว้ในมาตรการบ้านหลังแรก ตามมติครม.ที่ออกมา ธอส. ก็ไม่มีหน้าที่หรือภาระที่จะต้องดำเนินการด้านสินชื่อ รวมทั้งการออกแคมเปญพิเศษ 0% แก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกเช่นก่อนหน้านี้
ส่วนในภาคของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นหากกล่าวถึงซับพลายที่อยู่อาศัย ระดับราคา1-5ล้านบาท ซึ่งประมาณการจากตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ จากการซื้อ-ขายในปี2553 พบว่ามีซับพลายที่มีการซื้อ-ขายในตลาดรวมทั่วประเทศทั้งสิ้น 146,300 ล้านบาท ขณะที่ส่วนซับพลายที่อยู่อาศัยเหลือขายในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ในปีนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 104,300 ล้านบาท
จากตัวเลขของที่อยู่อาศัยเหลือขายในปีนี้ ซึ่งมีอยู่สูงถึง 104,300 ล้านบาทเมื่อเทียบกับตัวเลขการซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยรวมในปีก่อนหน้าสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า ยอดเหลือขายของที่อยู่อาศัยในตลาดเฉพาะในพื้นที่กทม.และปริมณฑลมีจำนวนกว่า75% ของยอดขายปี2553 ซึ่งนั่นหมายความว่าการระบายออกของซับพลายในปี2554นี้หดตัวจากปีที่แล้วสูงมาก
ส่วนสาเหตุของการเหลือขายของซับพลายที่อยู่อาศัยในตลาดกทม.และปริมณฑล ในปีนี้จำนวนมากนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากผู้บริโภคมีการชะลอการตัดสินใจซื้อ และโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มบ้านระดับราคา 1-3 ล้านบาท เพื่อรอรับมาตรการจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีการนำมาตรการบ้านหลังแรก มาเป็นหนึ่งในนโยบายการหาเสียง
แต่จนแล้วจนรอด ... หลังจากรอมานานกว่า3ไตรมาส มาตรการบ้านหลังแรก ที่ล่าสุดคลอดออกมาแล้ว กลับเป็นที่น่าผิดหวังสำหรับการรอคอยของผู้บริโภคหรือเกิน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการซื้อบ้านของตนเอง ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มผู้ผิดหวังมากที่สุด เพราะมาตรการที่ออกมาไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนกลุ่มนี้เลย.